รัฐบาลขับเคลื่อนแผนพลังงานแห่งชาติมุ่งความมั่นคง-ส่งเสริมพลังงานทดแทน

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลได้ดำเนินการขับเคลื่อนแผนนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ศ 2561-2580 หมายถึงการที่ทุกภาคส่วนจะได้บูรณาการการทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการมีความมั่นคงทางพลังงานครอบคลุมทั้งระบบผลิตไฟฟ้า ส่งไฟฟ้า และจำหน่ายไฟฟ้า โดยคำนึงถึงต้นทุนการผลิตที่เหมาะสม ลดภาระผู้ใช้ไฟฟ้า อีกทั้งต้องลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน

ทั้งนี้ ในเรื่องของการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน รัฐบาลได้ตั้งเป้าการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนทางเลือก (ไฟฟ้า ความร้อน และเชื้อเพลิงชีวภาพ) ต่อการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายที่ 30% ในปี 80 และเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศเป็น 34.23% มากกว่าแผนเดิมที่ตั้งไว้ที่ 20.11% โดยเน้นพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 9,290 เมกะวัตต์ จากเดิม 6,000 เมกะวัตต์ และพลังแสงอาทิตย์ลอยน้ำ เพิ่มเป็น 2,725 เมกะวัตต์ จากเดิมไม่ได้ตั้งเป้าไว้ มากไปกว่านั้น

รัฐบาลได้เร่งสำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาติในประเทศ จะมีการทบทวนโครงการสถานีเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซแบบลอยน้ำในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน เพื่อให้การบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติเกิดประโยชน์สูงสุด

พร้อมกันนี้ รัฐบาลยังส่งเสริมและสนับสนุนการจัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าทั้งในพื้นที่ชุมชนและถนนสายหลักระหว่างเมือง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า กระตุ้นให้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น จึงได้มีการสั่งการให้การไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้านครหลวง ดำเนินการกำหนดพื้นที่ติดตั้งสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าให้เพียงพอสำหรับการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV Mapping) โดยให้มีระยะห่างของแต่ละสถานีภายในรัศมีไม่เกิน 50-70 กิโลเมตร

สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากจะมีการเปิดรับซื้อไฟฟ้าในเร็วๆนี้ โดยเน้นการผลิตไฟฟ้าตามศักยภาพของการปลูกพืชพลังงานในพื้นที่ อาทิ หญ้าเนเปียร์ กระถินณรงค์ เพื่อให้เกิดการสร้างงานและอาชีพในท้องถิ่น จึงอยากให้เกษตรกรวางแผนรวมตัวกันเพื่อปลูกพืชพลังงานให้มากๆ ทั้งนี้ เป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าในช่วงปี 63-67 มีปริมาณรวม 1,933 เมกะวัตต์ เริ่มที่โครงการ Quick Win (ระยะเร่งด่วน) จำนวน 100 เมกะวัตต์ ซึ่งจะมีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายในปี 63 และจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายใน 12 เดือน นับจากวันลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ต.ค. 63)

Tags: , , , , ,
Back to Top