TALK: เทรดสไตล์ “หยง Monkey Trader”รายย่อยต้องรอด กฎเหล็ก “มือใหม่” รับมือเมื่อพลาดติดดอย (ตอน 2)

กระบวนการทางความคิดที่ดี (Mindset) มักนำพาไปสู่หนทางที่ประสบความสำเร็จแสวงหาผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหุ้น และวันที่ตลาดหุ้นทั่วโลกและตลาดหุ้นไทยโดนถล่มหนักเข้าสู่ภาวะตลาดหมี (Bear Market) อย่างเต็มรูปแบบจากผลกระทบการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19

“อินโฟเควสท์” พูดคุยมุมมองการลงทุนกับ”หยง” หรือนายธำรงชัย เอกอมรวงศ์ นักลงทุนอิสระ ซึ่งเป็นวิทยากรและเจ้าของหนังสือ”หยงเกิดมาเทรด”ที่มีประสบการณ์มากกว่า 10 ปีกับการเทรดสินทรัพย์เสี่ยงทั้งในไทยและต่างประเทศ แชร์มุมมองและข้อมูลที่เป็นประโยชน์คาดหวังว่านักลงทุนหลายๆท่านคงนำไปต่อยอดปรับใช้ตามสไตล์การลงทุนของตัวเองต่อไป

“หยง”มีมุมมองว่า จากประสบการณ์ลงทุนตลอดหลายปีที่ผ่านมาโดยส่วนตัวยึดมั่นกับกฎเหล็กที่ไม่สมควรทำเมื่อพอร์ตลงทุนเกิดความเสียหายหนัก คือ ห้ามนำเงินจากข้างนอกเข้ามาเติมในพอร์ตที่กำลังเสียหาย เงินข้างนอกหมายถึงตัวอย่างเงินที่ได้รับจากขายที่ดิน เงินกู้ เงินที่เก็บออม เป็นต้น เพราะหากนำเงินมาเติมแล้วเกิดความผิดพลาดก็ส่งผลให้พอร์ตลงทุนเสียหายหนักมากกว่าเดิม

หนึ่งในแนวทางแก้ไขเมื่อพอร์ตลงทุนเสียหายหนัก อันดับแรก คือ ต้องขายหุ้นออกมาบ้างบางส่วน หรือประมาณ 10-20% ของเงินลงทุนในหุ้นตัวนั้น เช่น สมมติซื้อหุ้นต้นทุน 10 บาท จำนวน 1 แสนหุ้น แต่ปัจจุบันราคาหุ้นร่วงมาเหลือแค่ 3 บาท กรณีเช่นนี้อาจต้องขายหุ้นออกมาสัก 2 หมื่นหุ้น ส่วนหนึ่งเพื่อช่วยลดแรงกดดันของตัวเอง หรือเรียกง่ายๆ ว่าปลดวาล์วให้เกิดความผ่อนคลายมากขึ้น และอีกส่วนหนึ่งก็เพื่อดึงเงินสดออกมาแล้วนำไปซื้อหุ้นปันผลดี หากเลือกถูกตัวก็เพิ่มเงินลงทุนไปเรื่อยๆ ทยอยปรับพอร์ตเพื่อให้ผลตอบแทนจากการลงทุนกลับมาดีขึ้น

“จากประสบการณ์แล้วหุ้นที่ลงมาลึกๆ ส่วนมากจะใช้เวลาถึง 10 เท่ากว่าที่ราคาจะเด้งกลับขึ้นมาอยู่ที่เดิม เช่น ถ้าหุ้นตัวนั้นใช้เวลา 3 เดือนในการร่วงลงมาอาจใช้เวลา 2-3 ปีกว่าจะกลับคืนมาอยู่ที่เดิม ดังนั้นนักลงทุนมือใหม่ควรต้องยอมรับว่าตลาดหุ้นมันโหด ถ้าคุณบริหารเงินไม่ดีหรือไม่ใช้ความระมัดระวัง มันเอาคุณหมดเนื้อหมดตัวจริงๆ ซึ่งคุณอย่าคิดว่าจะดึงเงินกลับคืนมาในระยะสั้น”

“ถ้าถามว่าจบวิกฤตโควิด-19 มีโอกาสหุ้นบางตัวจะเด้งขึ้นไป 5-10 เด้งมีหรือไม่ ก็ต้องบอกว่ามี แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้รับโอกาสนั้น เพราะนักลงทุนมือใหม่ยังบริหารความเสี่ยงไม่เป็น ยังบริหารโอกาสไม่เป็น ยกตัวอย่างเช่นถ้าคิดว่าหุ้นตัวนี้ดี ตัดสินใจเข้าไปซื้อครั้งเดียวในจำนวนหุ้นมากๆเพราะคิดว่าราคาหุ้นต้องขึ้นไปต่อ แต่เมื่อราคาหุ้นลงมาแรงๆไม่รู้ต้องทำอย่างไร เป็นสิ่งสะท้อนว่ายังไม่มีแนวทางบริหารความเสี่ยงที่ดี ดังนั้นนักลงทุนที่เป็นมือใหม่ที่อยากลงทุนด้วยตัวเองเริ่มต้นไม่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนเยอะ เพื่อไม่ให้มีความเสี่ยงมากเกินไปในช่วงเริ่มแรก”

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 มี.ค. 63)

Tags: , , , , ,
Back to Top