เชียร์ซื้อ TU คลายกังวล “เรดล็อบเตอร์” ลุ้นงบ Q3 รับไฮซีซั่น-อัพไซด์เด่น

โบรกเกอร์ แนะ”ซื้อ”หุ้น บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) คลายกังวลผลขาดทุนเรดล็อบเตอร์หลังปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ผลักดัน TU ขึ้นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ พร้อมดึงผู้เชี่ยวชาญธุรกิจร้านอาหารร่วมลงทุน หวังกลับมาพลิกเติบโตและมีกำไรอีกครั้งจากเผชิญผลกระทบโควิด-19 ยันไม่ต้องตั้งสำรองด้อยค่าสินทรัพย์ ตุนกระแสเงินสดเพียงพอชำระหนี้งวดถัดไป

นอกจากนั้น ยังเชื่อมั่นผลงานQ3/63 เป็นไฮซีซั่นเริ่มฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง ก่อนกลับมาเติบโตโดดเด่นอีกครั้งในปี 64 ชูอัพไซด์เด่นมูลค่าหุ้นยังแกว่งตัวในโซนน่าซื้อลงทุนแถมรับเงินปันผลเกิน 4%

ราคาหุ้น TU บ่ายวันนี้อยู่ที่ 14.10 บาท ไม่เปลี่ยนแปลงจากวานนี้ ขณะที่ SET -0.79%

โบรกเกอร์คำแนะนำราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น)
กรุงไทย ซีมิโก้ซื้อ17.50
คันทรี่ กรุ๊ปซื้อ17.10
ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบีซื้อ16.10
ดีบีเอสวิคเคอร์สซื้อ17.10
ฟิลลิปซื้อ18.00
บัวหลวงซื้อ19.70
ยูโอบี เคย์เฮียนฯซื้อ17.50
เอเซีย พลัสซื้อ17.00
โนมูระ พัฒนสินซื้อเก็งกำไร15.50

นางสาวนารี อภิเศวตกานต์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า มีมุมมองเชิงบวกกับหุ้น TU แม้ว่า “เรดล็อบสเตอร์” ที่เป็นธุรกิจร้านอาหารอาจได้รับผลกระทบระยะสั้นจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและการแข่งขันเพิ่มขึ้น แต่จากการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ “เรดล็อบสเตอร์” จากกลุ่มเดิม “Golden Gate” ได้จำหน่ายหุ้นในสัดส่วน 51% ออกมาให้กับกลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่ คือ Seafood Alliance 36% ประกอบด้วย (นาย Paul Kenny อดีตผู้บริหารของ MINT และนายฤทธิ์ ธีระโมเมน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร M) และให้กับกลุ่มผู้บริหารของ RL ในสัดส่วน 15% เพื่อเป็นแรงจูงใจในการบริหารงาน ซึ่งหลังปรับโครงสร้างใหม่แล้ว TU จะกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 49% ส่งผลให้ฝ่ายวิจัยฯมีมุมมองบวกเชิงบวกต่อประเด็นดังกล่าวเพราะเชื่อว่าจะทำให้การบริหารจัดการทำได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนั้น ฝ่ายวิจัยฯ ยังลดความกังวลประเด็นการตั้งด้อยค่าเงินลงทุนและหันมาให้ความสนใจต่อการดำเนินงานจริงจังอีกครั้ง เนื่องจากบริษัทส่งสัญญาณว่ายังไม่มีความจำเป็นในการตั้งด้อยค่าเงินลงทุนหลังจากในปี 62 บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ราว 120 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีมูลค่าตามบัญชีอยู่ที่ราว 180-190 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ยังไม่ต้องตั้งด้อยค่าอย่างที่ตลาดกังวล

ปัจจุบัน “เรดล็อบสเตอร์” มีจำนวนสาขามากกว่า 600 สาขาในสหรัฐฯและแคนาดา แม้ว่าช่วงเกิดระบาดโควิด-19 จำเป็นต้องให้บริการแบบ Social distance และขาย Delivery แต่ทางบริษัทปรับกลยุทธ์กระตุ้นยอดขายด้วยการออกเมนูใหม่และทำสื่อการขายในรูปแบบ Digital มากขึ้นเพื่อลดค่าใช้จ่าย

ขณะที่ความกังวลการชำระหนี้ของ “เรดล็อบสเตอร์” บริษัทยืนยันว่าสามารถบริหารจัดการได้เช่นกันตามแผนการชำระหนี้ 285 ล้านเหรียญสหรัฐฯที่จะครบกำหนด ก.ค.64 และได้ดำเนินการ Refinance ไปแล้วในช่วงก่อนหน้านี้ในวงเงิน 65 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

“ราคาหุ้น TU วันนี้มีอัพไซด์เมื่อเทียบกับมูลค่าพื้นฐานที่ฝ่ายวิจัยฯประเมินไว้ที่ 18 บาท แม้ว่าก่อนหน้านี้จะกังวลผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเรดล็อบสเตอร์ แต่จากการยืนยันข้อมูลของบริษัทเริ่มผ่อนคลายความกังวลในส่วนนี้ และไปโฟกัสกับแนวโน้มผลประกอบการครึ่งปีหลังมากขึ้น และเชื่อมั่นว่าปี 64 ผลประกอบการ TU จะพลิกกลับมาเติบโตได้ดีและกลับสู่ภาวะปกติอีกครั้งหลังประสบปัญหามาหลายปีติดต่อกัน ส่งผลให้ฝ่ายวิจัยฯปรับกำไรสุทธิปี 64 เพิ่มเป็น 5,919 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 13% จากปีนี้”

นางสาวนารี กล่าว

ขณะที่นักวิเคราะห์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุว่า มีมุมมองบวกกับ TU ตามแนวโน้มการฟื้นตัวผลประกอบการในครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะไตรมาส 3/63 เป็นไฮซีซั่นของธุรกิจ ขณะที่ปัจจัยกดดันจาก”เรดล็อบสเตอร์”น่าจะมีแนวโน้มขาดทุนลดลงหลังปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ได้ผู้มีประสบการณ์ตรงในธุรกิจร้านอาหารเข้ามาบริหารงาน

ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัฯประเมินกำไรปกติปี 63 เติบโต 9% YoY และเติบโต 10% YoY ตามลำดับ ขณะที่ด้านมูลค่าหุ้น (Valuation) มีความน่าสนใจแกว่งตัวในโซนที่ไม่แพงสามารถกลับมายืนเหนือแนวต้าน 14 บาทได้อีกครั้ง ทางเทคนิคเป็นสัญญาณเชิงบวกและมีผลตอบแทนรูปเงินปันผลสูง Dividend Yield ราว 4.3%

ขณะที่บทวิจัยฯ บล.บัวหลวง เผยว่า ประเมินมูลค่าพื้นฐานหุ้น TU อยู่ที่ 19.70 บาท หลังจากทราบข้อมูลจากผู้บริหารเรื่องการเข้าถือหุ้นเพิ่มเติมใน “เรดล็อบสเตอร์” ออกมาเชิงบวก เนื่องจากมีความพยายามที่จะพลิกผลประกอบการกลับมาเป็นกำไรชัดเจน โดยมาจากทั้งกลยุทธ์การขยายสาขาไปในตลาดภูมิภาคเอเชีย, ขยายการขายรูปแบบนอกร้าน, เพิ่ม Innovation ในตัวเมนูใหม่, และการขยายกลุ่มลูกค้าที่อายุน้อยลง

ขณะเดียวกันบริษัทได้ตั้งเป้า EBITDA ของ “เรดล็อบสเตอร์” ไว้ที่ 150 ล้านเหรียญสหรัฐฯช่วงการดำเนินธุรกิจระยะปานกลางเทียบกับ EBITDA ปี62 ก่อนเผชิญกับการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่เฉลี่ย 129 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยล่าสุดยอดขายส่งสัญญาณดีขึ้นกลับมาติดลบน้อยลงอยู่ที่ติดลบ 35% YoY เทียบกับช่วงต่ำสุดที่ติดลบถึง 88% YoY และยอดจำนวนผู้ใช้เริ่มกลับมา

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (2 ต.ค. 63)

Tags: , , , , ,
Back to Top