Media Talk: “4 แพลตฟอร์มชั้นนำ” เผยเคล็ดลับความสำเร็จในไทย ชวนจับตาเทรนด์มาแรงปี 2020

4 แพลตฟอร์มออนไลน์มาแรงทั้งต่างประเทศและไทยอย่าง AIS Play, TikTok, Spotify และ Pantip ส่งผู้บริหารขึ้นเวทีแบ่งปันเคล็ดลับความสำเร็จ ในฐานะแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง, วิดีโอ, เพลง และออนไลน์คอมมูนิตี้ ชั้นนำของไทย ในงาน Thailand Zocial Awards 2020 ซึ่งจัดโดย ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย)

AIS Play ตอกย้ำความเป็นผู้นำอันดับหนึ่งด้านแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง ชูคอนเซปต์ป้อนคอนเทนต์ตามความต้องการคนดู บนอุปกรณ์ที่ผู้ใช้งานสะดวก เจาะกลุ่มลูกค้าในตลาดไทย

คุณศิวพร เพ่งผล Head of Video and Broadcasting Management Unit จาก AIS PLAY เปิดเผยว่า แม้ในตอนแรก AIS Play จะเกิดจากความคิดที่ว่า เรามีฐานลูกค้าที่เป็นลูกค้าของ AIS อยู่เดิม แต่ที่ผ่านมาเราพบว่ายังมีลูกค้าอีกมากมายที่ไม่ได้ใช้บริการเครือข่ายของ AIS อยู่ แต่ต้องการดูคอนเทนต์จากเรา เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เราจึงเปิดแพลตฟอร์มให้คนทั่วไปได้เข้ามารับชมคอนเทนต์ได้โดยไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นลูกค้าของ AIS เท่านั้น

สำหรับจุดเด่นที่ทำให้ AIS Play เป็นที่นิยมในกลุ่มคนไทยนั้น คุณศิวพรอธิบายว่า เป็นเพราะเราเชื่อว่าลูกค้าเลือกดูคอนเทนต์ตามความชอบของตนเอง บางคนอาจชอบดูการ์ตูน ภาพยนตร์ หรือกีฬา ดังนั้น AIS Play จึงพยายามหาคอนเทนต์ที่มีความหลากหลายมาตอบโจทย์ความต้องการตรงนี้ แต่เราก็ยอมรับว่าเราเองก็ไม่ได้ถนัดในเรื่องของการทำคอนเทนต์มากนัก จึงเข้าไปร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ในการผลิตคอนเทนต์ดี ๆ มามอบให้กับลูกค้า

นอกจากเรื่องของคอนเทนต์แล้ว อีกเหตุผลที่ทำให้ AIS Play ประสบความสำเร็จก็คือ ความเข้าใจในพฤติกรรมของลูกค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่มีความนิยมเสพคอนเทนต์แบบออนดีมานด์กันมากขึ้น ขณะที่อุปกรณ์ที่ใช้ในการรับชมก็เป็นไปตามไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน ไม่ใช่ลูกค้าทุกคนที่ชอบดูคอนเทนต์ผ่านทางมือถือ บางคนอาจชอบดูคอนเทนต์ผ่านจอขนาดใหญ่มากกว่า ในอนาคตจึงจะมีการขยายหน้าจอเพิ่มเติมขึ้นไปบนสมาร์ททีวีได้ต่อไป “AISPlay น่าจะเป็นแพลตฟอร์มที่จะมาช่วยลูกค้าให้สามารถรับชมคอนเทนต์ตามสไตล์ที่ชอบได้บนอุปกรณ์ที่สะดวก ขณะเดียวกันเราก็พร้อมที่จะทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ในการช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมต่อไป” คุณศิวพรกล่าวทิ้งท้าย

“Video is the now, Short- form video is the future” TikTok เผยกลยุทธ์มัดใจกลุ่มนักเสพคอนเทนต์ยุคใหม่

คุณศุภวัฒน์ พีรานนท์ Head of Music ของ TikTok อธิบายถึง TikTok ว่าเป็นแพลตฟอร์มวิดีโอสั้นๆ ที่ทุกคนสามารถถ่ายวิดีโอได้ ชมได้ เสพได้ สร้างได้ เพียงแค่คุณมีอุปกรณ์ คุณก็สามารถทำวิดีโออะไรก็ได้ออกมาเผยแพร่ได้ตามที่ต้องการ โดยมีตัวเลือกเอฟเฟค ดนตรีประกอบที่ถูกลิขสิทธิ์ และแคมเปญกิจกรรมสนับสนุนต่าง ๆ อย่าง กิจกรรมแฮชแท็กชาเลนจ์ (Hashtag Challenge) ที่ให้ผู้ใช้งานสามารถมาร่วมสนุกกันได้

TikTok เกิดจากการนำ 3 คำมารวมกัน “Content Discovery Platform” ให้เป็นแพลตฟอร์มที่มีคอนเทนต์ให้ทุกคนสามารถค้นพบได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเพื่อนกันหรือรู้จักกัน ไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็ตามก็สามารถเข้ามาดูคอนเทนต์ที่อยู่บนแพลตฟอร์มนี้ได้ทั้งหมด คุณศุภวัฒน์อธิบายต่อ พร้อมเสริมว่า ความสำเร็จของ TikTok เกิดขึ้นมาจาก 3 สิ่งที่เรามีคือ พกพาสะดวก, มีเทคโนโลยี และมีคอมมูนิตี้ ที่ซึ่งทุกคนรู้สึกว่าได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของแพลตฟอร์มนี้ ไม่ว่าคุณจะเป็นใครหรือมีความชอบแบบไหน แพลตฟอร์มนี้มีพื้นที่สำหรับพวกคุณทุกคน

คุณศุภวัฒน์ กล่าวว่า ความสำเร็จของ TikTok ด้วยยอดดาวน์โหลดที่เพิ่มขึ้นถึง 46% จากปีที่แล้ว ชี้ให้เห็นว่า วิดีโอแบบสั้นและแนวตั้งจะเข้ามาดิสรัปต์แทบทุกอย่างในอนาคต และวิดีโอรูปแบบนี้ก็จะกลายมาเป็นตัวผลักดันให้เหล่านักสร้างสรรค์ผลิตคอนเทนต์ที่มีคุณภาพออกมามัดใจคนดูกันต่อไป

Spotify ชี้ “เสียง” เป็นองค์ประกอบความสำคัญต่อการรับรู้และสร้างแบรนด์

คุณ Sea Yen Ong จาก Spotify กล่าวถึงความสำคัญของเสียงในหัวข้อ “The Age of Audio” ว่า คนเราสามารถรับรู้สิ่งต่าง ๆ ทางเสียงได้เร็วกว่าทางการมองเห็นถึง 10 เท่า ในบางครั้งคนเราซึมซับสิ่งต่าง ๆ รอบตัวโดยไม่รู้ตัวผ่านทางเสียง เช่น หากเปิดเพลงเยอรมนี ก็จะสามารถขายไวน์จากเยอรมนีได้มากขึ้น ขณะเดียวกันหากเปิดเพลงฝรั่งเศสก็จะสามารถขายไวน์จากฝรั่งเศสได้มากขึ้น

นอกจากนี้ เสียงยังเป็นสิ่งที่ทำให้เราจดจำแบรนด์หรือสิ่งต่าง ๆ ได้ชัดเจนมากขึ้น เช่น เสียงตอนเปิด Netflix หรือเสียง intro ของเพลงต่าง ๆ ซึ่งเมื่อได้ยินขึ้นมาก็ทำให้เราสามารถรู้ได้ในทันทีว่าสิ่งนั้นคืออะไร ดังนั้นเราจึงควรให้ความสำคัญกับการสร้างเสียงของแบรนด์ตัวเอง (Sonic Branding) โดยต้องคำนึงถึงว่าแบรนด์เราเป็นแบบไหน ควรจะมีเสียงอย่างไร เพื่อให้ผู้ฟังสามารถนึกถึงแบรนด์เราได้ทันทีที่ได้ยินเสียง

Pantip.com แย้มคล็ดลับใช้ Big Data ยกระดับแพลตฟอร์มเพื่อผู้บริโภค

คุณอภิศิลป์ ตรุงกานนท์ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตภัณฑ์ Pantip.com กล่าวถึงความสำคัญของข้อมูล (Data) ในหัวข้อ “From Data SHIFT to Wisdom สร้างสังคมแห่งความรู้ด้วยข้อมูล” ว่า Big Data นั้นมีมาสักระยะแล้ว โดยถือเป็นขุมทรัพย์แหล่งใหม่ เปรียบเสมือนน้ำมันดิบ นั่นคือต้องเอาไปผ่านการแปรรูปก่อน หรือก็คือ เราจะเอาข้อมูลนั้นไปทำอะไร

คุณอภิศิลป์ เสนอโมเดล DIKW Pyramid มาจาก Data, Information, Knowledge, Wisdom หากยกตัวอย่างเทียบกับ Pantip.com แล้ว จะได้ Data คือข้อมูลดิบ เช่นตัวอักษรชุดหนึ่ง เมื่อนำไปจัดรูปแบบ (Information) จะทราบว่า ตัวอักษรชุดดังกล่าวคือคุกกี้ (หรือเลขยูสเซอร์ในระบบเว็บไซต์) และใส่บริบทเข้าไป (Knowledge) จะทราบว่า ยูสเซอร์ชอบอ่านกระทู้แบบไหน และสุดท้าย Wisdom คือการวิเคราะห์ว่า หลังจากยูสเซอร์คนดังกล่าวอ่านกระทู้นั้นจบแล้ว ควรจะแนะนำกระทู้ไหนขึ้นมาเป็นกระทู้ต่อไป

นอกจากนี้ คุณอภิศิลป์ ยังได้กล่าวถึงฟีเจอร์ Pantip Trend ซึ่งจะแสดงกระทู้ที่เป็นที่นิยม ซึ่งปัจจุบันยังไม่เป็นแบบเรียลไทม์ อาจจะทำให้เกิดความล่าช้าในการตาม Trend แต่ทาง Pantip กำลังเร่งทำให้เป็นแบบเรียลไทม์ภายในช่วงกลางปี

โดยสำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ก.พ. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top