ธปท.ชี้เศรษฐกิจไทยเจอความเสี่ยงใหญ่ ต้องลดดอกเบี้ยเพื่อ take action

  • ผู้ว่าธปท. ชี้กันชนในระบบเศรษฐกิจไทยน้อยลง และเจอความเสี่ยง 3 ด้านใหญ่ ได้แก่ การระบาดของไวรัสโคโรนา งบประมาณปี 63 ล่าช้า และภัยแล้ง
  • ผู้ว่าธปท. ระบุการลดดอกเบี้ยเป็นการ take action ที่รวดเร็วดีกว่าปล่อยให้สถานการณ์ต่างๆ แย่ลงไปมากกว่านี้
  • ผู้ว่าธปท. มั่นใจหากสถานการณ์ในอนาคตยังไม่ดีขึ้น ธปท.พร้อมนำ policy space ที่มีอยู่ออกมาใช้
  • ผู้ว่าธปท. เผยตั้งแต่ต้นปีเงินบาทกลับมาอ่อนค่าสุดในภูมิภาค แต่ยังไม่สอดคล้องปัจจัยพื้นฐานของระบบศก.ไทยที่ยังอ่อนไหว

ผู้ว่าธปท.ชี้กันชนในระบบเศรษฐกิจน้อยลงและเจอ 3 ความเสี่ยงใหญ่ ระบุลดดบ.เป็นการ take action ดีกว่าปล่อยให้สถานการณ์แย่ลง

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วานนี้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เนื่องจากเห็นว่าขณะนี้มีสถานการณ์ที่เป็นความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจไทยใน 3 ประเด็นที่สำคัญ คือ

1. การระบาดของไวรัสโคโรนา ยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แต่ขณะเดียวกันได้เกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวค่อนข้างรุนแรง และยังไม่มีความชัดเจนว่าจะใช้เวลานานเพียงใดกว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หรือจะเกิดผลกระทบกับอุตสาหกรรมอื่นอีกด้วยหรือไม่

2. ความล่าช้าของ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จากเดิมหวังว่าจะเป็นแรงส่งที่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทยในปีนี้ แต่เมื่อการบังคับใช้ พ.ร.บ.งบประมาณปี 63 ต้องล่าช้าออกไป จึงส่งผลกระทบต่อการเบิกจ่ายของภาครัฐ โดยเฉพาะงบลงทุน รวมทั้งกระทบไปถึงเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคด้วย

3. ปัญหาภัยแล้ง ยังมีความไม่แน่นอนสูง แม้ว่าภาคเกษตรจะมีสัดส่วนในผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP) ของประเทศไม่สูงนัก แต่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ในภาคเกษตรกรรม เมื่อได้รับผลกระทบจากภัยแล้งก็จะนำไปสู่ความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยและการบริโภคในประเทศ

“กันชนในระบบเศรษฐกิจไทยมันบางลงเรื่อยๆ ในภาวะที่เราเจอความเสี่ยงใหญ่มาพร้อมกันหลายลูก ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ กนง.มีมติเป็นเอกฉันท์ตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% หลังจากได้ประเมินตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ และความเสี่ยงเหล่านี้แล้ว เราต้องเร่งดำเนินการ และส่งสัญญาณให้ชัดเจน” ผู้ว่าการ ธปท.กล่าว

อย่างไรก็ดี นายวิรไท ยอมรับว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้อาจไม่ได้ส่งผลมากนัก เพราะปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยถือว่าอยู่ในระดับต่ำมากอยู่แล้ว ประกอบกับสภาพคล่องส่วนเกินในโลกยังมีค่อนข้างมาก ดังนั้น การทำนโยบายการเงินในปัจจุบัน จึงไม่ได้มีเพียงเครื่องมือใดเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาให้ระบบเศรษฐกิจไทยได้โดยลำพัง หากแต่ต้องมีการประสานทั้งมาตรการการคลัง มาตรการการเงิน และมาตรการของสถาบันการเงินเข้ามาร่วมด้วย

พร้อมระบุว่า ขณะนี้ได้เห็นบางสถาบันการเงินเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงตามแล้ว และเชื่อว่าสถาบันการเงินที่เหลือจะทยอยปรับลดดอกเบี้ยตามลงด้วยเช่นกัน

“การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.ลงเพียงอย่างเดียว คงไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาหรือช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในภาวะเช่นนี้ สิ่งสำคัญคือ ต้องช่วยกันประสานเครื่องมือต่างๆ ที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นภาคการคลัง ภาคการเงิน รวมถึงสถาบันการเงินเพื่อช่วยประคับประคองภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันให้เดินหน้าต่อไปได้” นายวิรไทระบุ

ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ภายหลังจากการประชุม กนง.วานนี้ได้มีโอกาสหารือกับสมาคมธนาคารไทย และผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ ในประเด็นของการดูแลลูกหนี้ โดยเฉพาะลูกหนี้กลุ่ม SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากทั้งกรณีของสงครามการค้า รวมถึงในกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ต้องการได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ซึ่งจะต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้ในเชิงรุก และช่วยเหลือด้านสภาพคล่องในภาวะที่รายได้ของผู้ประกอบการลดลงไปมากจากการระบาดของไวรัสโคโรนา

“ต้องเร่งประสานมาตรการของภาครัฐ ซึ่งกระทรวงการคลังได้ออกมาตรการหลายอย่างเพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ ทั้งอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องประสานมาตรการ และผนึกกำลัง เพื่อให้เราสามารถผ่านพ้นสถานการณ์ช่วงนี้ไปได้” นายวิรไท ระบุ

ทั้งนี้ ในส่วนของ ธปท.ได้มีหนังสือเวียนไปถึงผู้บริหารสถาบันการเงินให้ช่วยดูแลผู้ประกอบการในภาคธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว และเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ซึ่งไม่ได้ให้ช่วยดูแลเฉพาะผู้ประกอบการเท่านั้น แต่ให้ช่วยดูไปถึงลูกจ้างต่างๆ ที่อยู่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน โดยขอให้ทุกสถาบันการเงินให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และจัดให้มีทีมงานเฉพาะขึ้นมาดูแล

“ขอให้สถาบันการเงินตั้งทีมพิเศษขึ้นมา และติดตามอย่างใกล้ชิดจากส่วนกลาง เรื่องข้อมูลต่างๆ เพื่อให้กระบวนการตัดสินใจทำได้เร็วขึ้น” นายวิรไทกล่าว

ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์ความเสี่ยงทั้ง 3 ด้านที่กล่าวมา ทั้งการระบาดของไวรัสโคโรนา, พ.ร.บ.งบประมาณปี 63 ที่ล่าช้า และปัญหาภัยแล้งนั้น หลักการทำนโยบายของ ธปท.คือการใช้หลัก Data Dependent ประเมินโอกาสของ scenario ต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งเห็นว่าเมื่อมีความไม่แน่นอนสูง และผลกระทบหากมีความรุนแรงกว่าที่คาดไว้จะส่งผลกระทบในวงกว้างมากขึ้น ดังนั้นจึงควรตัดสินใจอย่างรวดเร็วมากกว่าที่จะรอและไปตัดสินใจในการประชุม กนง.รอบถัดไป

ผู้ว่าการ ธปท. ยอมรับว่าเป็นธนาคารกลางประเทศแรกที่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงภายหลังจากเกิดสถานการณ์ไวรัสโคโรนาระบาด ซึ่งคงมีบางฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า ธปท.ใช้ข้อมูลใดในการนำมาพิจารณาตัดสินใจลดดอกเบี้ย หรือเป็นความตื่นตระหนกเกินไปหรือไม่ ซึ่งมองว่าการไม่ตั้งรับให้ดี ปล่อยให้สถานการณ์แย่ลงไป เมื่อถึงเวลานั้น การแก้ไขจะทำได้ยากลำบากกว่า

“นี่คือการที่เรา take action ได้เร็ว หากสถานการณ์มันมีผลกระทบกว้างไกลขึ้น มันจะดีกว่าที่จะไปรอตามแก้สถานการณ์แบบนั้น” นายวิรไทกล่าว

พร้อมยืนยันว่า หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ธปท.ก็ยังมี Policy Space ที่พร้อมจะนำมาใช้ ทั้งในเรื่องของดอกเบี้ยนโยบาย และมาตรการอื่นๆ เข้ามาเพิ่มเติม

“มีทั้งในส่วนของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และมาตรการอื่นๆ ในสภาวะที่เศรษฐกิจเราถูกกระทบแรง ต้องอาศัยเครื่องมือที่หลากหลาย ไม่เฉพาะแต่เครื่องมือทางการเงินเพียงอย่างเดียว ซึ่งเครื่องมือทางการเงิน ก็ไม่ใช่แค่อัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่ต้องมีการประสานเครื่องมือที่หลากหลายด้วย” ผู้ว่าการ ธปท.กล่าว

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ ธปท.จะขอติดตามสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด ส่วนการจะพิจารณาปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยใหม่นั้น คงต้องรอดูในการประชุม กนง.เดือนมี.ค.63

ผู้ว่าการ ธปท. ยังกล่าวถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทว่า ตั้งแต่ต้นปีถือว่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่ามากสุดเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาค แต่ทั้งนี้เงินบาทที่อ่อนค่าลงยังไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐาน เนื่องจากไทยยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงอีกมาก โดยเฉพาะปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา และปัญหางบประมาณล่าช้า ซึ่ง ธปท.ยังพร้อมจะทำมาตรการเพิ่มเติมหากพบว่ามีการเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินจนกระทบต่อเศรษฐกิจ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ก.พ. 63)

Tags: , , , , , ,
Back to Top