‘ศักดิ์สยาม’ ลุยเมกะโปรเจ็คต์ปี 63 กว่า 3 แสนลบ.

สัมภาษณ์พิเศษ “ศักดิ์สยาม” ลุยเมกะโปรเจ็คต์ปี 63 กว่า 3 แสนลบ.พร้อมเตรียมของบปี 64 ราว 1.79 แสนลบ. ยืนยันเดินหน้าขยายสัมปทาน BEM

รมว.คมนาคม ประกาศเดินหน้าลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจ็คต์) หลัง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ไม่เป็นโมฆะ ลุยลงทุนปีนี้กว่า 3 แสนล้านบาท เตรียมเข็นโครงการมอเตอร์เวย์ สายนครปฐม-ชะอำ วงเงิน 7.90 หมื่นล้านบาท เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือน ก.พ.63 และโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ N2 เชื่อมต่อถนนวงแหวนรอบนอก กทม.ด้านตะวันออก วงเงิน 1.52 หมื่นล้านบาทเป็นลำดับถัดไป

พร้อมให้นโยบายกับทุกหน่วยงานซอยงานเล็กลงภายใต้สัญญาสร้าง 2 ปี เพื่อดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จได้โดยเร็วและกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ขณะเดียวกันเตรียมเสนองบประมาณปี 64 ลงทุน 46 โครงการ วงเงิน 1.79 แสนล้านบาท ต่อ ครม.

สำหรับการขยายสัมปทานทางด่วน 15 ปี 8 เดือนให้ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ(BEM) เพื่อแลกกับการยุติข้อพิพาทนั้น รมว.คมนาคม ยืนยันขั้นตอนการพิจารณาดำเนินการอย่างถูกต้อง ซึ่งนำส่งเรื่องให้บรรจุเป็นวาระการพิจารณาของ ครม.ตั้งแต่วันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา ขณะเดียวกันสั่งการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ศึกษาการลงทุนสร้างปรับปรุงทางด่วนชั้นที่ 2 (Double Deck) และปัญหาจราจรติดขัดบนทางด่วน

ขณะที่คาดว่าในเดือน มี.ค.63 คาดว่าออกประกาศกฎกระทรวงเพื่อเปิดทางให้รถยนต์ส่วนบุคคลสามารถให้บริการรับส่งผู้โดยสารสาธารณะผ่านแอพพลิเคชั่นได้

ปี 63 ลุยเมกะโปรเจ็คต์กว่า 3 แสนลบ.

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ให้สัมภาษณ์กับ”อินโฟเควสท์”ว่า ในปีงบประมาณ 2563 จะใช้ลงทุนทั้งงบประมาณปกติและงบลงทุนของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ รวมประมาณกว่า 3 แสนล้านบาท เพื่อลงทุนในโครงการเมกะโปรเจ็คต์ ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้เตรียมความพร้อมไว้แล้วหลังจาก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ประกาศใช้ก็จะเร่งรัดดำเนินการทันที

โดยได้มอบนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดบริหารสัญญาโครงการขนาดใหญ่ด้วยการซอยย่อยแต่ละสัญญามีระยะเวลาก่อสร้างไม่เกิน 2 ปี เช่นเดียวกับโครงการมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา ที่แยกสัญญาโครงการเป็น 40 สัญญา ส่งผลให้สามารถบริหารโครงการได้รวดเร็วมากขึ้น พร้อมทั้งระบุให้ใช้วัสดุและแรงงานในท้องถิ่น (Local content) 50%

สำหรับระยะเวลาที่เหลือในปีงบประมาณ 2563 มีประมาณ 7 เดือน ได้มอบนโยบายให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดการเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จก่อนสิ้นสุดปีงบประมาณในวันที่ 30 ก.ย.63 ซึ่งการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของกระทรวงฯ จะทยอยดำเนินการเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นไปตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ให้กระทรวงฯ วางแผนการก่อสร้างกระจายความเจริญไปทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

“ถ้าเม็ดเงินโครงการลงไป ซัพพลายเชนการก่อสร้างจะมีการหมุน การจ้างแรงงานต่างๆ ก็ต้องมี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ผมว่าจะกระตุ้นให้เห็นในระยะที่เร็ว และผมพยายามเร่งให้การใช้จ่ายมันสามารถเข้าสู่ระบบได้เร็วที่สุด ตอนนี้ปรับแผน เราคิดว่ามีเวลา 8 เดือนตอนนี้อาจไม่ถึง 8 เดือน แต่ปลายทางต้องเสร็จเหมือนกัน คือ 30 กันยายน 2563 ก็ต้องเร่งซึ่งการปรับแผนก็มีหลายวิธีการ อย่างที่เห็น การทำขนาดงานให้เสร็จได้ทัน ถ้าขนาดงานต้องใหญ่ก็กำหนดในทีโออาร์ คนมาประมูลงานต้องมีแบบแผนงานให้ชัดเจนและทำให้เสร็จตามนั้น” นายศักดิ์สยาม กล่าว

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่าในปีงบประมาณ 63 จะมีการลงทุนโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานภายใต้กระทรวงคมนาคมกว่า 3 แสนล้านบาท ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์- มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่าเงินลงทุน 1.2 แสนล้านบาท ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการประกวดราคา คาดว่ากระบวนการหาผู้รับจ้างน่าจะเสร็จสิ้นในเดือน ต.ค.63 และทำควบคู่ไปกับการออก พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน

มอเตอร์เวย์ สายนครปฐม-ชะอำ มูลค่าเงินลงทุน 7.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) และสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเตรียมเสนอ ครม.คาดว่าภายในเดือน ก.พ.63 ขณะเดียวกัน โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ N2 เชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอกกทม.ด้านตะวนออก วงเงิน 1.52 หมื่นล้านบาท ก็เตรียมเสนอครม.เช่นกัน โดยได้ผ่านการอนุมัติของบอร์ด กทพ.เมื่อ 28 ธ.ค.62

ส่วนรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ วงเงิน 1.2 แสนล้านบาท เตรียมประกวดราคา และ การก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ วงเงิน 2.2 หมื่นล้านบาทก็อยู่ระหว่างการประกวดราคา เช่นกัน

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมยังมีโครงการที่จะนำเสนอ ครม.ในระยะต่อไปอีก 13 โครงการ วงเงิน 5.5 แสนล้านบาท ได้แก่ ระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง และช่วงบางซื่อ-หัวหมาก ระยะทาง 25.9 กม.วงเงิน 4.4 หมื่นล้านบาท

การก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะ 2 จำนวน 7 สายทาง ระยะทางรวม 1,843 กม.ประกอบด้วย ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย วงเงิน 6.28 หมื่นล้านบาท, ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ วงเงิน 5.68 หมื่นล้านบาท, ช่วงขอนแก่น-หนองคาย วงเงิน 2.67 หมื่นล้านบาท, ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี วงเงิน 3.75 หมื่นล้านบาท, ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี วงเงิน 2.43 หมื่นล้านบาท, ช่วงสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา วงเงิน 5.74 หมื่นล้านบาท, ช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ วงเงิน 6.66 พันล้านบาท

รวมทั้ง มอเตอร์เวย์ สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว, การจัดหาเครื่องบินการบินไทยปี 62-69 จำนวน 38 ลำ, การพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะ 3, โครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะ 1, โครงการศูนย์ฝึกอบรมบุคคลากรด้านการบินและอวกาศ อู่ตะเภา, โครงการส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ (North Expansion) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ วงเงิน 4.2 หมื่นนล้านบาท

รมว.คมนาคม กล่าวว่า การลงทุนโครงการเมกะโปรเจ็คต์จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ ซึ่งมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจมากกว่า 12% แสดงให้เห็นว่าโครงการลงทุนสำคัญด้านคมนาคมมีความคุ้มค่าในการลงทุน เนื่องจากมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูง ทั้งนี้การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งโดยเชื่อมโยงแหล่งพื้นที่เกษตรกรรม อุตสาหกรรม และแหล่งท่องเที่ยว

สำหรับงบประมาณในปี 64 สำหรับโครงการที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป กระทรวงคมนาคมขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 มีจำนวน 46 โครงการ วงเงินรวม 1.79 แสนล้านบาท โดยมีระยะเวลาดำเนินการปี 64-67

ชง ครม.ขยายสัมปทาน BEM ยันขั้นตอนพิจารณาถูกต้อง-คุ้มค่า

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ได้ส่งเรื่องการขยายอายุสัมปทาน ระยะเวลา 15 ปี 8 เดือนให้กับ BEM เพื่อแลกกับการยุติข้อพิพาทเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ตั้งแต่วันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา พร้อมยืนยันดำเนินการถูกต้องภายใต้การคำนวณจากตัวเลขสถิติปริมาณการใช้รถบนทางด่วน

ทั้งนี้ กรณีดังกล่าว กทพ.เป็นผู้ทำผิดสัญญาจากการสร้างทางแข่งขัน และไม่ให้ปรับขึ้นค่าผ่านทาง รวมคดีที่ BEM ฟ้องมี 17 คดี รวมมูลหนี้ 1.3 แสนล้านบาท แต่ กทพ.ได้เจรจาลดลงเหลือ 5.8 หมื่นล้านบาท โดยไม่มีตัวเลขการใช้งานจริงรับรอง ดังนั้น คณะทำงานที่แต่งตั้งขึ้นมาให้ดูแลเรื่องนี้คำนวณตัวเลขจากข้อมูลกรมทางหลวง และ กทพ.ที่มีการเก็บสถิติรถวิ่งผ่านทางด่วนกับค่าผ่านทาง คิดมาแล้วที่ BEM สูญรายได้ไปกว่า 7 หมื่นกว่าล้านบาท ซึ่งต่ำกว่า 1.3 แสนล้านบาท และเป็นตัวเลขความเสียหายอย่างเป็นทางการ

อย่างไรก็ตาม มติ ครม.ให้จ่ายเอกชนโดยไม่ต้องชำระเป็นเงินแต่ให้จ่ายเป็นเวลา จึงให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ใช้สูตรคำนวณออกมาเป็นระยะเวลา 19 ปี 1 เดือน ขณะที่มีการเจรจาให้ขยายเวลาสัมปทาน BEM เป็น 15 ปี 8 เดือนไปแล้วก็ถือว่าดีกว่าผลที่คำนวณ แต่ก็ให้นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคมไปเจรจาให้น้อยกว่า 15 ปี 8 เดือน และผลเจรจาได้ 15 ปี 8 เดือนลบด้วยวันหยุดนักขัตฤกษ์ที่มีประมาณ 18-20 วันแล้วแต่ครม.จะประกาศ หรือคิดเป็นประมาณกว่า 14 ปี และคิดเป็นตัวเงินราว 1 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ สัญญาที่ขยายไปก็ยังคงอยู่ภายใต้ส่วนแบ่งรายได้ 40:60 เช่นเดิม

“เรื่องนี้ถ้าจะถูกอภิปราย ก็น่าจะชี้แจงได้ เพราะว่าสิ่งเหล่านี้ผ่านการศึกษาของสภาฯมาแล้ว แล้วสภาฯเจรจาได้เวลามากกว่าที่เราคิด เรามีตัวเลขหมด เป็นวิชาการทุกตัวมีที่ไปที่มาไม่ใช่นั่งเทียนแล้วก็ยกให้” นายศักดิ์สยาม กล่าว

ส่วน Double Deck ที่เอกชนเสนอลงทุนกว่า 3 หมื่นล้านบาท แลกกับการขยายสัมปทานอีก 14 ปี 4 เดือนนั้น รมว.คมนาคม กล่าวว่า กรณีนี้หากมีการดำเนินการจริงอาจมองได้ว่าเป็นค่าโง่ เพราะระยะเวลาที่ขยายให้เอกชนอีก 14 ปี 4 เดือน เมื่อคำนวณเป็นตัวเงินจะมีจำนวนมาก ดังนั้น จึงสั่งการให้ กทพ.ศึกษาการจราจรทางด่วนทั้งระบบ เพราะเห็นว่าน่าจะมีหลายจุดที่มีปัญหาจราจรติดขัด อาทิ ทางลงยมราช ทางลงศูนย์ราชการ ทางเชื่อมระหว่างขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 เพื่อแก้ปัญหาทั้งระบบ ขณะที่ Double Deck ต้องใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี และยังไม่ได้จัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม(EIA) ซึ่งคาดใช้เวลาเป็นปี

ขณะเดียวกัน จะมีโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ N2 เข้ามาบรรเทาการจราจรบนทางด่วน โดยเรื่องนี้คณะกรรมการ กทพ.เพิ่งอนุมัติเมื่อ 28 ธ.ค.62 เงินลงทุนมาจากกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ (TFF) EIA ก็ทำเสร็จแล้ว แบบก่อสร้างก็พร้อม ขณะนี้กำลังจัดทำข้อกำหนดในเอกสารยื่นข้อเสนอโครงการ (RFP) เตรียมจ้างเอกชน โดยคาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้าง 2.5-3 ปีแล้วเสร็จ

โดยโครงการ N2 จะช่วยจราจรติดขัดบนทางด่วนลงไป 30% ทันที ระหว่างนั้น กทพ.ก็ศึกษาการจัดทำ Double Deck ทั้งระบบซึ่งกำหนดให้ 2 ปี แต่จะทำเป็นช่วงๆ โดยให้เข้าสู่ระบบจัดซื้อจัดจ้างปกติ ไมใช่จ้างแบบวิธีพิเศษ ขณะที่ในปี 66-67 ที่โครงข่ายรถไฟฟ้าเต็มสมบูรณ์ก็คาดว่าจะมีจำนวนรถใช้ทางด่วนลดลง เพราะคนหนีไปชึ้นระบบรางแทน ก็น่าจะทำให้การจราจรบนทางด่วนเบาบางลง

คาด มี.ค.ประกาศกฎกระทรวงให้รถยนต์ส่วนบุคคลเป็นรถสาธารณะได้

รมว.คมนาคม กล่าวถึง นโยบายการกำหนดรถส่วนบุคคลที่ให้บริการเป็นรถโดยสารสาธารณะผ่านแอพพลิเคชั่นอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาอยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาร่างกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว จำนวน 2 ฉบับ คาดว่าจะเสนอ ครม.พิจารณาได้ภายในเดือนมี.ค.63 และประกาศใช้ได้ในเดือน มี.ค.

โดยจะมีการออกกฎกระทรวง 2 ฉบับ ได้แก่ ฉบับแรกกำหนดคุณสมบัติผู้ดำเนินการแอพพลิเคชั่น และฉบับที่ 2 เป็นการให้อำนาจแก่นายทะเบียน คืออธิบดีกรมขนส่งทางบกเป็นผู้อนุญาตให้รถยนต์ส่วนบุคคลสามารถเข้ามาให้บริการในแอพพลิเคชั่นได้

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้พูดคุยกับกลุ่มแท็กซี่ก็ไม่ได้คัดค้านเรื่องนี้ และอยากให้ทำแอพพลิเคชั่นเหมือนกัน สิ่งเหล่านี้ทำให้ต้นทุนลดลง แท็กซี่ไม่ต้องวิ่งหาผู้โดยสาร เหมือนแท็กซี่ VIP ที่สนามบิน ที่จอดรถแล้วรอผู้โดยสาร แต่ปัจจุบันแท็กซี่ก็ต้องวิ่งหาผู้โดยสารและมีต้นทุนสูง ซึ่งปกติก็จะผลักภาระไปเป็นการปรับขึ้นค่าโดยสาร และมองว่าผู้ขับขี่อาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกเพียงในแอพพลิเคชั่นเดียว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ก.พ. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top