LINE OA เดินหน้าพัฒนาแพลตฟอร์มส่งเสริมศก.ไทยผ่าน 3 กลุ่มธุรกิจหลัก

นายนรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการพาณิชย์ บริษัท ไลน์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด (LINE ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ทิศทางกลุ่มธุรกิจ LINE for Business ในปี 64-65 บริษัทฯ จะมุ่งเป็นแพลตฟอร์มหลักที่ส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ผ่านกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SME) ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจไทย ใน 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ กลุ่มธุรกิจอาหาร กลุ่มธุรกิจค้าปลีก และกลุ่มบริการสาธารณะ ด้วยส่วนแบ่งใน GDP มากถึง 45% และมีจำนวนมากกว่า 3 ล้านรายทั่วประเทศ

โดยผลการสำรวจจาก สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เผยถึงกลุ่มธุรกิจ SME ที่ได้รับผลกระทบหนักสุดในช่วงวิกฤตโควิด-19 คือ ธุรกิจอาหาร ซึ่งส่งผลต่อ GDP ลดลงถึง 37% รองลงมาคือ ธุรกิจขนส่ง และค้าปลีก ในอัตราส่วนที่ลดลง 21% และ 3.7% ตามลำดับ

ขณะที่ในช่วงวิกฤติโควิด-19 นี้ LINE พบว่า อัตราการเติบโตของ LINE OA โดยธุรกิจกลุ่มร้านอาหารมีอัตราการเปิดใช้งาน LINE OA เพิ่มขึ้นสูงสุดสุงถึง 212% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รองลงมาคือธุรกิจกลุ่มค้าปลีกที่ 191% จึงทำให้ LINE ประเทศไทยมุ่งพัฒนาแพลตฟอร์มและเครื่องมือเพื่อขับเคลื่อนกลุ่มธุรกิจเหล่านี้โดยเฉพาะ ด้วยการพัฒนาจากวิศวกรไทยเองเพื่อที่จะตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในไทยได้ตรงจุด ทำให้ยกระดับการใช้งาน LINE จากแค่เครื่องมือในการสื่อสาร เป็นเครื่องมือในการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจ เพื่อที่จะสามารถแข่งขันในโลกยุคหลังโควิด-19 ต่อไป

โดยกลุ่มธุรกิจอาหาร ทาง LINE ประเทศไทย ออกแบบ “MyRestuarant” เครื่องมือช่วยเสริมประสิทธิภาพ LINE OA สำหรับธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทยโดยเฉพาะ ในการจัดการหน้าร้าน ไปถึงการจัดการหลังร้าน การวิเคราะห์ข้อมูลจากอาหารที่สั่ง และ การเชื่อมถึงการจัดส่งกับบริการ LINE Man โดยตรง

กลุ่มธุรกิจค้าปลีก ทาง LINE ประเทศไทย ออกแบบ “MyShop” เครื่องมือที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพ LINE OA ด้านการขายของ ที่ใช้งายที่สุดเทียบเคียงกับการใช้ LINE ด้วยระบบหน้าร้านออนไลน์ ระบบจัดการสินค้าคงคลัง รองรับการซื้อสินค้าผ่านการพูดคุย หรือ Chat Commerce แบบเต็มรูปแบบ มีระบบการชำระเงินเชื่อมต่อกับ Rabbit LINE Pay หรือระบบการเชื้อเชิญลูกค้ากับ LINE POINT รวมไปถึงระบบการโฆษณากับ LINE ADS PLATFORM อีกทั้งระบบขนส่งสินค้ากับทุกบริษัท โดยเฉพาะ ไปรษณีย์ไทย โดยในปีที่ผ่านมา มีร้านค้าเปิดใช้งาน MyShop เพิ่มขึ้นกว่า 7 เท่า มีร้านค้าที่แอคทีฟเพิ่มขึ้นถึง 257% (เปรียบเทียบการเติบโต YoY เดือนเม.ย. ปี 63–64) และมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (GMV) อยู่ที่ประมาณ 2,000 บาท โดยธุรกิจด้านแฟชั่นและเครื่องสำอางเป็นกลุ่มสินค้าที่เปิดร้าน MyShop สูงสุด

สำหรับธุรกิจ SME แฟชั่น ทาง LINE ยังมีโครงการ LINE FASHION ANNUALE ที่วางแผนจะจัดขึ้นในปีนี้ เพื่อผลักดันผู้ประกอบการไทยไปสู่เวทีโลก

นอกจากภาคธุรกิจแล้ว กลุ่มองค์กรที่สำคัญที่สุดต่อการขับเคลื่อนประเทศไทย คือ กลุ่มบริการสาธารณะต่างๆ ด้วยศักยภาพของแพลตฟอร์ม LINE ที่เข้าถึงคนไทยกว่า 49 ล้านคน LINE OA จึงกลายเป็นตัวกลางสำคัญสำหรับกลุ่มบริการสาธารณะ และองค์กรภาครัฐมากมาย ในการอัพเดทข้อมูล ให้ความรู้ และให้บริการด้านต่างๆ แก่ประชาชนคนไทย อาทิ โรงพยาบาล สาธารณูปโภค น้ำ ไฟ การบริหารส่วนจังหวัด อำเภอ ชุมชน รวมถึงหน่วยงานราชการ โดยเฉพาะในสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 เช่น การนัดหมายโรงพยาบาล การแจ้งและรับชำระค่าไฟค่าน้ำ การรับข้อมูลข่าวสารสำคัญของชุมชน โดยไม่ต้องเดินทางมายังสถานที่ให้บริการ เป็นต้น ซึ่ง LINE เล็งเห็นว่าบริการสาธารณะต่างๆ เหล่านี้ แม้จะไม่ได้ส่งผลโดยตรงต่อภาคเศรษฐกิจ แต่ก็ถือเป็นหัวใจสำคัญต่อประเทศไทยที่ควรผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนสู่โลกดิจิตอลเพื่อประโยชน์ต่อองค์รวมของประเทศด้วยเช่นกัน

“วิกฤตโควิด 19 ทำให้ภาคธุรกิจปรับตัวมาเป็นดิจิตอลกันแทบทั้งหมด หากแต่ยังมีความท้าทายรออยู่อีกมาก LINE จึงพร้อมที่จะเป็นเครื่องมือหลักในการทำธุรกิจของคนไทย เป็นตัวกลางเชื่อมโยงการทำธุรกิจออฟไลน์สู่โลกออนไลน์ ผลักดันให้ทุกองค์กรธุรกิจสามารถสร้างสรรค์ประสบการณ์ที่ดีสำหรับผู้ใช้งาน เพิ่มประสิทธิภาพต่อยอดสู่การเติบโตที่ยั่งยืนในยุคดิจิตอล เพื่อเป้าหมายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจองค์รวมของไทยให้พร้อมในการแข่งขันกับธุรกิจในตลาดโลก บนบริบทใหม่ที่จะมาถึง” 

นายนรสิทธิ์ กล่าว

อนึ่ง LINE ให้บริการลูกค้าธุรกิจ และ SME ภายใต้แบรนด์ LINE for Business ผ่านโซลูชั่นหลักคือ LINE Official Account (LINE OA) ที่พัฒนามาอย่างต่อเนื่องทั้งในส่วนฟีเจอร์ ฟังก์ชั่นและเครื่องมือมากมายที่สามารถต่อยอดเพื่อตอบโจทย์แต่ละกลุ่มธุรกิจบนโลกออนไลน์ โดยปัจจุบัน LINE OA เติบโตอย่างก้าวกระโดด มีจำนวนมากถึง 4 ล้านบัญชี จาก 3 ล้านบัญชีในปีก่อน พร้อมการเปิด API ให้ทุกกลุ่มธุรกิจสามารถเชื่อมต่อ LINE กับบริการของตนเองได้โดยง่าย

ในประเทศไทย กลุ่มธุรกิจที่ LINE ได้เข้าไปมีบทบาทในการขับเคลื่อนสู่ดิจิตอลอย่างเห็นได้ชัดเป็นกลุ่มแรกๆ คือ กลุ่มธุรกิจการเงิน เช่น ธนาคารกสิกร ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรี ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือธนาคารธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) เป็นต้น จนปัจจุบัน ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการใช้งาน Digital Banking มากที่สุดในโลก (อ้างอิง: Digital 2021 Report โดย We are Social & Hootsuite) โดย LINE พบยอดเติบโตของการใช้งาน Digital Banking ผ่าน LINE API ตั้งแต่ปี 62 มาจนถึงต้นปี 64 ในรายเดือน (Monthly API Message) เพิ่มขึ้นถึง 80% โดยการให้บริการ Digital Banking service แทนที่การให้ข้อมูลของ Banking service เพียงอย่างเดียวเติบโตอย่างก้าวกระโดดมากขึ้นถึง 2.8 เท่าในช่วงเวลาดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวของกลุ่มธุรกิจการเงินและธนาคารในไทยในการใช้ LINE OA จากช่องทางการสื่อสารเป็นการให้บริการ Digital Banking และสร้างความคุ้นชินและเตรียมพร้อมให้ผู้บริโภคทั้งประเทศ สู่การบริการ Digital Banking อย่างเต็มรูปแบบในปัจจุบัน

ในขณะเดียวกัน วิกฤตโควิด-19 ได้กลายเป็นปัจจัยเร่งให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว หนึ่งในกลุ่มธุรกิจที่เห็นโอกาสและได้ปรับตัวก้าวเข้าสู่โลกดิจิตอล คือ กลุ่มธุรกิจสินค้า Luxury ในประเทศไทย โดยในช่วงปี 62-64 ที่ผ่านมา มีแบรนด์สินค้าหรูหันมาเปิดใช้งาน LINE OA เป็นช่องทางในการเข้าถึงฐานลูกค้าคนไทยเพิ่มขึ้นโดยรวมถึง 60% โดยแบรนด์หรูที่เปิดใช้งาน LINE OA มากที่สุดคือ กลุ่มเครื่องสำอาง เป็นสัดส่วน 54% ต่อมาคือแฟชั่นในอัตราส่วน 35% และยานยนต์ที่สัดส่วน 11%

นอกจากนี้ ยังพบว่าแบรนด์กลุ่มแฟชั่น แม้จะมีจำนวนผู้ติดตามโดยเฉลี่ยต่ำที่สุดเทียบกับแบรนด์กลุ่มเครื่องสำอางและยานยนต์ แต่กลับมียอดการพูดคุย สนทนาแบบหนึ่งต่อหนึ่งผ่าน LINE OA สูงที่สุดสูงถึง 5 พันข้อความในหนึ่งวัน มากกว่าแบรนด์กลุ่มแฟชั่นถึง 60% ชี้ให้เห็นถึงการปรับเปลี่ยน จากการบริการแบบตัวต่อตัว ในห้าง เป็นการบริการ สนทนาออนไลน์แบบตัวต่อตัว หรือ Chat Commerce แทน ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ โดยเฉพาะหลากหลายแบรนด์ดังชั้นนำระดับโลกในโลกตะวันตก สู่บริบทของการทำธุรกิจออนไลน์แบบโลกตะวันออก ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในการทำการตลาดของแบรนด์หรูชั้นนำระดับโลกเหล่านี้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ก.ค. 64)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top