ศบค.ให้ร้านยาขายชุดตรวจ Antigen test kit แต่ห้ามร้านสะดวกซื้อ-เตือนระวังของออนไลน์

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงผลการประชุม ศบค.ว่า แม้ปัจจุบันจะมีการระดมตรวจหาเชื้อโควิด-19 อย่างมากในพื้นที่เสี่ยง ทั้งผู้ที่ Walk-in และการตรวจคัดกรองเชิงรุก รวมวันละ 7-8 หมื่นคน แต่ยังไม่เพียงพอ ดังนั้น จึงอนุญาตให้ใช้ชุดตรวจ Antigen test kit นอกเหนือจากการตรวจแบบ RT-PCR เพื่อช่วยให้การตรวจครอบคลุมมากที่สุด เป็นประโยชน์ต่อการค้นหาผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อ เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการรักษาให้เร็วที่สุด

ทั้งนี้ ชุดตรวจดังกล่าวอาจจะไม่มีความแม่นยำมากนัก แต่การให้ประชาชนได้เข้าถึงชุดตรวจดังกล่าวดีกว่าไม่ได้ตรวจ และหากพบว่ามีผลบวกก็ให้ไปติดต่อสถานพยาบาลใกล้บ้าน โดยไม่ต้องไปโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ซึ่งจะมีการดูแลและประเมินระดับความรุนแรงตามอาการ ส่วนกรณีผลเป็นลบและมีประวัติใกล้ชิดผู้ที่ติดเชื้อ หรือมีประวัติเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง ก็ยังจำเป็นต้องตรวจซ้ำในอีก 3-5 วันถัดไป

สำหรับชุดตรวจ Antigen test kit ถือเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ จึงแนะนำให้ไปตรวจที่สถานพยาบาล หรือสามารถไปซื้ออุปกรณ์ที่ร้านขายยา แต่ไม่อนุญาตให้ขายในร้านสะดวกซื้อ ส่วนที่มีการสั่งซื้อออนไลน์อุปกรณ์เหล่านี้จำเป็นต้องมีการตรวจสอบและเป็นที่ยอมรับตามมาตรฐาน ดังนั้นการไปซื้อในออนไลน์หรือแหล่งอื่นๆ ที่ไม่ใช่ร้านขายยาขอให้ระมัดระวัง เพราะหากเป็นชุดตรวจที่ไม่มีคุณภาพอาจแปลผลคลาดเคลื่อน และอาจจะทำให้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อได้

พญ.อภิสมัย เน้นย้ำว่า การอนุญาตให้มีการจำหน่ายชุดตรวจในร้านขายยา เพื่อให้มีเภสัชกรให้คำแนะนำที่ถูกต้องกับประชาชน ทั้งในแง่การตรวจ การแยกกัก และการเฝ้าสังเกตอาการตนเอง

ส่วนในกรณีโรงงาน สถานประกอบการ ที่มีพนักงานเป็นจำนวนมาก 50-100 คน สนใจจัดหาอุปกรณ์เหล่านี้ไปตรวจหาเชื้อเชิงรุกให้กับพนักงานนั้น รมว.แรงงาน ชี้แจงว่า สถานประกอบการ โรงงานที่มีบุคลากรเกิน 50 คนโดยกฎหมายจะมีสถานพยาบาลกำกับสถานประกอบกิจการนั้นอยู่แล้ว จึงรับไปดำเนินการให้โรงงาน สถานประกอบการสามารถจัดหาเพื่อตรวจเชื้อให้กับบุคลากรได้ด้วย

พญ.อภิสมัย ยังกล่าวถึงมาตรการการแยกกักที่บ้าน หรือ Home Isolation ว่า จากการศึกษาของโรงเรียนแพทย์และกรมการแพทย์ ได้ทดลองใช้ระบบดังกล่าวมาระยะหนึ่ง จากกลุ่มตัวอย่างกว่า 1,000 ตัวอย่างมีผลการสังเกตอาการผู้ป่วยเป็นที่น่าพอใจ ทำให้มีความมั่นใจว่าจะสามารถดูแลผู้ป่วยจากที่บ้านได้ตามมาตรฐานและมีความปลอดภัยแน่นอน

โดยผู้ป่วยที่แยกกักที่บ้านจะได้รับอุปกรณ์ตรวจวัดอุณภูมิ ตรวจวัดอ็อกซิเจน มีการโทรศัพย์พูดคุยเพื่อประเมินอาการจากบุคลาการทางการแพทย์ และมีการจัดเครื่องอุปโภค อาหารและยา เช่น ยาฟาวิพิราเวียร์ หรือยาอื่นๆที่มีความจำเป็น

ด้านการกักตัวในชุมชน หรือ Community Isolation สามารถทำได้กรณีมีการติดเชื้อในชุมชน หรือมีการติดเชื้อในโรงงานและมีสถานที่พร้อมที่จะจัด Community Isolation ได้เอง ส่วน กทม.มีการจัดศูนย์พักคอยรอการส่งต่อ มีแล้ว 21 ศูนย์ สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 2,950 เตียง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ก.ค. 64)

Tags: , , , , , ,
Back to Top