ตร.เตือนตรวจสอบก่อนรับเพื่อนในสื่อออนไลน์ ป้องกันตกเป็นเหยื่อถูกแฮกข้อมูล

พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (รอง ผบก.ปอท.) ในฐานะรองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันประชาชนสามารถเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์ได้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะแพลตฟอร์มซึ่งเป็นที่นิยม เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ ไอจี ทวิตเตอร์ เป็นต้น

โดยสามารถกดรับเพื่อนในโลกออนไลน์มาเป็นเพื่อนในสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งหลายคนไม่มีการคัดกรองบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ที่มาขอแอด หรือขอเป็นเพื่อน ทำให้มีบุคคลที่ไม่หวังดี ใช้บัญชีอวตาร (Avatar) ในลักษณะที่เป็นบัญชีไร้ตัวตน อาจใช้รูปผู้อื่น ชื่อผู้อื่น ชื่อที่ไม่ใช่ชื่อคนทั่วไป เป็นคำกลอน หรือใช้รูปการ์ตูน รูปสิ่งของ หรือ ภาพวิวทิวทัศน์ ฯลฯ มาขอเป็นเพื่อนในโลกออนไลน์

หากเรารับบัญชีเหล่านี้เป็นเพื่อนในโลกออนไลน์ เราก็จะถูกส่องหรือติดตามพฤติกรรม ทัศนคติที่เราโพสต์ สถานที่ที่เราไป หรือแม้กระทั่งบ้านที่พักอาศัย สมาชิกในครอบครัว กิจวัตรประจำวัน ฯลฯ ซึ่งมีความเสี่ยงที่ถูกประทุษร้ายทั้งในโลกออนไลน์และโลกความเป็นจริง เช่น ถูกเข้าถึงข้อมูลของเราโดยมิชอบ (Hack) , การหลอกลวงฉ้อโกงในรูปแบบต่างๆ (Fraud,Romance Scam,Email Scam), การแชร์ข่าวหรือข้อมูลปลอม(Fake News) , นำภาพหรือชื่อเราไปเปิดบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ปลอม อาจถูกข่มขู่ คุกคาม หรือ ประทุษร้ายต่อทรัพย์หรือร่างกาย เป็นต้น

รองโฆษก ตร. กล่าวว่า จากสถิติการรับแจ้งความของกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(บก.ปอท.) ในครึ่งปีแรกของปี 2564 พบว่า สื่อสังคมออนไลน์ที่มิจฉาชีพใช้ประทุษร้ายมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ เฟซบุ๊ก ,ไลน์ ,ไอจี ตามลำดับ ซึ่ง พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบตร.) มีความห่วงใยประชาชน จึงได้มีนโยบายในการสร้างความรับรู้ให้กับประชาชนในการป้องกันตัวเองมิให้ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรในทุกรูปแบบ

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงฝากเตือนประชาชนให้ระมัดระวังการรับเพื่อนในสื่อสังคมออนไลน์ ดังนี้

  1. ไม่ควรรับคนที่ไม่รู้จักเป็นเพื่อน
  2. หากต้องการรับที่ไม่รู้จักมาเป็นเพื่อนในโลกออนไลน์ ให้ตรวจสอบให้แน่ใจว่าเป็นบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริง มิใช่เป็นบัญชีอวตาร เช่น มีการโพสต์เป็นปกติหรือไม่ หรือมีแต่การแชร์ข่าวต่างๆ เป็นต้น และพิจารณาให้ดีก่อนว่าจะรับบุคคลดังกล่าวเป็นเพื่อนหรือไม่
  3. ไม่ควรรับบัญชีที่ใช้ภาพวิวทิวทัศน์ หรือไม่ใช้ชื่อ นามสกุล เป็นเพื่อน
  4. หากเป็นคำขอเป็นเพื่อนจากบุคคลที่เราไม่รู้จัก และบัญชีดังกล่าวใช้รูปโปรไฟล์ที่ดูดี หน้าตาดี มีฐานะ หรืออ้างว่าเป็นชาวต่างชาติ ให้ระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากมีความเป็นไปได้สูงที่จะเป็นผู้ไม่หวังดีแอบอ้างเป็นบุคคลตามภาพ เพื่อเข้ามาแสวงหาประโยชน์จากเรา
  5. ตรวจสอบประวัติการโพสต์ รูปภาพ การเช็คอินสถานที่ต่าง ๆ ตลอดจนวันที่สร้างบัญชี หากเป็นบุคคลจริง มักจะมีการโพสต์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องส่วนตัว มีการแสดงความคิดเห็นในโพสต์โดยบุคคลในครอบครัว หรือเพื่อน และบัญชีดังกล่าวถูกสร้างมาเป็นเวลานานพอสมควร หากเข้าเงื่อนไขดังกล่าว ก็มีความเป็นไปได้สูงที่บัญชีดังกล่าวจะเป็นบัญชีของจริง
  6. ไม่ควรตั้งค่าสาธารณะและไม่ควรเปิดเผยข้อมูลที่เป็นเรื่องส่วนตัวมากเกินไป เช่น ทรัพย์สินมีค่า บ้านพักอยู่ที่ใด มีสมาชิกในบ้านกี่คน ช่วงเวลาไหนที่อยู่บ้านคนเดียว หรือไม่มีคนอยู่บ้าน เป็นต้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ก.ค. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top