GSC ศึกษาธุรกิจบริหารสินทรัพย์เพิ่มโอกาสโตพร้อมจับมือพันธมิตรขยายงาน

นายประยูร อัสสกาญจน์ ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่และประธานกรรมการ บมจ.โกลบอล เซอร์วิส เซ็นเตอร์ (GSC) เปิดเผยภายหลังเข้าถือหุ้นใน GSC สัดส่วน 64% ว่า ขณะนี้ GSC อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการประกอบธุรกิจด้านบริหารสินทรัพย์ (Asset Management Company) หรือ AMC ซึ่งจะสามารถเพิ่มมูลค่าของ GSC เติบโตอย่างรวดเร็ว เป็นการต่อยอดธุรกิจทวงถามหนี้

ปัจจุบัน ธุรกิจหลักของบริษัท ประกอบด้วย

  1. ธุรกิจทวงถามหนี้ (Collection Service)
  2. ธุรกิจบริการตอบรับข้อมูลศูนย์ (Call Center) และ
  3. ธุรกิจนายหน้าตัวแทนอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Agent) ซึ่งมีแผนจะพัฒนาธุรกิจทุกด้านพร้อมกัน

สำหรับธุรกิจนายหน้าตัวแทนอสังหาริมทรัพย์ จะจัดตั้งบริษัทฯ Real Estate Agent เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในธุรกิจนี้ ให้กับ GSC อันจะทำให้บริษัทได้ผลตอบแทนอย่างมาก เพราะใช้บุคลากรน้อยแต่รายได้มาก ส่วนธุรกิจบริการตอบรับข้อมูลศูนย์ จะใช้ร่วมกับระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อเพิ่มฐานลูกค้าและตอบสนองการให้บริการอัตโนมัติในภาคบริการอื่น อาทิ ศูนย์ข้อมูลทางด้านการเงิน และ การประชาสัมพันธ์จำหน่ายสินค้าและบริการ ตอบสนองพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในยุค New Normal

นายประยูร กล่าวว่า การเข้ามาลงทุนใน GSC ครั้งนี้ เนื่องจากเล็งเห็นถึงโอกาสทางธุรกิจในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกิจการ จากการเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ สามารถนำประสบการณ์มาใช้กับธุรกิจนายหน้าตัวแทนอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจบริการตอบรับข้อมูลศูนย์ อีกทั้งยังเคยเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทให้บริการด้านสินเชื่อทั้งอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์จดทะเบียน ซึ่งตรงกับธุรกิจทวงถามหนี้ ของ GSC

ด้านนายพลาคม ชัยกิตติศิลป์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ GSC เปิดเผยว่า บริษัทวางเป้าหมายเป็นผู้ให้บริการงาน Outsource ต่าง ๆ อย่างครบวงจร โดยจะขยายการบริการที่บริษัทมีการให้บริการในปัจจุบัน และการเพิ่มการบริการที่เกี่ยวเนื่องสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อเป็น Total Solution ได้อย่างสมบูรณ์ ปัจจุบันบริษัทมีเจ้าหน้าที่ให้บริการสำหรับธุรกิจ Call Center ประมาณ 148 คน ขณะที่ธุรกิจติดตามและทวงถามหนี้ มีเจ้าหน้าที่ให้บริการประมาณ 137 คน และมีพันธมิตรที่หลากหลายทั้งสถาบันการศึกษา ภาครัฐและเอกชน

ทั้งนี้ ธุรกิจศูนย์บริการข้อมูล ยังมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะปัจจุบันองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงิน ประกันภัย และอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ให้ความสำคัญต่อการบริการข้อมูล เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีฐานลูกค้ากว้าง ประกอบกับผู้บริโภคมีความต้องการข้อมูลสูง โดยธุรกิจที่มีฐานลูกค้าขนาดใหญ่อาจเลือกที่จะติดตั้งระบบศูนย์บริการข้อมูลของตนเอง (In-house Contact Center) หรือใช้บริการศูนย์บริการข้อมูล (Outsource Contact Center Services) ให้เป็นผู้ดำเนินการ ในกรณีที่ต้องการผู้เชี่ยวชาญและประสิทธิภาพสูงขึ้น

ขณะที่ในอนาคตบริษัทวางแผนที่จะต่อยอดธุรกิจที่มีอยู่ให้แตกแขนงออกไปอีกด้วยการจับมือกับพันธมิตรที่มีความชำนาญ ซึ่งมั่นใจว่าจะสร้างการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 พ.ย. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top