BLS ให้เป้า SET ปีหน้า 1,550-EPS บจ.เพิ่มเป็น 86 บ. โควิดรอบใหม่แค่ระยะสั้น

บล.บัวหลวง (BLS) ให้เป้าหมายดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) ในปี 64 ที่ 1,550 จุด จากสิ้นปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 1,430 จุด โดยมองว่าสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดระลอกใหม่มีผลกระทบระยะสั้น

ขณะที่กระแสเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ายังสนับสนุนให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งคาดว่ากำไรต่อหุ้นของบริษัทจดทะเบียน (EPS) จะเพิ่มขึ้นเป็น 86 บาท/หุ้น จากปีนี้ 78 บาท/หุ้น ได้รับแรงหนุนจากกำไรของกลุ่มธุรกิจพลังงานและกลุ่มเดินเรือที่ดีดตัวขึ้นสูง

นายชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานค้าหลักทรัพย์บุคคล บล.บัวหลวง กล่าวว่า บริษัทมองดัชนี SET ปี 64 เพิ่มขึ้นไปแตะ 1,550 จุด ที่ระดับ P/E 18 เท่า จากสิ้นปีนี้ที่คาดว่าจะปิดที่ระดับ 1,430 จุด โดยมีปัจจัยหนุนมาจากความคืบหน้าของการนำวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ออกมาใช้จริง ซึ่งจะเริ่มมีการกระจายวัคซีนไปยังประเทศต่าง ๆ มากขึ้นในปีหน้า ทำให้ปัจจัยโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลงอย่างชัดเจน

แม้ว่าปัจจุบันไวรัสโควิด-19 ยังกลับมาแพร่ระบาดในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยที่มีการแพร่ระบาดรอบใหม่ แต่มองว่าเป็นปัจจัยที่กระทบต่อตลาดหุ้นไทยระยะสั้น เพราะมนุษย์ได้เรียนรู้การรับมือไปแล้ว ทำให้การป้องกันการแพร่ระบาดน่าจะสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว และการแพร่ระบาดจะอยู่ในวงจำกัดเท่านั้น ส่งผลให้ความกังวลของโควิด-19 ในประเทศจะไม่กดดันต่อการลงทุนในตลาดหุ้นไทยมากเหมือนช่วงต้นปีที่ผ่านมา

ขณะที่ภาพรวมของเศรษฐกิจทั่วโลกในปี 64 จะเริ่มเห็นการกลับมาฟื้นตัวขึ้น โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯที่จะกลับมาฟื้นตัวต่อเนื่อง จากการอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อกระตุ้นมากขึ้นเป็น 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ประกอบกับภาพรวมของเศรษฐกิจไทยที่เริ่มพลิกกลับมาเป็นบวกได้ราว 4% ในปี 64 จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการคนละครึ่งที่ภาครัฐนำมาตรการออกมาใช้ ถือว่าทำให้ร้านค้าในคื้นที่ต่าง ๆ กลับมาคึกคักขึ้นสามารถช่วยกระตุ้นการบริโภคในประเทศได้ดี

นอกจากนี้ ตลาดหุ้นไทยยังได้รับปัจจัยหนุนการกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้มีการอัดฉีดเมึดเงินออกมา ส่งผลให้สภาพคล่องในโลกมีอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้นักลงทุนต่างต้องมองหาแหล่งพักเงินในประเทศที่ยังมีการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวก ซึ่งนักลงทุนต่างชาติยังให้ความสนใจนำเงินเข้ามาพักในประเทศไทย เพราะเป็นประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยเป็นบวก ต่างจากประเทศอื่น ๆ ที่แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะเป็นบวก แต่อัตราดอกเบี้ยได้ติดลบไปแล้ว จึงคาดว่าจะมีทำให้กระแสเงินทุนจะไหลเข้ามาในตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่องในปีหน้าราว 1 ใน 3 จากที่เคยขายออกไปเมื่อ 3 ปีก่อนมูลค่ารวมกว่า 6 แสนล้านบาท เป็นปัจจัยหนุนให้กับการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้น

ด้านกำไรบริษัทจดทะเบียน (EPS) ในปี 64 จะเห็นการปรับตัวขึ้นมาที่ 86 บาท จาก 76 บาท โดยที่มีปัจจัยหนุนมาจากกำไรของกลุ่มพลังงาน โดยเฉพาะกลุ่ม บมจ.ปตท. (PTT) ที่คาดว่าในปี 64 จะเห็นกำไรทั้งกลุ่มกลับมาเติบโตก้าวกระโดด หลังจากปีนี้ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงแรง และการพลิกกลับมามีกำไรของกลุ่มธุรกิจเดินเรือหลังจากภาพรวมการค้าระหว่างประเทศเริ่มกลับมาทำการติดต่อค้าขายและส่งสินค้ามากขึ้น และยังมีกลุ่มธุรกิจที่เป็นไปตามวัฏจักรของเศรษฐกิจจะเห็นการฟื้นตัวขึ้นของกำไรในปีหน้า หลังจากโควิด-19 คลี่คลายลงอย่างชัดเจน

บล.บัวหลวง มีคำแนะนำการลงทุนว่า ตลาดหุ้นยังคงมีความน่าสนใจ เพราะมีโอกาสปรับตัวขึ้นไปได้ต่อ หลังจากผ่านพ้นการแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างรุนแรงไปแล้ว จึงแนะนำให้มองหาการลงทุนในหุ้นไทยและหุ้นต่างประเทศควบคู่กัน เพื่อกระจายความเสี่ยง และสร้างโอกาสในการได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น โดยการลงทุนในหุ้นยังให้สัดส่วนที่มากที่ 60% รองลงมาเป็นการลงทุนในพันบัตรและตราสารหนี้ 15% การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ 10% ที่เหลือเป็นการลงทุนในทองคำและอื่นๆ

ส่วนกลุ่มหุ้นที่แนะนำในปี 64 เป็นกลุ่มที่คาดว่าจะได้อานิสงส์จากการเติบโตของเศรษฐกิจในปีหน้า แนะนำหุ้นที่อิงกับวัฏจักรเศรษฐกิจ (Cyclical Stock) ได้แก่ กลุ่มปิโตรเคมี ได่แก่ บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL), บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) และ บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC), กลุ่มค้าปลีก เช่น บมจ. เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (CRC), บมจ. เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) และบมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL), กลุ่มบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP), กลุ่มบริษัทบริหารหนี้ บมจ. เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT), บมจ.ชโย กรุ๊ป (CHAYO) และบมจ. บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) และกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการมาของ 5G เช่น บมจ. เจ มาร์ท (JMART) เป็นต้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ธ.ค. 63)

Tags: , , , , ,
Back to Top