ไพบูลย์ นิติตะวัน เสนอไอเดียทำประชามติห้ามชุมนุมทางการเมือง 2 ปี

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยว่า หากเป็นไปได้ขอเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติจัดให้มีการออกเสียงประชามติ โดยประชาชนที่มีสิทธิออกเสียงประชามติ 52 ล้านคนให้มีส่วนร่วมโดยตรงตัดสินปัญหาสำคัญของชาติตามหลักประชาธิปไตยทางตรงให้ได้ข้อยุติว่าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการจัดชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองในปัจจุบัน ซึ่งมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และความสงบเรียบร้อยของสังคมไทย

ทั้งนี้ เพื่อให้การออกเสียงประชามติ ซึ่งเป็นทางออกของประเทศ ทำได้รวดเร็วและประหยัดงบประมาณแผ่นดิน จึงเสนอให้การออกเสียงประชามติทำพ่วงไปพร้อมกับการเลือกตั้ง สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และนายก อบจ. ทั้ง 76 จังหวัดในวันที่ 20 ธ.ค.นี้ และกำหนดเพิ่มเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้ กกต.จัดออกเสียงประชามติเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะทำให้ใช้งบประมาณทำประชามติจำนวนไม่มาก

นายไพบูลย์ กล่าวว่า การหาทางออกของประเทศด้วยการจัดให้ออกเสียงประชามติ เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนจึงเสนอให้ ครม. อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 173 ตราเป็น พ.ร.ก.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติขึ้นใช้เฉพาะครั้งนี้ เนื่องจากเป็นกรณีเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ และคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉิน ที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้

การออกเสียงประชามติจะทำให้ประชาชนทุกคนทั้งประเทศมีส่วนร่วมใช้อำนาจอธิปไตยโดยตรงในการแก้ไขสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งกำลังเป็นความขัดแย้งระหว่างผู้ชุมนุมคณะราษฏร 2563 ซึ่งมีปัญหากับกลุ่มประชาชนจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยกับ กลุ่มคณะราษฏร 2563 กำลังทวีความขัดแย้งขยายวงกว้างขึ้น และอาจจะนำไปสู่ความรุนแรงขึ้นมาในอีกไม่นาน ซึ่งไม่มีผู้ใดอยากให้เกิดขึ้น จึงควรหาทางออกของประเทศโดยสันติวิธี ด้วยการขออำนาจอธิปไตยของประชาชนทุกคนทั้งประเทศผ่านการออกเสียงประชามติตัดสินปัญหาสำคัญให้ได้ข้อยุติ จึงจะสามารถหยุดยั้งปัญหาความขัดแย้งครั้งใหญ่ของไทยได้

หากผลการออกเสียงประชามติเสียงข้างมากเห็นด้วยให้รัฐบาลสามารถใช้มาตรการทางกฎหมายขั้นเด็ดขาด ก็จะสามารถห้ามชุมนุมการเมืองดังกล่าวเป็นระยะเวลา 2 ปีนับจากวันออกเสียงประชามติ เพื่อยุติปัญหาที่เกิดจากการชุมนุมการเมืองไประยะเวลาหนึ่ง เพียงพอที่รัฐบาลจะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจช่วยเหลือเยียวยาประชาชนพ้นวิกฤติผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่หากประชาชนเสียงข้างมากไม่เห็นด้วย รัฐบาลก็ไม่ต้องใช้มาตรการทางกฎหมายใดๆ ที่ขัดแย้งกับมติเสียงข้างมากของประชาชน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 พ.ย. 63)

Tags: , , , , ,
Back to Top