สนพ.หนุนโครงสร้างพื้นฐานรับตลาดอีวีมาแรง พร้อมศึกษารูปแบบ

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เดินหน้าส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า โดยถือเป็นหนึ่งในแผนนโยบายที่กระทรวงพลังงานได้ให้ความสำคัญและสนับสนุนอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มทางเลือกการใช้พลังงาน ลดการพึ่งพาน้ำมันเชื้อเพลิง และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมตามแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2558-2579

ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งด้านระบบไฟฟ้า สถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) และเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งยังมีการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid), ระบบมิเตอร์ไฟฟ้าอัจฉริยะ(Smart Meter) และแผนลดการใช้ไฟฟ้าประชาชนภาคสมัครใจ (Demand Response)

นอกจากนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างศึกษารูปแบบการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า อาทิ ราคาค่าบริการการชาร์จไฟฟ้า การนำเอาไฟฟ้าส่วนเกินมาป้อนให้กับยานยนต์ไฟฟ้า โดยสนพ. ได้ศึกษากรณีให้ผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าสามารถขายไฟฟ้าในส่วนที่เหลือจากแบตเตอรี่รถเข้าระบบผลิตไฟฟ้าได้ เพื่อให้ระบบแบตเตอรี่รถสามารถเป็นระบบสำรองไฟฟ้าช่วยเสริมความมั่นคงไฟฟ้าประเทศได้ในอนาคต

ปัจจุบันเทคโนโลยีสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) มีความก้าวหน้ามากขึ้น ยกระดับไปสู่การเป็นสถานีอัดประจุไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Charge) ที่สามารถคำนวณได้ว่าควรชาร์จไฟฟ้าช่วงเวลาใดเพื่อให้ได้อัตราค่าชาร์จไม่แพง รวมไปถึงแบตเตอรี่สามารถเป็นโรงไฟฟ้าเสมือน โดยให้ยานยนต์ไฟฟ้าสามารถปล่อยประจุไฟฟ้ากลับเข้าสู่ระบบ เพื่อสร้างรายได้ให้ผู้ใช้ได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งขณะนี้กระทรวงพลังงานอยู่ในระหว่างการนำมาศึกษารูปแบบและประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับประเทศต่อไป

นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) กล่าวว่า โครงการสนับสนุนการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) ได้รับการสนับสนุนจาก สนพ. และดำเนินงานโครงการฯ โดยสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย เพื่อให้การสนับสนุนแก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่สนใจติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นสถานีนำร่องสำหรับรองรับยานยนต์ไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต

จากการเปิดรับสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมโครงการจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ จำนวน 68 หน่วยงาน รวมทั้งสิ้น 80 หัวจ่าย โดยมีรูปแบบการส่งข้อมูลด้านพลังงานผ่านระบบ OCPP (Open Charge Point Protocol) และ Smart Meter รวมถึงรูปแบบการใช้บัตรสำหรับชาร์จประจุไฟฟ้าในโครงการ (RFID) สำหรับการใช้บริการอัดประจุไฟฟ้าโดยเปิดให้ประชาชนทั่วไปสมัครรับบัตรเพื่อทดลองใช้งานในช่วงเวลาดำเนินโครงการ ทั้งนี้ มีผู้ให้ความสนใจขอรับบัตร RFID กว่า 600 ราย

จากสถิติของกรมการขนส่งทางบก พบว่ามีแนวโน้มการขับขี่รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากสถิติของกรมการขนส่งทางบก (ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิ.ย. พ.ศ.2563) ระบุจำนวนจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle) หรือ BEV มีจำนวน 4,301 คัน และยานยนต์ที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าทั้งแบบไฮบริดและปลั๊กอินไฮบริด (HyBrid/Plug-in Hybrid Electric Vehicle) หรือ HEV/PHEV มีจำนวน 167,767 คัน และสถานีอัดประจุไฟฟ้ามีจำนวนหัวจ่ายไฟฟ้ารวมกว่า 1,854 หัวจ่าย

นอกจากนี้ ทางสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยได้ร่วมมือกับ 11 หน่วยงาน เพื่อร่วมพัฒนาโมเดลการใช้งานสถานีอัดประจุไฟฟ้าข้ามเครือข่ายหรือ Charging Consortium ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) บมจ.ปตท. (PTT) บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) บริษัท อีโวลท์ เทคโนโลยี จำกัด บริษัท กริดวิซ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท พลังงานมหานคร จำกัด บริษัท จีแอลทีกรีน (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท โชเซ่น เอ็นเนอร์จี้ จำกัด และ บริษัท เดอะ ฟิฟท์ อีลีเม้นท์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

โดยในอนาคตผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าสามารถใช้บริการอัดประจุไฟฟ้าได้ในทุกเครือข่ายฯ รวมไปถึงการมีระบบการให้บริการที่เป็นมาตรฐาน ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าและปลั๊ก-อิน ไฮบริด หรือผู้ที่วางแผนอยากปรับเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าไร้มลพิษ เกิดความมั่นใจในการเข้าถึงสถานีชาร์จไฟฟ้าที่กระจายตัวอยู่ในที่สาธารณะได้มากขึ้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ต.ค. 63)

Tags: , , , , , , , , , , ,
Back to Top