‘ประวิตร’ ลงพื้นที่ติดตามการฟื้นฟูคลองแสนแสบ

ผู้ว่าฯ กทม.มั่นใจคุณภาพน้ำดีขึ้นใน 6 เดือน

พล.ต.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผู้ช่วยโฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางลงพื้นที่ไปติดตามความคืบหน้าการพัฒนาฟื้นฟูคลองแสนแสบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

เนื่องจากพื้นที่กรุงเทพฯ มีแนวโน้มของชุมชนเมืองเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้คลองแสนแสบกลายเป็นแหล่งรับน้ำทิ้งจากบ้านเรือน ชุมชน และสถานประกอบการที่ตั้งอยู่ริมคลองแสนแสบ และคลองสาขา ทำให้คุณภาพน้ำมีค่าความสกปรกสูง ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณริมคลองแสนแสบ

ที่ผ่านมา กทม.ได้ร่วมมือกับหน่วยงานราชการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาน้ำเสียมาโดยตลอดตามแผนงานระยะเร่งด่วน ระยะปานกลาง และระยะยาว ได้แก่ ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทานกรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมเจ้าท่า กรมชลประทาน และกรมธนารักษ์ ทั้งการบังคับใช้กฎหมาย การให้ความรู้ การขุดลอกตะกอนดิน การเก็บขยะและวัชพืช การปรับปรุงภูมิทัศน์ การจัดระเบียบทางเดินริมฝั่งคลอง การก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย และการก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล. เป็นต้น

โดยคลองแสนแสบอยู่ในความดูแลของกรมธนารักษ์ มีความยาวตลอดสาย 72 กิโลเมตร เริ่มต้นจากคลองมหานาคไปสุดเขตกรุงเทพฯ เชื่อมกับคลองบางขวาก และไหลลงแม่น้ำบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา โดยในพื้นที่กรุงเทพฯ คลองแสนแสบมีความยาว 45.5 กิโลเมตร กว้าง 20-30 เมตร

ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร ได้มอบนโยบายสำคัญเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นรูปธรรมอย่างเร่งด่วน โดยกำชับให้กรมธนารักษ์เร่งส่งมอบการดูแลคลองแสนแสบให้แก่หน่วยงานที่รับผิดชอบ และกำชับ กทม. กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมเจ้าท่า ให้ร่วมกันฟื้นฟูคลองแสนแสบในระยะเร่งด่วน เพื่อลดผลกระทบแก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมคลองได้แก่ การขุดลอกดินเลน การควบคุมคุณภาพน้ำ การตรวจจับความเร็วเรือโดยสารขนาดเล็ก และการแก้ปัญหาการรุกล้ำริมคลอง รวมทั้งได้สั่งการให้กรมชลประทาน และ สนทช. เร่งบริหารจัดการน้ำ ตามแผนงาน/โครงการให้เกิดประสิทธิภาพ ตลอดแนวคลองแสนแสบ และคลองสาขา

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร ร่วมมือกับหน่วยงานราชการต่าง ๆ จัดทำแผนงานการพัฒนาฟื้นฟูคลองแสนแสบ โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย 1.ระยะเร่งด่วน เป้าหมายระยะ 6 เดือน (ก.ย. 63 – ก.พ. 64) เป็นโครงการที่ดำเนินการภายใต้ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูคลองแสนแสบในระยะเร่งด่วน อาศัยมาตรการความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องครอบคลุมภารกิจ 5 ด้าน ประกอบด้วย

  • ด้านที่ 1 การบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางน้ำ กิจกรรมประกอบด้วย การสำรวจแหล่งกำเนิดน้ำเสียที่ตั้งอยู่ริมคลองแสนแสบและคลองสาขา และการให้ความรู้แก่เจ้าของหรือผู้พักอาศัยในอาคารหรือสถานประกอบการริมคลองเกี่ยวกับการบำบัดน้ำเสียตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
  • ด้านที่ 2 การทำความสะอาดและจัดระเบียบพื้นที่ภายในคลอง กิจกรรมประกอบด้วย การขุดลอกตะกอนท้องคลองภายในคลองแสนแสบและคลองสาขา และการจัดเก็บขยะและวัชพืชในคลองเพื่อเปิดทางไหลของน้ำ
  • ด้านที่ 3 การทำความสะอาดและจัดระเบียบพื้นที่ริมฝั่งคลอง กิจกรรมประกอบด้วย การจัดเก็บขยะและที่พักขยะริมฝั่งคลอง การซ่อมแซมและทำความสะอาดสิ่งก่อสร้างพื้นที่ริมฝั่งคลอง และการจัดระเบียบทางเดินริมฝั่งคลอง อาทิเช่น จัดระเบียบทางเดินทางเท้าและราวกันตกริมเขื่อน ไม่ให้มีการตั้งวาง ตาก แขวนสิ่งของ รื้อย้ายสิ่งก่อสร้างที่รุกล้ำทางเดินริมเขื่อน/แนวเขตคลอง
  • ด้านที่ 4 การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและภูมิทัศน์พื้นที่ริมฝั่งคลอง กิจกรรมประกอบด้วย การพัฒนาสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและการใช้ประโยชน์พื้นที่ริมฝั่งคลอง การพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์/สร้างเอกลักษณ์พื้นที่ริมคลองในแต่ละจุดด้วยงานศิลปะ
  • ด้านที่ 5 การพัฒนาขยายผลพื้นที่ชุมชนริมฝั่งคลองต้นแบบ กิจกรรมประกอบด้วย การคัดเลือกคลองต้นแบบและจัดกิจกรรมส่งเสริมประชาสัมพันธ์พื้นที่ชุมชนริมฝั่งคลองต้นแบบ

สำหรับระยะกลาง เป้าหมายปี พ.ศ. 2563 – 2566 เป็นการดำเนินการขับเคลื่อนโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นโครงการที่กรุงเทพมหานครได้รับงบประมาณเรียบร้อยแล้วและอยู่ระหว่างดำเนินการ รวมทั้งสิ้น 6 โครงการ ประกอบด้วย การก่อสร้างระบบรวบรวมน้ำเสียเพิ่มติม จำนวน 3 โครงการ เพื่อรวบรวมน้ำเสียเข้าสู่โรงควบคุมคุณภาพน้ำของกรุงเทพมหานคร การก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียและระบบรวบรวมน้ำเสียขนาดใหญ่ จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ โรงบำบัดน้ำเสียคลองเตย โรงบำบัดน้ำเสียมีนบุรี ระยะ 1 และโรงบำบัดน้ำเสียมีนบุรี ระยะที่ 2

ส่วนระยะยาว เป้าหมายปี พ.ศ. 2563 – 2574 เป็นการดำเนินการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็ก (ค.ส.ล.) และระบบบำบัดน้ำเสียและระบบรวบรวมน้ำเสียขนาดใหญ่ ให้ครบคลุมพื้นที่คลองแสนแสบและคลองสาขา รวม 9 โครงการ ซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้รับงบประมาณในการดำเนินการ ประกอบด้วย 1. งานก่อสร้างเขื่อน คสล. จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล. พร้อมระบบรวบรวมน้ำเสียบริเวณประตูระบายน้ำมีนบุรีถึงประตูระบายน้ำหนองจอก และโครงการก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล. คลองแสนแสบจากบริเวณสะพานผ่านฟ้าถึงบริเวณประตูระบายน้ำคลองตัน 2. การก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียและระบบรวบรวมน้ำเสียขนาดใหญ่ จำนวน 7 โครงการ ได้แก่ โรงบำบัดน้ำเสียดอนมือง โรงบำบัดน้ำเสียบางเขน โรงบำบัดน้ำเสียบึงกุ่ม โรงบำบัดน้ำเสียลาดพร้าว โรงบำบัดน้ำเสียวังทองหลาง โรงบำบัดน้ำเสียสะพานสูง และโรงบำบัดน้ำเสียหนองจอก 1

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ก.ย. 63)

Tags: , , , , , , , , , ,
Back to Top