SK ผ่า IPO ไซส์เล็กยกชั้นสู่”รุ่นใหญ่”ลุยเมกะโปรเจ็คต์สายส่งไฟฟ้า

เกาะติดกับกระแสหุ้นน้องใหม่โค้งสุดท้ายของปี 63 หนึ่งในนั้น บมจ.ศิรกร ภายใต้ชื่อย่อ “SK” ล่าสุดเพิ่งกำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญให้แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ที่ 0.80 บาท/หุ้น ภายใต้มูลค่าของปัจจัยพื้นฐานธุรกิจที่เติบโตไปพร้อมกับความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศไทย

โดยเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 115.35 ล้านหุ้น พาร์ 0.50 บาท คิดเป็น 25.08% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ คาดว่าจะเสนอขายหุ้นพร้อมเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในเดือนตุลาคมนี้

เคาะ IPO 0.80 บ./หุ้น ชูส่วนลด P/E ดึงดูดนักลงทุน

นายเอกจักร บัวหภักดี กรรมการผู้จัดการสายงานวาณิชธนกิจ บริษัท แคปปิตอล วัน พาร์ทเนอร์ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน ในการนำหุ้น SK เข้าจดทะเบียนในตลาด mai กล่าวกับ”อินโฟเควสท์”ว่า ราคา IPO ที่ 0.80 บาท/หุ้นมี P/E อยู่ที่ 8 เท่า ใช้สมมติฐานกำไรต่อหุ้น (EPS) ที่ 0.10 บาท/หุ้น อิงตามภาพรวมผลประกอบการย้อนหลัง 4 ไตรมาสมีส่วนลดเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย P/E กลุ่มวัสดุก่อสร้างอยู่ที่ 15.67 เท่า

ทั้งนี้ บริษัท แคปปิตอล วัน พาร์ทเนอร์ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงินและร่วมเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายสำหรับการเสนอขายหุ้น IPO ของ SK ร่วมกับ บล.คันทรี่ กรุ๊ป และมีอีก 4 บริษัทหลักทรัพย์ ประกอบด้วย บล.ฟินันเซีย ไซรัส ,บล.โนมูระ พัฒนสิน ,บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) ,บล.เคทีบี (ประเทศไทย)

“ถ้าเราเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯปีที่แล้วราคาไอพีโอคงแพงกว่านี้ เพราะราคา 0.80 บาท/หุ้นได้นำผลกระทบจากโควิด-19 ในไตรมาส 1/63 เข้ามารวมด้วย แต่ผลกระทบเป็นแค่ระยะสั้นๆเพราะไตรมาส 2/63 บริษัทรับรู้รายได้ชดเชยจากที่เลื่อนรับรู้ไปในไตรมาส1/63 ทำให้ภาพรวมผลประกอบการตั้งแต่ไตรมาส 2/63 เป็นต้นมากลับมาสู่ภาวะปกติ เป็นโอกาสของผู้ลงทุนที่มีความสนใจหุ้นไอพีโอในราคาที่ดีและมีพื้นฐานที่มั่นคง”

นายเอกจักร กล่าว

ส่อง 3 ธุรกิจเกาะกระแสดีมานด์ใช้ไฟฟ้าในไทย

นายภากร ตั้งนุกูลกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายงานขายและการตลาด SK กล่าวว่า ด้วยประสบการณ์ยาวนานกว่า 30 ปีในธุรกิจธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์คอนกรีตอัดแรงและให้บริการรับเหมาก่อสร้างสายส่งและสายจำหน่ายไฟฟ้าและงานรับเหมาก่อสร้างโยธา โดยมีโรงงานผลิตและจัดจำหน่ายคอนกรีตอัดแรง 6 แห่ง อาทิ กาฬสินธุ์ ชลบุรี ชัยนาท ลำปาง สุราษฎร์ธานี และสงขลา ถือเป็นจุดแข็งที่ได้เปรียบ เพราะแสดงให้เห็นเห็นถึงศักยภาพในการผลิตและจัดจำหน่ายที่ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ

“เชื่อว่ากรณีที่ทั้ง 3 การไฟฟ้าเลือกใช้สินค้าและบริการของบริษัทเพราะมองเห็นถึงคุณภาพการผลิตเสาไฟฟ้าและความได้เปรียบด้านต้นทุนการขนส่งจากการมี 6 โรงผลิตครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศไทยที่ปัจจุบันมีโรงงานที่ผลิตเสาไฟฟ้าเพียงแค่ 40 โรงเท่านั้น และด้วยการผลิตเสาไฟฟ้าที่ต้องเน้นคุณภาพสูงทำให้ผู้เล่นรายใหม่ที่จะเข้ามาเจาะตลาดจึงทำได้ค่อนข้างยาก

ส่วนการเติบโตของอุตสาหกรรมสายส่งไฟฟ้านั้นจะเพิ่มขึ้นตามความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศสอดคล้องกับแผนพัฒนากาลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 (PDP) ซึ่งเสาไฟฟ้าที่เป็นสินค้าและบริการของบริษัทเป็นส่วนหนึ่งในระบบที่มีแนวโน้มเติบโตระยะยาว”นายภากร กล่าว

ระดมทุน mai ข้ามเป้าสู่ “รุ่นใหญ่” ลุยเมกะโปรเจ็คต์สายส่งไฟฟ้า

บริษัทมีแผนนำเงินจากการะดมทุนไปขยายธุรกิจรับเหมาก่อสร้างตามแผนยุทธศาสตร์ชาติในการพัฒนาประเทศ โดยมีแผนจะเข้าประมูลงานรับเหมาก่อสร้างสายส่งและสายจำหน่ายไฟฟ้าและงานรับเหมาก่อสร้างโยธาทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชนเพิ่มขึ้นหลังจากโครงการ Consortium งานสายส่งไฟฟ้าขนาด 230 KV ปัจจุบันเสร็จสิ้น บริษัทจะสามารถรับงานโครงการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าขนาด 230 KV ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ด้วยตนเอง

ทั้งนี้ ปริมาณโครงการใหม่ๆของ 3 หน่วยงาน คือ กฟผ., การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) แต่ละปีจะมีมูลค่าอย่างน้อย 5 หมื่นล้านบาท แม้ว่าปัจจุบันบริษัทจะมีความสามารถเข้าประมูลรับงานก่อสร้างสายส่งและสายจำหน่ายไฟฟ้าสูงสุดขนาด 115 KV แต่ด้วยงานก่อสร้างระบบสายส่งไฟฟ้าขนาด 230 KV ที่ร่วมกับพันธมิตรกลุ่มญี่ปุ่นคือบริษัท คินเด้น คอร์ปอเรชั่น จำกัด คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ ส่งผลให้ในปี 64 บริษัทจะสามารถเข้าประมูลงานรับเหมาระบบสายส่งไฟฟ้าขนาด 230 KV ได้ด้วยตัวเอง และตามแผนอีก 2-3 ปีข้างหน้าก็จะเข้าประมูงานที่มีขนาดใหญ่ขึ้นคือโครงการก่อสร้างระบบสายส่งไฟฟ้าขนาด 500 KV เป็นส่วนผลักดันภาพรวมผลประกอบการบริษัทเติบโตได้ในปีถัดๆไป

“สำหรับมูลค่าโครงการสายส่งไฟฟ้าขนาด 115 KV จะอยู่ราวๆกว่า 100 ล้านบาท และเพิ่มขนาดมูลค่าโครงการมาเป็น 230 KV มีมูลค่ามากกว่า 300 ล้านบาท ที่เราร่วมกับพันธมิตรจะก่อสร้างเสร็จในสิ้นปีนี้เพื่อเป็นการนำผลงานเข้าไปเสนอประมูลงานด้วยตัวเองตามแผนปีหน้า และภายในอีก 2-3 ปีข้างหน้าบริษัทตั้งเป้าเข้าประมูลโครงการสายส่งที่มีขนาด 500 KV ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 1 พันล้านบาทเลย”

นายภากร กล่าว

ลุยคว้างานใหม่ 300 ลบ.วางรายได้โตเฉลี่ย 15-20% ต่อปี

นายภากร กล่าวเพิ่มว่า ภาพรวมผลประกอบการปีนี้ยอมรับว่าในไตรมาส 1/63 ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ห้ามเดินทางข้ามจังหวัด ทำให้บริษัทต้องเลื่อนการส่งมอบสินค้ามาในไตรมาส 2 และไตรมาส 3 แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นแค่ระยะสั้นเท่านั้น สะท้อนจากแนวโน้มครึ่งปีหลังจะรับรู้รายได้จากการส่งมอบงานเสาไฟฟ้าตามกำหนดเดิมทั้งหมด

ส่วนธุรกิจรับเหมาก่อสร้างงานรับเหมาวางระบบสายส่งไฟฟ้า ปัจจุบันรอส่งมอบอีกกว่า 10 โครงการ คิดเป็นมูลค่างานในมือ (Backlog) อีกกว่า 157.22 ล้านบาท คาดว่าจะทยอยรับรู้เกือบทั้งหมดภายในปีนี้

ทั้งนี้ แผนเข้าประมูลงานใหม่บริษัทตั้งเป้าได้รับงานเข้ามาเพิ่มอีกมูลค่ากว่า 300 ล้านบาทเป็นงานประเภทวางระบบสายส่งไฟฟ้าเหนือดินและใต้ดินของ กฟภ.และ กฟน. เพื่อเข้ามาเสริมความมั่นคงของการเติบโตรายได้ปีต่อไป

อย่างไรก็ตาม บริษัทวางเป้าหมายรตะยะยาว 3-5 ปีข้างหน้าแนวโน้มรายได้จะเติบโตเฉลี่ย 15-20% แบ่งเป็นการับรู้รายได้ประเภทงานรับเหมาก่อสร้างโครงการสายส่งไฟฟ้าที่ตามแผนปี 64 จะเข้าประมูลรับงานขนาด 230 kv ที่มีมูลค่า 300 ล้านบาทขึ้นไป และอีก 2 ปีข้างหน้ารับงานขนาด 500 kv ที่มีมูลค่า 1 พันล้านบาทขึ้นไป รวมไปถึงการเข้ารับงานก่อสร้างโครงการสถานีไฟฟ้า (Substation) ที่มีมูลค่าอย่างน้อย 300 ล้านบาท

“ความโดดเด่นของบริษัทคือการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นในอัตราสูงเพราะแม้ว่านโยบายการจ่ายเงินปันผลเป็นสัดส่วน 50% ของกำไรสุทธิหลังจากหักภาษี สำรองตามกฎหมาย และสำรองต่างๆทั้งหมด แต่จากสถิติในอดีตบริษัทจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นมาตลอดและมากกว่าเกณฑ์นโยบายกำหนด อย่างไรก็ตามภายหลังจากได้รับเงินระดมทุนไปแล้วมีโอกาสรับงานขนาดใหญ่ช่วยสร้างการเติบโตในอนาคตได้อีกมาก”

นายภากร กล่าว

นายภากร กล่าวต่อว่า ปัจจุบันโครงสร้างศักยภาพทำกำไรแต่ละธุรกิจ ประกอบด้วย ธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายคอนกรีตอัดแรงเสาไฟฟ้าที่มีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 20-25% คิดเป็นสัดส่วน 60-70% ของรายได้รวม โดยกำไรที่ได้รับจากธุรกิจดังกล่าวปัจจุบันสามารถชดเชยกับค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหาร (SG&A) ของบริษัทได้ทั้งหมด

ขณะที่ธุรกิจงานรับเหมาก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าและงานโยธาที่มีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 15% กำไรของ 2 ธุรกิจดังกล่าวจะเป็นตัวแปรชี้วัดผลกำไรของบริษัทได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้ปัจจุบันอัตรากำไรสุทธิบริษัทเฉลี่ยอยู่ที่ 5-8% เชื่อว่าในอนาคตหากรายได้บริษัทเพิ่มมากขึ้นควบคู่ไปกับแผนลดต้นทุนด้านต่างๆ ก็จะช่วยเพิ่มศักยภาพทำกำไรได้อย่างแน่นอน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ก.ย. 63)

Tags: , , , , , , , , , , , ,
Back to Top