สศค.เผยเศรษฐกิจภูมิภาค ก.ย.ดีขึ้นต่อเนื่องจากบริโภค-ลงทุนเอกชนหนุน

นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนก.ย.63 ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนก.ย.63 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องในหลายภูมิภาค อาทิ ภาคเหนือ และภาคตะวันออก

โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนภาคเอกชน โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในช่วงที่ผ่านมา

  • เศรษฐกิจภาคเหนือ ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า โดยในเดือน ก.ย.63 เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งสะท้อนจากจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ และภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัว14.1% และ 2.8% ต่อปี ตามลำดับ โดยได้รับปัจจัยสนัยสนุนจากรายได้เกษตรกรที่ขยายตัวได้ 1.5% ต่อปี สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน พบว่า จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่กลับมาขยายตัวที่ 10.1% ต่อปี และเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ ขยายตัวได้ 723.1% ต่อปี ด้วยเงินทุนจำนวน 1,964 ล้านบาท จากโรงงานทำแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้งในจังหวัดลำปาง เป็นสำคัญ

อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวยังชะลอตัว โดยจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือนลดลง -35.2% และ -55.4% ต่อปี ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่ลดลง -35.2% และ -59.3% ต่อปี ตามลำดับ สำหรับในด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ พบว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ -1.0% ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ -0.5% ต่อปี จากราคากลุ่มพลังงานและอาหารสดที่ลดลง

  • เศรษฐกิจภาคตะวันออก ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า โดยในเดือน ก.ย.63 เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนซึ่งสะท้อนจากรายได้เกษตรกรขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ 20.8% ต่อปี มาอยู่ที่ 15.0% ต่อปี และภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ที่ขยายตัวได้ 0.1% ต่อปี ซึ่งเป็นการกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน นับตั้งแต่เดือนก.พ.63 สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัวได้ดีอยู่ที่ร้อยละ 164.5 ต่อปี ด้วยเงินทุนจำนวน 3,020 ล้านบาท จากโรงงานฆ่าสัตว์ปีกในจังหวัดสระแก้ว เป็นสำคัญ นอกจากนี้ จำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่กลับมาขยายตัวได้ที่ 6.3% ต่อปี ซึ่งเป็นการกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน นับตั้งแต่ต.ค.62

อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวยังชะลอตัว โดยจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือนลดลง -44.1% และ -72.6% ต่อปี ตามลำดับ เทียบกับที่ลดลง -44.4% และ -74.8% ต่อปี ตามลำดับ ในเดือนก่อนหน้า สำหรับด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ พบว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ -1.0% ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ -0.8% ต่อปี

  • เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า โดยในเดือน ก.ย.63 เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนหลายตัวปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นต่อเนื่อง เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ จำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ และรายได้เกษตรกรที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยขยายตัวอยู่ที่ 22.9% 7.0% และ 2.3% ต่อปี ตามลำดับ สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ขยายตัวอยู่ที่ 2.2% ต่อปี ซึ่งเป็นการกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 11 เดือน นับตั้งแต่ก.ย.62

อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวยังชะลอตัว โดยจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือนลดลง -32.3% และ -43.5% ต่อปี ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่ลดลง -32.3% และ -46.7% ต่อปี ตามลำดับ สำหรับในด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ พบว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ -1.0% ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ -0.3% ต่อปี

  • เศรษฐกิจภาคกลาง ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าโดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน โดยในเดือน ก.ย.63 เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น โดยภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และรายได้เกษตรกรขยายตัว 1.9% และ 8.5% ต่อปี ตามลำดับ สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน พบว่าจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ชะลอตัวมาอยู่ที่ -32.7% ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าชะลอตัวลงที่ -37.8% ต่อปี

อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวยังชะลอตัว โดยจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือนลดลงอยู่ที่ -48.6% และ -61.8% ต่อปี ตามลำดับ แต่ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ชะลอตัว -54.2% และ -66.6% ต่อปี ตามลำดับ สำหรับในด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ พบว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ -1.1% ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ -0.9% ต่อปี

  • เศรษฐกิจภาคตะวันตก ดีปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าโดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชน โดยในเดือน ก.ย.63 เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัวสูงที่ 179.7% ต่อปี ด้วยเงินทุนจำนวน 469 ล้านบาท จากโรงงานชุบโลหะและเคลือบผิวโลหะด้วยกัลวาไนซ์ในจังหวัดเพชรบุรี เป็นสำคัญ นอกจากนี้ จำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัว 2.2% ต่อปี มาอยู่ที่ 0.7% ต่อปี สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งสะท้อนจากรายได้เกษตรกรขยายตัวต่อเนื่องมาอยู่ที่ 29.4% ต่อปี

อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวยังชะลอตัว โดยจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือนลดลง -18.3% และ -44.2% ต่อปี ตามลำดับ แต่ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ชะลอตัว -21.3% และ -45.9% ต่อปี ตามลำดับ สำหรับด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ พบว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ -1.1% ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ -0.8% ต่อปี

  • เศรษฐกิจภาคใต้ ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าโดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชน โดยในเดือน ก.ย.63 เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ที่ขยายตัว 3.8% ต่อปี ซึ่งเป็นการกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน นับตั้งแต่ก.พ.63 นอกจากนี้ เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัวได้ดีอยู่ที่ 88.7% ต่อปี ด้วยเงินทุนจำนวน 516 ล้านบาท จากศูนย์บริการซ่อมรถยนต์ในจังหวัดปัตตานี เป็นสำคัญ นอกจากนี้ เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากการขยายตัวของรายได้เกษตรกรที่ขยายตัวต่อเนื่องมาอยู่ที่ 26.0% ต่อปี

อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวยังชะลอตัว โดยจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือนลดลง -63.8% และ -85.1% ต่อปี ตามลำดับ แต่ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ชะลอตัว -67.8% และ -87.5% ต่อปี ตามลำดับ สำหรับด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ พบว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ -1.3% ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ -1.1% ต่อปี

  • เศรษฐกิจ กทม.และปริมณฑลดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยในเดือน ก.ย.63 เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนจาก ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ที่ลดลงร -0.1% -23.1% และ -4.5% ต่อปี ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่ลดลง -3.0% -30.7% และ -9.8% ต่อปี ตามลำดับ เช่นเดียวกับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ที่ลดลงมาอยู่ที่ -14.7% ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ลดลง -20.2% ต่อปี

อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวยังชะลอตัว โดยจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือนลดลง -67.9% และ -84.1% ต่อปี ตามลำดับ แต่ชะลอตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ลดลง -65.7% และ -84.3% ต่อปี ตามลำดับ สำหรับในด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ พบว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ -0.55% ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ -0.51% ต่อปี

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ต.ค. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top