ดัชนีเชื่อมั่นธุรกิจท่องเที่ยว Q2/64 ต่ำกว่า Q1/64 แต่ใกล้เคียง Q2/63 แนะเร่งช่วยสภาพคล่อง

สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในไตรมาสที่ 2/64 อยู่ที่ 11 ซึ่งอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติมากที่สุด และปรับตัวลดลงมากจากไตรมาส 1/64 โดยอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงไตรมาส 2/63

สถานการณ์ในช่วงไตรมาส 2/64 ธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ยังเปิดบริการตามปกติมีเพียง 50% ลดลง 17% จากไตรมาส 1/64 โดยปิดกิจการชั่วคราว 36% เพิ่มขึ้น 22% และปิดกิจการถาวร 4% เพิ่มขึ้น 1% นอกจากนี้พบว่า 68% ของสถานประกอบการท่องเที่ยวมีจำนวนพนักงานเหลืออยู่ไม่เกิน 50% และ 60% ของสถานประกอบการท่องเที่ยวที่ยังเปิดอยู่จ่ายเงินเดือนหรือค่าจ้างแก่พนักงานไม่เกิน 50% จากที่เคยจ่าย ที่สำคัญคือ 75% ของสถานประกอบการท่องเที่ยวมีรายได้ไม่เกิน 10% เมื่อเทียบกับช่วงสถานการณ์ปกติ และ 82% ของโรงแรมทั่วประเทศมีอัตราการเข้าพักไม่เกิน 10%

นอกจากนี้พบว่า 74% ของผู้ประกอบการที่ยังเปิดบริการในไตรมาสนี้มีทุนสำรองให้ใช้ได้อีกไม่เกิน 6 เดือน สะท้อนให้เห็นว่า หากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น คาดว่าอีก 6 เดือนข้างหน้าจะมีสถานประกอบการที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเหลือรอดอยู่เพียงประมาณ 13% ของทั้งประเทศเท่านั้น หากไม่ได้รับการเยียวยาหรือไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนหรือ Soft Loan โดยผู้ประกอบการ 73% ระบุว่าต้องการเงินกู้มาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในวงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาท

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ไตรมาส 3/64 อยู่ที่ 33 สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการคาดว่าผลประกอบการในไตรมาสหน้าจะดีขึ้นกว่าไตรมาสนี้เล็กน้อย แต่สถานการณ์ท่องเที่ยวยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติมากที่สุด

นายวิชิต ประกอบโกศล รองประธาน สทท. กล่าวถึงการประมาณการนักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวในปีนี้ว่าทำได้ยากมาก เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง โดย 2 ปัจจัยหลัก คือ แผนการฉีดวัคซีนและแผนการเปิดประเทศของทั้งไทยและต่างประเทศ

 โดยประเมินว่า หากประเทศไทยสามารถฉีดวัคซีนได้เกิน 70% และสามารถเปิด 10 จังหวัดนำร่อง รวมถึงกรุงเทพมหานครได้ภายใน 120 วันและประเทศเป้าหมายรวมทั้งจีนเปิดการเดินทางเข้าประเทศไทยแบบไม่ต้องกักตัว จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาประมาณ 3 ล้านคน และสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 212,000 ล้านบาท

นายวิชิต กล่าวว่า มองเห็นโอกาสที่ค่อนข้างมากที่ประเทศจีนจะผ่อนคลายมาตรการให้ประชาชนสามารถเดินทางออกนอกประเทศเพื่อท่องเที่ยวได้ จากสิ้นไตรมาส 2/64 ประชากรในประเทศจีนได้รับวัคซีนแล้ว 1,200 ล้านโดส โดยขณะนี้จีนมีศักยภาพในการฉีดวัคซีน 500 ล้านโดส/เดือน ดังนั้นคาดการณ์ว่าอีก 2 เดือนข้างหน้า ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศจีนจำนวนกว่า 1,400 ล้านคนจะได้รับวัคซีนคนละอย่างน้อย 1 โดส

แต่หากเปิดเพียง 9 จังหวัดและจีนยังไม่เปิดประเทศ อาจจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเหลือเพียง 1 ล้านคน คิดเป็นรายได้ประมาณ 83,000 ล้านบาท

นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธาน สทท. กล่าวว่า ภาคการท่องเที่ยวได้เตรียมความพร้อมเพื่อตอบรับแผนการเปิดประเทศภายใน 120 วัน ของรัฐบาล โดยได้แบ่งยุทธศาสตร์ออกเป็น 4 ส่วน คือ

  1. ด้านการป้องกัน เพื่อรองรับการเปิดประเทศในอีก 120 วัน ในช่วงปลายไตรมาส 4/64 จะต้องมีการฉีดวัคซีนให้ได้ 70% ใน 10 จังหวัดนำร่อง รวมถึงมีการจัดหาวัคซีนเข็มที่ 3 เพื่อรองรับโรคโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่
  2. การเยียวยา โดยการขับเคลื่อนให้ผู้ประกอบการเข้าถึง Soft Loan ตามนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สนับสนุนค่าใช้จ่าย และ Payroll ในการรีสตาร์ทแบบ CoPay
  3. การพัฒนา โดยการจัดอบรมสัมมนา Up-skill และ Re-skill เพื่อทำการรีสตาร์ทจังหวัดภูเก็ต โดยขณะนี้มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการอบรมแล้ว 700 คน นอกจากนี้ในอนาคตยังมีงบสำหรับการดูแล Supply Side เพื่อดูแลระบบขนส่งในการซ่อมรถ และเรือให้แก่ผู้ประกอบการรายเล็กด้วย
    • สำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่ ได้มีการพูดคุยนำร่องในจังหวัดภูเก็ต เรื่องการเปิดโรงแรม เช่นให้ทยอยเปิดโรงแรม ไม่เปิดพร้อมกันทั้งหมด 1,000 แห่ง และเรียกพนักงานกลับมาเพียงบางส่วนก่อน เพื่อดำเนินการให้พนักงานที่อยู่ในระบบประกันสังคม (SHA Plus)
  4. การฟื้นฟู โดยการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศด้วยโครงการทัวร์เที่ยวไทยและเราเที่ยวด้วยกันเฟส 3, โครงการส่งเสริมการจัดประชุมสัมมนา, โครงการสนับสนุนงบประมาณด้านการเดินทาง รวมถึงสนับสนุนการเตรียมความพร้อมในการใช้ Digital Platform และ Influencer ให้แก่ผู้ประกอบการ

“จังหวัดภูเก็ตมีความพร้อมที่จะเปิดเมืองแล้ว จากการฝึกซ้อมในทุกกระบวนการตั้งแต่การปฎิบัติตัวของสนามบิน จนถึงการปฎิบัติตัวของโรงแรม โดยทีมป้องกันได้เร่งสนับสนุนการฉีดวัคซีนให้ได้ตามเป้าหมาย 70% แล้ว และการยกระดับมาตรฐานด้านสุขอนามัย SHA Plus โดยเริ่มจาก Phuket Sandbox เป็นที่แรก หากโมเดล Phuket Sandbox สำเร็จจะเริ่มนำร่องในพื้นที่ใกล้เคียงในระยะเวลา 15 วัน เช่นในจังหวัดสมุย กระบี่ และพังงา เป็นต้น พร้อมกันนี้ยืนยันว่าในวันที่ 1 ก.ค. นี้จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาไฟล์ทแรกอยู่ที่ประมาณ 500 คน”

นายชำนาญ กล่าว

นอกจากนี้เพื่อการขับเคลื่อนการเปิดประเทศ ยังต้องมีการปรับปรุงเกณฑ์การกู้เงินให้ SME เข้าถึงได้ และจัดตั้งกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทย รวมทั้งต้องของบประมาณสนับสนุนการพัฒนาบุคลากร และผู้ประกอบการผ่าน Tourism Labor Bank พร้อมทั้งควรมีการทำ Travel Bubble และสนับสนุนตลาด Inbound เช่น Insurance, Covid Test และ Ease of Traveling เป็นต้น

“ถึงแม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อ และคลัสเตอร์การระบาดของโรคโควิด-19 ยังมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่มองว่าไม่กระทบการเปิด Phuket Sandbox เนื่องจากคลัสเตอร์ที่มีการระบาดอยู่ ณ ปัจจุบันเป็นคลัสเตอร์โรงงาน และกลุ่มก่อสร้างเป็นส่วนใหญ่”

นายชำนาญ กล่าว

นายชำนาญ กล่าวว่า การเปิดประเทศใน 120 วันนั้น จะสามารถเร่งให้การจ้างงานให้กลับมาโดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ทั้งธุรกิจสายการบิน และธุรกิจโรงแรม ที่เริ่มมีการเรียกพนักงานกลับมาหลังจากการประกาศเปิดประเทศใน 120 วัน นอกจากนี้คาดว่าการเปิดประเทศครั้งนี้จะส่งผลให้สถานประกอบการที่ปิดชั่วคราวจำนวน 36% สามารถกลับมาเปิดตามปกติได้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 มิ.ย. 64)

Tags: , , , , , ,
Back to Top