เงินบาทเปิด 31.38 ต่อดอลล์ หลังเฟดลดดอกเบี้ยฉุกเฉินรับมือโควิด-19

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ 31.38 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าจากปิด
ตลาดเย็นวานนี้ที่ระดับ 31.55 บาท/ดอลลาร์ เนื่องจากดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินหลัก หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉินลง 0.50% ก่อนการประชุมตามกำหนดการที่จะมีขึ้นในวันที่ 17-18 มี.ค.63 เพื่อพยุงเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

“บาทแข็งค่าหลังเฟดปรับลดดอกเบี้ยลงส่งผลให้ดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก” นักบริหารเงิน กล่าว

นักบริหารเงิน คาดว่า วันนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 31.30 – 31.50 บาท/ดอลลาร์
THAI BAHT FIX 3M (3 มี.ค.) อยู่ที่ระดับ 0.71089% ส่วน THAI BAHT FIX 6M อยู่ที่ระดับ 0.77643%

ปัจจัยสำคัญ

  • เงินเยนอยู่ที่ 107.35 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวานนี้ที่ระดับ 107.95 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ 1.1167 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวานนี้ที่ระดับ 1.1124 ดอลลาร์/ยูโร
  • อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 31.5480 บาท/ดอลลาร์
  • คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50%จากระดับ 1.50-1.75% สู่ระดับ 1.00-1.25% เมื่อวานนี้ เพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
  • ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวในการแถลงข่าวว่า เฟดตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉิน หลังจากที่เฟดมองเห็นว่าโคโรนาไวรัสกำลังส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ
  • ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ทวีตข้อความเรียกร้องให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยต่อไปอีก แม้มีการลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% นอกรอบการประชุมของเฟดเป็นครั้งแรก
  • นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ถึงแม้เฟดสร้างความประหลาดใจต่อตลาดการเงินด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในวันนี้ เฟดยังมีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งหนึ่งในการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 17-18 มี.ค.
  • ธนาคารกลางฮ่องกงประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% สู่ระดับ 1.50% จากระดับ 2.00% ซึ่งเป็นการดำเนินการตามธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยเมื่อวานนี้
  • รัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของกลุ่ม G7 จัดประชุมทางไกลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19แถลงการณ์ยังระบุว่า รัฐมนตรีคลังของ G7 พร้อมที่จะดำเนินมาตรการทางการคลังที่เหมาะสมเพื่อเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และพยุงเศรษฐกิจ ขณะที่ธนาคารกลางของ G7 จะสนับสนุนการรักษาเสถียรภาพของราคา และการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รวมทั้งรักษาความยืดหยุ่นของระบบการเงิน
  • ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (3 มี.ค.)ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉินลง 0.50% เมื่อวานนี้ โดยมีเป้าหมายที่จะลดผลกระทบของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ขณะที่นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนก.พ.
  • สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดทะยานขึ้นกว่า 3% เมื่อคืนนี้ (3 มี.ค.) หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สร้างความประหลาดใจให้กับตลาด ด้วยการประกาศลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% เมื่อวานนี้ เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19)
  • นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนก.พ.จาก ADP, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายเดือนก.พ.จากมาร์กิต, ดัชนีภาคบริการเดือนก.พ.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM), รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ หรือ Beige Book จากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ผลิตภาพ-ต้นทุนแรงงานต่อหน่วยไตรมาส 4/2562, ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนม.ค., ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนก.พ., ยอดนำเข้า,ส่งออก และดุลการค้าเดือนม.ค. และสต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนม.ค.
  • กกร.หารือวันนี้ หวังลดผลกระทบ “โควิด-19” ชี้ภาคอุตสาหกรรมเริ่มได้รับผลกระทบ หลังไม่สามารถส่งสินค้าไปจีนได้เตรียมเร่งวางแนวทางช่วยเหลือภาคธุรกิจ ด้าน “วีรพงษ์” ฟันธงเศรษฐกิจไทยส่อถดถอยยาว 5 ปี จวกรัฐบาลไร้ความสามารถ ขณะธปท. บริหารค่าเงิน ผิดพลาดทำส่งออกติดลบ พร้อมระบุ “ไทย” อยู่ในช่วง “มหาวิกฤติ
  • “ประยุทธ์” นัดถก ครม.เศรษฐกิจนัดพิเศษศุกร์นี้ รับมือผลกระทบโควิด-19 “คลัง-ท่องเที่ยว” เร่งทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมสร้างความเชื่อมั่น ตลาดทุน ครม.สละเงินเดือนลงขัน ตั้งกองทุนสู้ไวรัส
  • ที่ประชุมครม.เห็นชอบให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินสนับสนุนและเงินชดเชยภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2562 หรือมาตรการชิมช้อปใช้ ระยะที่ 2 และระยะที่ 3 ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมโครงการจะรับตามมาตรการดังกล่าวผ่านการรับเงินคืน หรือแคชแบ๊ก โดยถ้าใช้จ่ายเต็มวงเงิน 50,000 บาทจะได้เงินคืนสูงสุดไม่เกิน 8,500 บาท ให้ถือเป็นเงินได้ที่ได้รับยกเว้น ไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 มี.ค. 63)

Tags: , , ,
Back to Top