ก.ล.ต.เดินหน้าแก้อุปสรรคดันเอสเอ็มอีเข้าถึงตลาดทุน พร้อมศึกษาตั้งกองทุนรวม

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวในงานสัมมนา “ก้าวแรกของ SME สู่ตลาดทุน” ว่า ก.ล.ต.ยังคงสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าสู่ตลาดทุนได้มากขึ้น เพราะเอสเอ็มอีนับเป็นภาคธุรกิจที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ คิดเป็นสัดส่วน 35-40% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) และเป็นภาคธุรกิจที่ทำให้เกิดการจ้างงานเป็นจำนวนมาก โดยมีจำนวนการจ้างงานสูงถึง 12 ล้านคน ทำให้ภาครัฐ ก.ล.ต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เล็งเห็นถึงความสำคัญและส่งเสริมเอสเอ็มอีให้เข้าถึงตลาดทุนได้มากขึ้น เพื่อเพิ่มทางเลือกการระดมทุนใช้เสริมศักยภาพธุรกิจให้เติบโต

ที่ผ่านมา ก.ล.ต.ได้มีการแก้ไขกฎหมาย กฎเกณฑ์ และข้อบังคับเกี่ยวกับข้อจำกัดของธุรกิจเอสเอ็มอี ที่ทำให้เอสเอ็มอีไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ และยังได้เปิดโอกาสให้ธุรกิจเอสเอ็มอีสามารถระดมทุนโดยใช้เครื่องมือในตลาดทุนผ่านการออกหุ้นกู้แปลงสภาพ (Convertible Bond) เพื่อเป็นการนำร่องให้ธุรกิจเอสเอ็มอีเรียนรู้และเข้าถึงการระดมทุนด้วยเครื่องมือทางการเงินในตลาดทุน ซึ่งเหมาะกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีบางรายที้ต้องการระดมทุนเพื่อนำเงินมาต่อยอดและเสริมศักยภาพของธุรกิจ แต่ยังไม่อยากให้มีบุคคลอื่นเข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของในตอนนี้

หุ้นกู้แปลงสภาพดังกล่าวนับเป็นเครื่องมือที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ยังต้องการทำงานกับผู้ร่วมก่อตั้ง และยังไม่อยากให้ผู้อื่นเข้ามาเกี่ยวข้องในการบริหารงาน แต่สามารถมีส่วนเข้ามาในฐานะเจ้าหนี้ได้ แต่หากธุรกิจเติบโตขึ้นสถานะเจ้าหนี้ของผู้ลงทุนหุ้นกู้แปลงสภาพนั้น ๆ สามารถเปลี่ยนกลับมาเป็นผู้ถือหุ้น เมื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีพร้อมที่จะให้คนอื่นเข้ามาร่วมในบริษัท โดยหุ้นกู้แปลงสภาพที่ธุรกิจเอสเอ็มอีได้ออกไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. ที่ผ่านมา มีจำนวน 3 ราย วงเงินรวม 168 ล้านบาท และยังมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่อยู่ระหว่างการยื่นขอออกหุ้นกู้แปลงสภาพกับทางก.ล.ต.อีกราว 69 ราย ซึ่งคาดว่าจะเห็นออกมากขึ้นในปี 64

สำหรับช่องทางการระดมทุนอีกหนึ่งช่องทางที่ ก.ล.ต.ได้ผลักดันนั้น เป็นการระดมทุนผ่าน Crowdfunding ที่จะนำระบบดิจิทัลมาใช้ สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องการระดมทุนไม่มาก ตั้งแต่ 300,000-1,000,000 บาท ซึ่งในต่างประเทศนั้นกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหารใช้ช่องทางการระดมทุนผ่าน Crowdfunding ค่อนข้างมาก อย่างเช่น ในมาเลเซีย ธุรกิจเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอาหารส่วนใหญ่ใช้ Crowdfunding ในการระดมทุนมาต่อยอดธุรกิจ ซึ่งโมเดลนี้จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่เพิ่มทางเลือกให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น นอกเหนือจากการขอกู้ยืมจากคนใกล้ตัว หรือขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน โดย Crowdfunding สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีที่ ก.ล.ต.ผลักดัน จะมีลักษณะใกล้เคียงกับระบบการให้บริการปล่อยกู้ระหว่างบุคคล (P2P) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

นอกจากนี้ ก.ล.ต.ยังได้ร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์ (ตลท.) ในการพัฒนากระดานซื้อขายของกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี จากช่องว่างของตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ซึ่งธุรกิจที่จดทะเบียนใน mai ถือว่ายังมีขนาดที่ใหญ่กว่าเอสเอ็มอีอยู่มาก ทำให้ก.ล.ต.ได้ปรึกษาและร่วมทำงานกับตลาดหลักทรัพย์ฯไปพร้อมกัน เพื่อพัฒนากระดานเทรดสำหรับกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี เพื่อเป็นช่องทางในการระดมทุนของธุรกิจเอสเอ็มอีผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯได้ ทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีเติบโตขึ้น สร้างภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจเอสเอ็มอี เพื่อสามารถติดต่อการค้าหรือขยายกิจการต่อได้ในต่างประเทศ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจเอสเอ็มอี โดยคาดว่ากระดานเทรดของกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีในตลาดหลักทรัพย์จะเห็นความชัดเจนในปี 64

ด้านแนวทางการตั้งกองทุนรวมเอสเอ็มอีที่เป็นข้อเสนอของภาคเอกชนที่ได้เสนอมานั้น ก.ล.ต.มองว่าเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่นำมาพิจารณา เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ จากสภาพของเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ชะลอตัวทำให้การเข้าถึงเงินทุนเพื่อเสริมสภาพคล่องของธุรกิจเอสเอ็มทำได้ค่อนข้างยาก เพราะธนาคารต่าง ๆ ก็ยังเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ โดยก.ล.ต.ได้นำเรื่องดังกล่าวมาพิจารณาแนวทาง รวมถึงการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อดึงดูดนักลงทุน ก.ล.ต.ก็จะนำมาพิจารณาด้วยเพื่อเสนอกระทรวงการคลังต่อไป โดยที่ก.ล.ต.จะเดินหน้าผลักดันอย่างต็มที่เพื่อให้ธุรกิจเอสเอ็มอีเข้าสู่ตลาดทุนให้ได้มากขึ้น

“เอสเอ็มอีถือว่ามีความสำคัญมากต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย การเข้าถึงตลาดทุนของเอสเอ็มอี ถือเป็นหนึ่งในกลไกที่ช่วยเสริมสภาพคล่อง ช่วยต่อยอด และเสริมศักยภาพของเอสเอ็มอีได้มากขึ้น ก.ล.ต.ก็ได้ Disrupt กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของเอสเอ็มอีไปมากแล้ว เพื่อสร้างโอกาสให้กับการระดมทุนของเอสเอ็มอี ซึ่งตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งเลขาฯก.ล.ต. ตั้งแต่พ.ค. 62 ถึงตอนนี้ก็เกือบ 2 ปีแล้ว ได้ทำงานร่วมกับทีมก.ล.ต.ทุกคนในการผลักดันให้เอสเอ็มอีเข้าสู่ตลาดทุนให้ได้มากที่สุด และเดินสายพบผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้รู้จักว่าก.ล.ต.เป็นใครมากขึ้น รวมถึงมีความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการให้ความรู้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จากนี้ก็น่าจะทยอยเห็นเอสเอ็มอีเข้ามาในตลาดทุนมากขึ้นต่อไปเรื่อยๆ”

นางสาวรื่นวดี กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ธ.ค. 63)

Tags: , , , , , ,
Back to Top