ไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม 1 ราย เป็นชาวอังกฤษ

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เผยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่า ล่าสุดวันนี้พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพิ่มอีก 1 ราย เป็นชายชาวอังกฤษ อายุ 43 ปี เดินทางมาจากกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และแวะพักต่อเครื่องที่ฮ่องกงประมาณ 7-8 ชม. ก่อนจะเดินทางเข้ามาประเทศไทย

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข

โดยผู้ป่วยรายดังกล่าวได้เดินทางไปตรวจที่ รพ.เอกชนแห่งหนึ่ง เมื่อวันที่ 3 มี.ค.63 เนื่องจากมีอาการไข้ และมีเสมหะ พบผลตรวจยืนยันติดเชื้อ จึงได้ส่งตัวไปรักษาที่ รพ.โรคทรวงอกต่อไป

ส่งผลให้ล่าสุดจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมวันนี้อยู่ที่ 48 ราย รักษาตัวใน รพ. 16 ราย กลับบ้านได้แล้ว 31 ราย และเสียชีวิต 1 ราย สำหรับผู้ป่วยอาการหนัก 1 ราย ที่รักษาตัวอยู่ที่สถาบันบำราศนราดูร ตรวจไม่พบเชื้อโควิด-19 แล้ว แต่ยังอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ทำให้ขณะนี้สถานการณ์ผู้ป่วยในประเทศไทยอยู่ลำดับที่ 24 ของโลก

ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค. – 5 มี.ค.63 มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนต้องเฝ้าระวังสะสมทั้งหมด 4,023 ราย คัดกรองจากทุกด่าน 143 ราย มารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอง 3,880 ราย อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้วและอยู่ระหว่างติดตามอาการ 2,392 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ยังคงรักษาในโรงพยาบาล 1,631 ราย

ในส่วนการคัดกรองกลุ่มแรงงานนอกระบบจากประเทศเกาหลีใต้ พบหญิงไทย อายุ 30 ปี ตรวจพบอาการไข้ ได้ที่สนามบินสุวรรณภูมิเมื่อวานนี้ (5 มี.ค.63) ส่งมารักษาตามระบบที่สถาบันบำราศนราดูร ตรวจพบเชื้อจากห้องปฏิบัติการ 1 แห่ง และยังอยู่ระหว่างรอการยืนยันจากห้องปฏิบัติการอีก 1 แห่ง

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เมื่อวานนี้ (5 มี.ค.63) ราชกิจจานุเบกษา ได้ลงประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 พ.ศ. 2563 โดยให้สาธารณรัฐเกาหลี, สาธารณรัฐประชาชนจีน (รวมมาเก๊า และฮ่องกง), สาธารณรัฐอิตาลี และสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน เป็นเขตติดโรคนอกราชอาณาจักร

ทั้งนี้ พื้นที่เสี่ยงที่จะประกาศเป็นเขตติดโรค อาจจะมีการปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ โดยพิจารณาข้อมูลสถานการณ์การระบาด เช่น จำนวนผู้ป่วยสะสม ผู้ป่วยรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนข้อมูลปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ

“ที่ต้องประกาศประเทศเหล่านี้เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย เนื่องจากมีผู้ป่วยเกิน 1 พันคน และอัตราการเพิ่มของผู้ติดเชื้อเกิน 300-400 คนต่อวัน มีโอกาสเสี่ยงที่จะติดโรคติดต่ออันตรายสูง”

ส่วนกลุ่มประเทศที่ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางยังเป็นเท่าเดิม คือ 9 ประเทศ และ 2 เขตปกครองพิเศษ ประกอบด้วย จีน, ฮ่องกง, มาเก๊า, ไต้หวัน, เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, สิงคโปร์, อิตาลี, อิหร่าน, ฝรั่งเศส และเยอรมนี

“นอกจากนี้ ยังมีอีก 4 ประเทศ ที่อัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยในแต่ละวันมีมากกว่า 50 ราย เช่น สเปน, สวิสเซอร์แลนด์, เนเธอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา ซึ่งหากมีความจำเป็นต้องเดินทางไปใน 4 ประเทศนี้ ควรเลี่ยงไปยังสถานที่ชมุชน ระวังการรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น ใส่หน้ากากอนามัย และระวังบุคคลในครอบครัว แต่หากภายใน 14 วันหลังกลับจากประเทศเหล่านี้แล้วมีอาการต้องสงสัยให้รีบมาที่ รพ.” ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าว

สำหรับแนวทางการปฏิบัติตัวของผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตรายนั้น ยังใช้แนวทางการขอความร่วมมือให้กักตัวและสังเกตอาการอยู่ภายในบ้านให้ครบระยะ 14 วัน แต่หากไม่ปฏิบัติตาม เจ้าหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข มีอำนาจตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ ที่จะสามารถพาตัวไปยังสถานที่กักกันที่ทางราชการกำหนดไว้ ซึ่งขณะนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดของแต่ละจังหวัดจะเป็นผู้กำหนด

ยกเว้นกรณีมาจาก 2 เมืองของเกาหลีใต้ที่มีการแพร่ระบาดของโรคอย่างหนัก ขณะนี้กระทรวงกลาโหมและกระทรวงสาธารณสุขกำลังอยู่ระหว่างการจัดเตรียมสถานที่ ซึ่งอาจเป็นพื้นที่สัตหีบ ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี และเพชรบุรี

“ประกาศกระทรวงฯ ฉบับนี้จะช่วยให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการป้องกันควบคุมโรคกับผู้เดินทางซึ่งมาจากเขตติดโรคนอกราชอาณาจักร ได้อย่างมีประสิทธิภาพและความรวดเร็ว”

นพ.สุขุมกล่าว

ทั้งนี้ เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ (ผู้ว่าราชการจังหวัด,นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด,นายอำเภอ, สาธารณสุขอำเภอ, ผู้อำนวยการโรงพยาบาล และผู้ที่ได้รับแต่งตั้ง เป็นต้น) มีอำนาจดำเนินการตามกฎหมายได้ทันที เช่น นำผู้สงสัยว่าป่วย มารับการตรวจ แยกกัก หรือกักกัน ณ สถานที่ที่กำหนด ดำเนินการเอาผิดกับผู้ที่มีหน้าที่ต้องแจ้งเมื่อพบผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรค แต่ไม่ยอมแจ้งหรือไม่แจ้งภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด เป็นต้น

ในส่วนการดูแลแรงงานไทยที่เดินทางกลับจากเกาหลีใต้นั้น กระทรวงสาธารณสุข ได้ส่งหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดในฐานะประธานกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แจ้งมาตรการรองรับแรงงานไทยกลุ่มดังกล่าว ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกันดูแลแรงงานไทยกลุ่มนี้ และสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น มีแนวทางการดำเนินงาน ดังนี้

1.คัดกรองที่ท่าอากาศยาน (Entry Screening) หากผู้เดินทางมีอุณหภูมิร่างกายตั้งแต่ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป ร่วมกับมีอาการ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หอบเหนื่อย อย่างใดอย่างหนึ่ง จะส่งตัวไปที่โรงพยาบาลเพื่อตรวจรักษา ตามระบบ

กรณีตรวจไม่พบไข้ หากเดินทางมาจากพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ประเทศเกาหลีใต้(เมืองแทกูและคย็องยังเหนือ) เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านฯ จะประสานงานกับเจ้าหน้าที่ของกระทรวงคมนาคม นำตัวเข้ารับการกักกันเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน ณ พื้นที่ควบคุมโรคที่รัฐบาลกำหนด

ส่วนผู้ที่เดินทางมาจากเมืองอื่น จะส่งไปยังสถานที่หรือพื้นที่ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้ เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน โดยการกำกับของผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

2.การนำตัวผู้เดินทางไปยังพื้นที่ควบคุมโรค รวมถึงการกำหนดพื้นที่ควบคุมโรคหรือสถานที่หรือพื้นที่ที่กำหนด ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนด

3.การเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคต้องไม่น้อยกว่า 14 วัน ให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ตลอดจนปฏิบัติตามหลักเกณฑ์หรือวิธีการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์ในประเทศไทยขณะนี้ถือว่าดีขึ้น เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ ไม่ใช่การติดเชื้อกันเองภายในประเทศ ซึ่งมีโอกาสที่ไทยจะถอยกลับไปสู่ระยะที่ 1 ได้ หากทุกคนมีจิตสำนึกและมีวินัยร่วมกันดูแล ก็จะทำให้สามารถควบคุมโรคในประเทศได้

“ระยะหลังๆ เป็น Import มาจากต่างประเทศ (ผู้ป่วยติดเชื้อ) ตอนนี้คงไม่ต้องพูดถึงระยะ 3 แต่เราถอยไประยะ 1 ด้วยซ้ำ…จะเห็นว่า 6 เคสหลังนี้ เป็นการนำเข้ามาจากต่างประเทศ ตอนนี้เราอยู่ระยะ 2 ถ้าเราทำดีๆ เรามีโอกาสจะกลับไปสู่ระยะ 1 ได้ แต่เราจะไม่ประมาท ต้องช่วยกันดูแลต่อไป” นพ.สุขุมระบุ

นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในขณะนี้ยังไม่มีการบังคับใช้กฎหมาย ยกเว้นเฉพาะกับแรงงานไทยที่มาจากเกาหลีใต้ แต่ในอีก 1-2 วันนี้จะมีการยกระดับผู้ที่เดินทางกลับมาจากประเทศที่ได้ประกาศให้เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย เกาหลี, จีน (รวมมาเก๊า และฮ่องกง), อิตาลี และอิหร่าน จะต้องรายงานอาการต่อเจ้าหน้าที่กระทรวงด้วยข้อมูลที่แท้จริงทุก 14 วัน

“ตอนนี้ยังไม่ได้บังคับใช้กม. ยกเว้นแรงงานไทยที่มาจากเกาหลี ส่วนที่เหลือที่มาจาก 4 ประเทศ ที่จะทำใน 1-2 วันให้ทุกคนรายงานตัวผ่านช่องทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด หรือโทรเข้ามารายงานตัว แต่ต้องโทรมาทุกวัน และต้องรายงานตัวตามความจริง 14 วัน”

นพ.ธนรักษ์ระบุ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 มี.ค. 63)

Tags: , , , , ,
Back to Top