สปสช.แจงแนวทางดูแลผู้ถือบัตรทอง หลังยกเลิกสัญญา 64 รพ.-คลินิก

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระบุว่า จากกรณีสื่อสังคมออนไลน์วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการไปใช้บริการโรงพยาบาลหรือคลินิกหลายแห่งในพื้นที่ กทม.แต่พบป้ายประกาศว่ายกเลิกเป็นเครือข่ายบัตรทอง และเตรียมให้ผู้ป่วยไปรักษาตามสิทธิบัตรทองที่โรงพยาบาลอื่นนั้น ทาง สปสช.ชี้แจงว่าสิทธิบัตรทอง 8 แสนราย จาก 64 คลินิก-รพ. ที่เลิกสัญญา สามารถเข้ารักษาใกล้บ้านได้ทุกแห่ง

ทั้งนี้ สปสช.ได้เพิกถอนสัญญาเพิ่ม “คลินิก-โรงพยาบาล 64 แห่ง” ที่เบิกค่าบริการคัดกรองโรคกองทุนบัตรทองเกินจริง ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 18 ก.ย. 2563 เป็นต้นไป พร้อมแจงประชาชนผู้มีสิทธิที่ได้รับผลกระทบ 8 แสนราย ให้มั่นใจว่า สปสช.เตรียมแนวทางรองรับดูแลต่อเนื่อง มีข้อสงสัยสอบถาม 1330 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ก่อนหน้านี้จากการยกเลิกสัญญาการให้บริการคลินิกชุมชนอบอุ่น 18 แห่ง ที่พบการทำผิดสัญญาการให้บริการสาธารณสุขในระบบ เมื่อวันที่ 9 ก.ค.63 มีประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทองได้รับผลกระทบประมาณ 2 แสนราย โดย สปสช.ได้ดำเนินการอย่างรอบคอบเพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด

แต่เมื่อได้มีการขยายการตรวจสอบคลินิกเพิ่มเติมตามมติบอร์ด เมื่อวันที่ 29 ก.ค.พบว่า มี 66 คลินิกที่พบข้อหลักฐานสงสัยการเบิกจ่ายที่ไม่ถูกต้อง และเมื่อดำเนินการตรวจสอบแล้วคลินิก 64 แห่ง ที่พบการกระทำไม่ถูกต้อง ทำให้ต้องยกเลิกสัญญาหน่วยบริการเพิ่มเติม แม้ว่าจะทำให้ประชาชนผู้มีสิทธิประมาณ 8 แสนคนที่ขึ้นทะเบียนสิทธิในคลินิกเหล่านั้นได้รับผลกระทบก็ตาม เพราะหาก สปสช.ไม่ดำเนินการก็จะเป็นผลลบกับประชาชนโดยตรง จากการถูกสวมสิทธิการรับบริการทั้งที่ไม่ได้รับการคัดกรองเบาหวานความดัน กระทบต่อองค์กรที่จะไม่ได้ข้อมูลเพื่อวางแผนบริกาคจัดการ และกระทบต่องบประมาณที่เป็นภาษีของประชาชน

มาตรการที่เตรียมรองรับ สำนักงานฯ ได้ประสานไปยังหน่วยบริการในพื้นที่ กทม. ไว้แล้ว โดยให้ประชาชนผู้มีสิทธิที่ได้รับผลกระทบสามารถไปรับบริการที่หน่วยบริการใน กทม. ที่ร่วมเป็นหน่วยบริการบัตรทองใดก็ได้ ในระหว่างที่ สปสช. พยายามหากผู้ประกอบการคลินิกรายใหม่ทดแทน โดย สปสช. เขต 13 กทม. ได้เตรียมระบบรองรับ ซึ่งในส่วนของเวชระเบียนประชาชนสามารถขอได้ที่คลินิก หรือที่ศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ กทม.

สำหรับภาพรวมการตรวจสอบคลินิกเอกชนที่พบปัญหาหลักฐานเท็จเบิกจ่าย เริ่มแรก สปสช. ได้ตรวจสอบคลินิก 45 แห่ง พบคลินิกเบิกค่าบริการเกินจริง 18 แห่ง คลินิกทันตกรรม 2 แห่ง และคลินิกแล็บ (ไม่ได้อยู่ในระบบบัตรทอง) 2 แห่ง ต่อมาได้ขยายผลตรวจสอบเพิ่มเติมคลินิก 86 แห่ง พบคลินิกเบิกจ่ายค่าบริการเกินจริง 66 แห่ง มีพฤติการณ์เหมือนคลินิก 18 แห่ง แต่จำนวนการเบิกจ่ายน้อยกว่า ในจำนวนนี้เป็นคลินิกเอกชน 53 แห่ง ทันตกรรม 3 แห่ง และโรงพยาบาล 10 แห่ง และขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบอีก 107 แห่ง

ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนผู้มีสิทธิ มีกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องประสานอย่างเร่งด่วนใน 4 กลุ่ม คือ

  • กลุ่ม 1 ผู้ป่วยที่เข้ารับบริการในคลินิกชุมชนอบอุ่น และผู้ป่วยที่รับบริการในโรงพยาบาลส่งต่อ ซึ่งในจำนวนนี้มีส่วนหนึ่งมีคิวรอผ่าตัดล่วงหน้า โดย สปสช. เขต 13 กทม. ได้ขอรายชื่อและประสานส่งต่อโรงพยาบาลในระบบเพื่อให้การรักษาต่อเนื่องแล้ว
  • กลุ่ม 2 เป็นกลุ่มที่ยังรักษาตัวเป็นคนไข้ในโรงพยาบาล
  • กลุ่มที่ 3 หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 32 เดือน ใกล้คลอดแล้ว
  • กลุ่มที่ 4 คนไข้ฟอกไตต่อเนื่อง ซึ่งทั้งหมด สปสช.ได้เร่งดำเนินการและประสานหน่วยบริการรองรับแล้ว

นอกจากนี้ ในส่วนของผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาทิ เบาหวาน ความดัน เป็นต้น สปสช. เขต 13 กทม. อยู่ระหว่างการประสานหาหน่วยบริการใหม่ให้เช่นกัน รวมถึงประชาชนผู้มีสิทธิที่ขึ้นทะเบียนยังหน่วยบริการดังกล่าว สำหรับกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินรวมถึงอุบัติเหตุ ประชาชนยังสามารถใช้สิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต หรือ UCEP ได้

อย่างไรก็ตาม ด้วยจำนวนผู้ป่วยที่มีมาก อาจมีบางส่วนอาจยังไม่ได้รับการติดต่อและประสานเพื่อแก้ไขปัญหา ขอให้ติดต่อมาที่สายด่วน สปสช. 1330 ได้ ซึ่งขณะนี้ สปสช. ได้เตรียมคู่สายรองรับ 60 คู่สายแล้ว แต่ด้วยจำนวนประชาชนขณะนี้ที่โทรเข้ามามาก ทำให้อาจยังติดต่อไม่ได้ ซึ่ง สปสช. ยังมีช่องทางติดต่ออื่น โดยสามารถส่งข้อความผ่าน Facebook สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือผ่านทางไลน์ โดย สปสช. ได้เปิดไลน์ใหม่เฉพาะ ID LINE : 1330_2 ขอให้ส่งข้อมูล ชื่อ เลขที่บัตรประชาชน ปัญหาที่ได้รับผลกระทบ และเบอร์ติดต่อกลับ โดยทางเจ้าหน้าที่ 1330 จะโทรกลับไปเพื่อประสานในการแก้ไขปัญหาโดยเร็วต่อไป

“การยกเลิกสัญญากับคลินิกที่กระทำผิดสัญญาในครั้งนี้ ยอมรับว่าทำให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง โดย สปสช. ได้พยายามเร่งแก้ไขปัญหาแล้ว แต่ต้องย้ำว่าไม่ใช้คลินิกเอกชนทุกแห่งที่ให้บริการบัตรทองทุจริต ยังมีคลินิกดีๆ ที่ให้บริการที่ดีและยังคงให้บริการดูแลผู้มีสิทธิบัตรทองอยู่”

รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว

สำหรับแนวทางบรรเทาผลกระทบประชาชนในการเข้ารับบริการสาธารณสุขกรณี 64 หน่วยบริการถูกยกเลิกสัญญา มีดังนี้

  1. กรณีเจ็บป่วยทั่วไปหรือมีแผนการรักษาพยาบาลกับหน่วยบริการทั้ง 64 แห่ง ประชาชนกลุ่มดังกล่าวสามารถเข้ารับบริการรักษาพยาบาลต่อเนื่องได้ที่หน่วยบริการภาครัฐและเอกชน ได้แก่ โรงพยาบาลของรัฐ โรงพยาบาลเอกชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และศูนย์บริการสาธารณสุขใกล้บ้าน ได้โดยไม่ต้องใช้หนังสือส่งตัว
  2. สำหรับกรณีผู้ป่วยที่มีหนังสือส่งตัวเดิมเพื่อไปรักษาที่โรงพยาบาลรับส่งต่อ สามารถเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลรับส่งต่อเดิมได้โดยไม่ต้องใช้หนังสือส่งตัว แต่หากโรงพยาบาลรับส่งต่อเดิมนั้นถูกยกเลิกสัญญาด้วย ก็สามารถเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลของรัฐใกล้บ้านได้โดยไม่ต้องใช้หนังสือส่งตัว
  3. กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน ประชาชนสามารถเข้ารับบริการรักษาพยาบาลได้ที่หน่วยบริการภาครัฐและและเอกชน ได้แก่ โรงพยาบาลของรัฐ ศูนย์บริการสาธารณสุข โรงพยาบาลเอกชนที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือหากเป็นภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติเข้าเกณฑ์เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิทุกที่ หรือ UCEP (Universal Coverage for Emergency Patients) ก็สามารถเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลเอกชนใกล้บ้านได้
  4. กรณีผู้ป่วยที่ยังนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล ที่ถูกประกาศยกเลิกสัญญา แต่ยังไม่สิ้นสุดแผนการรักษา ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะใช้สิทธินอนรักษาต่อเนื่องได้จนอาการดีขึ้น แพทย์พิจารณาแล้วอนุญาตให้กลับบ้านได้ โดยโรงพยาบาลยังเบิกค่าใช้จ่ายกรณีผู้ป่วยกลุ่มนี้มายัง สปสช.ได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด จึงขอความร่วมมือโรงพยาบาลช่วยดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ตามมาตรฐานการให้บริการสาธารณสุข
  5. ในส่วนของผู้ป่วยที่มีนัดผ่าตัดหรือแอดมิทเป็นผู้ป่วยในตั้งแต่วันที่ 18 ก.ย. 2563 กับโรงพยาบาลที่ถูกบอกยกเลิกจำนวน 7 แห่ง ยังสามารถแจ้งชื่อ วันนัดผ่าตัด และเบอร์โทรศัพท์ มาที่สายด่วน สปสช. 1330 ซึ่งเจ้าหน้าที่จะประสานหน่วยบริการให้ได้รับการรักษาและได้รับผลกระทบน้อยที่สุด หรือหากมีข้อสงสัยก็สามารถสอบถามทางสายด่วน 1330 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ก.ย. 63)

Tags: , , , , ,
Back to Top