สธ.เตือนช่วงฤดูฝนระวังไข้มาลาเรีย หลังปีนี้พบผู้ป่วยแล้วกว่า 3 พันราย

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคไข้มาลาเรีย ปี 2563 (1 ม.ค.–17 ก.ย.) พบผู้ป่วยในพื้นที่ 51 จังหวัด จำนวน 3,415 ราย เสียชีวิต 1 ราย จังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุด ได้แก่ ยะลา 1,070 ราย รองลงมาคือตาก 851 ราย และกาญจนบุรี 425 ราย ตามลำดับ ส่วนใหญ่เป็นคนไทย 2,479 ราย คิดเป็นสัดส่วน 73% และต่างชาติ 936 ราย คิดเป็นสัดส่วน 27% ส่วนกลุ่มอายุที่พบมากที่สุด ได้แก่ อายุ 25-44 ปี รองลงมาคือ 5-14 ปี อายุ 45 ปีขึ้นไป และอายุ 15-24 ปี ตามลำดับ ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มเกษตรกร , เด็ก/นักเรียน และรับจ้าง ตามลำดับ

แม้ว่าปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยโรคไข้มาลาเรียจะลดลงมาก แต่ประเทศไทยยังมีโรคไข้มาลาเรียอยู่ โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าเขา น้ำตก โดยคาดว่าจะยังพบผู้ป่วยโรคไข้มาลาเรียเพิ่มขึ้นได้ในช่วงนี้ เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในช่วงฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงที่เหมาะสมต่อการเจริญพันธุ์ของยุงซึ่งเป็นพาหะนำโรคนี้ โรคไข้มาลาเรีย หรือมีชื่อเรียกได้อีกว่า ไข้จับสั่น ไข้ป่า ไข้ดง ไข้ร้อนเย็น ไข้ดอกสัก ไข้ป้าง โรคไข้มาลาเรีย มียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค ซึ่งเป็นยุงที่ออกหากินเวลากลางคืน สาเหตุหลักคือถูกยุงก้นปล่องที่มีเชื้อกัด ส่วนสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจพบได้ เช่น จากแม่ที่ป่วยเป็นไข้มาลาเรียสู่ลูกในครรภ์ การถ่ายโลหิต เป็นต้น

เมื่อยุงก้นปล่องตัวเมียกัดผู้ป่วยที่มีเชื้อไข้มาลาเรีย เชื้อจะอยู่ในตัวยุงประมาณ 10–12 วัน เมื่อยุงนั้นไปกัดคนอื่นต่อก็จะปล่อยเชื้อไข้มาลาเรียเข้าสู่คน จึงทำให้คนที่ถูกยุงกัดเป็นไข้มาลาเรียต่อ โดยทั่วไปอาการเริ่มแรกของไข้มาลาเรียจะเกิดขึ้นหลังจากถูกยุงก้นปล่องที่มีเชื้อกัดประมาณ 10-14 วัน โดยจะจับไข้ไม่เป็นเวลา ไข้ต่ำ ๆ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัวและกล้ามเนื้อ ตาเหลือง ตับหรือม้ามโต อาจมีอาการคลื่นไส้และเบื่ออาหารได้ หลังจากนั้นจะจับไข้เป็นเวลา มีอาการหนาว ๆ ร้อน ๆ เหงื่อออก ผู้ป่วยจะอ่อนเพลียและเหนื่อย

หากมีอาการป่วยดังกล่าวภายหลังมีประวัติเคยเข้าไปในป่าหรืออาศัยอยู่ในป่าในช่วงเวลา 2 สัปดาห์ถึง 2 เดือนก่อนเริ่มป่วย ให้รีบนำไปพบแพทย์ และให้ประวัติการเดินทางเข้าป่าหรือพักอาศัยในป่า

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ขอเตือนประชาชนว่าควรป้องกันตนเองไม่ให้โดนยุงกัดโดยสวมใส่เสื้อผ้าปกคลุมแขนขาให้มิดชิด ใช้ยาทากันยุงหรือจุดยากันยุง นอนในมุ้งชุบน้ำยาทุกคืนใช้มุ้งชุบน้ำยาคลุมเปลเวลาต้องไปค้างคืนในไร่นาป่าเขา

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ก.ย. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top