CONSENSUS: โบรกฯเชียร์ ซื้อ CPALL ราคาหุ้น underperform นานแล้ว-เล็งผลงานฟื้นใน H2/64

โบรกเกอร์ต่างเชียร์”ซื้อ”หุ้นบมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) ราคาหุ้น underperform มานานแล้ว ทั้งที่ปัจจัยพื้นฐานมั่นคง และเป็นเบอร์ 1 ของร้านสะดวกซื้อ แม้จะได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์หลังโควิดในประเทศระบาดหนัก แต่สุดท้ายก็เชื่อว่าจะควบคุมการแพร่ระบาดได้ ซึ่งก็ได้ให้น้ำหนักในช่วงปลายปีที่สถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 คลี่คลายลงได้ และมีความคาดหวังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปีด้วย รวมถึงน่าจะได้แรงหนุนจากพ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท

ส่วนผลดำเนินงานงวดไตรมาส 2/64 คาดว่าจะมีกำไรสุทธิในช่วง 1,829-2,117 ล้านบาท ลดลงทั้ง QoQ และลดลง YoY รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคไม่ดี และมีผลกระทบจากภาระต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจากการปรับแหล่งที่มาของเงินทุนจากการซื้อโลตัส

อย่างไรก็ดี ผลประกอบการในช่วงครึ่งปีหลัง (H2/64) จะฟื้นตัวขึ้นจากครึ่งปีแรก (H1/64) หลังจากการฉีดวัคซีนได้มากขึ้น ประกอบกับมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยและเพิ่มกำลังซื้อ การลดลงของลูกค้าเข้าร้านถูกชดเชยส่วนหนึ่งจากการขาย Delivery ของร้านเซเว่นฯ นอกจากนั้น การรีไฟแนนซ์คาดว่าจะประหยัดดอกเบี้ยจ่ายเกือบ 300 ล้านบาท/ไตรมาส ตั้งแต่ไตรมาส 3/64 เป็นต้นไป ขณะที่ส่วนแบ่งกำไรจากโลตัสคาดว่าจะค่อยๆ เร่งตัวดีขึ้นเช่นกันเมื่อการระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย

พร้อมคาดปีนี้ (2564) จะมีกำไรสุทธิอยู่ในช่วง 11,843-14,000 ล้านบาท แต่คาดว่าจะกลับมาเติบโตดีในปี 2565 หลังจากที่เปิดประเทศได้ทำใหยอดขายกลับมา ซึ่งปีนี้คงจะเป็น Bottom แล้ว

หุ้น CPALL ปิดเช้าที่ 57.50 บาท ลดลง 1.50 บาท (-2.54%) ขณะที่ดัชนี SET ลบ 0.43 จุด

โบรกเกอร์คำแนะนำราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น)
ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบีซื้อ75.50
ธนชาตซื้อ75.00
เคทีบีเอสที ซื้อ74.00
ทิสโก้ซื้อ72.00
หยวนต้าซื้อ71.00
โนมูระ พัฒนสินซื้อ68.00
เมย์แบงก์ กิมเอ็งซื้อ67.00
 เอเชีย เวลท์ ซื้อ67.00

นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ กล่าวว่า แม้ CPALL จะได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์หลังโควิดในประเทศระบาดหนัก แต่สุดท้ายก็เชื่อว่าจะควบคุมการแพร่ระบาดได้ ซึ่งก็ได้ให้น้ำหนักในช่วงปลายปีที่สถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 คลี่คลายลงได้ และมีความคาดหวังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปีด้วย รวมถึงน่าจะได้แรงหนุนจากพ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท

ส่วนผลดำเนินงานงวดไตรมาส 2/64 คาดว่าจะมีกำไรสุทธิ 1,862 ล้านบาท ลดลง 28% QoQ และลดลง 36% YoY รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคไม่ดี และบางสาขาก็ปิดไปด้วย

อย่างไรก็ดี ปีนี้ (2564) คาดว่าจะมีกำไรสุทธิ 14,000 ล้านบาท ลดลง 13% YoY แต่คาดว่าจะกลับมาเติบโต 18% ในปี 2565 หลังจากที่เปิดประเทศได้ทำใหยอดขายกลับมา ซึ่งปีนี้คงจะเป็น Bottom แล้ว โดยมอง 6-12 เดือนข้างหน้าสถานการณ์น่าจะดีขึ้น

นอกจากนี้ ราคาหุ้น CPALL ก็ underperform มานานแล้ว ทั้งที่ปัจจัยพื้นฐานมั่นคง และเป็นเบอร์ 1 ของร้านสะดวกซื้อ

บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ฯคาดไตรมาส 2/64 CPALL จะมีกำไรราว 2 พันล้านบาท (-18%QoQ,-28%YoY) มีผลกระทบจากภาระต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจากการปรับแหล่งที่มาของเงินทุนจากการซื้อโลตัส

จึงแนะนำ “ทยอยซื้อ” คาดผลประกอบการไตรมาส 2/64 ผ่านจุดต่ำสุด และคาดช่วงครึ่งปีหลัง (H2/64) แรงกดดันจากดอกเบี้ยจ่ายลด และคาดหวังการแพร่ระบาดโควิด-19 คลี่คลาย พร้อมมองปัจจัยเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังควบคุมไม่ได้ภาครัฐเพิ่มมาตรการเข้มข้นขึ้น

ด้านบล.เอเชีย เวลท์ ระบุคาดกำไรสุทธิไตรมาส 2/64 อยู่ที่ 1,829 ล้านบาท ลดลง 37%YoY และ 30%QoQ กำไรที่ลดลงเป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่สูงขึ้นราว 1,000 ล้านบาท จากค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่เป็นค่าใช้จ่ายครั้งเดียวเกี่ยวกับ Bridging Loan ของดีลโลตัส ทำให้คาดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยอยู่ที่ 3,901 ล้านบาท เป็นปัจจัยกดดันกำไรสุทธิไตรมาส 2/64 ขณะที่คาด SSSG ในช่วงไตรมาส 2/64 อยู่ที่ -1% เทียบกับไตรมาส 2/63 และไตรมาส 1/64 ที่ -20.2% และ -17.1% ตามลำดับ ทำให้คาดรายได้รวมอยู่ที่ 126,620 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3%YoY แต่ลดลง 2%QoQ

CPALL ยังได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการแพร่ระบาดที่รุนแรงขึ้นหลังเทศกาลสงกรานต์ ส่งผลให้มีการ Work from Home การเรียนการสอนแบบออนไลน์ รวมถึงมาตรการช่วยเหลือผู้บริโภคของรัฐบาล (เราชนะ และ ม.33 เรารักกัน) เป็นปัจจัยกดดันผลประกอบการ คาดอัตรากำไรขั้นต้นไตรมาส 2/64 ทรงตัว YoY และ QoQ โดยคาดอัตรากำไรขั้นต้นไตรมาส 2/64 อยู่ที่ 21.5% ใกล้เคียงกับไตรมาส 2/63 และไตรมาส 1/64 ที่ 21.5% และ 21.2% ตามลำดับ จากโปรโมชั่นกระตุ้นยอดขายกดดันอัตรากำไรและสัดส่วนยอดขายของ MAKRO ที่เพิ่มขึ้น (อัตรากำไรต่ำ)

พร้อมปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 2564-2565 ลง 19% และ 9% เป็น 11,843 ล้านบาท และ 16,268 ล้านบาท ตามลำดับ จากการปรับประมาณการรายได้รวมปี 2564-2565 ลง 5% และ 6% เป็น 520,254 ล้านบาท และ 545,183 ล้านบาท ตามลำดับ เพื่อสะท้อนกำลังซื้อที่ยังชะลอตัว จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่

ทั้งนี้ ยังแนะนำ “ซื้อ” เนื่องจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่รุนแรงและรวดเร็ว ส่งผลให้มีมาตรการควบคุมโรคระบาดในช่วง ก.ค. 64 อีกครั้ง อย่างไรก็ตามการกระจายวัคซีนที่เพิ่มขึ้น คาดจะทำให้ผลประกอบการในช่วงครึ่งปีหลัง (H2/64) ฟื้นตัว ทั้งนี้คาดว่ากำไรสุทธิปี 2564 จะหดตัว 26%YoY และฟื้นตัว 33%YoY ในปี 2565 พร้อมปรับไปใช้ราคาเป้าหมายปี 2565 ได้มูลค่าเหมาะสมที่ 67.00 บาท อิง PER ที่ 37 เท่า

ส่วนบล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ระบุคาดไตรมาส 2/64 อัตรากำไรขั้นต้นลดลง 12 bps YoY เป็น 21.4% เนื่องจากสัดส่วนสินค้าที่มีอัตรากำไรต่ำเพิ่มขึ้นจากการขายสินค้าแพคใหญ่ และสัดส่วนยอดขายของ MAKRO เพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายทางการเงินคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 79% YoY เป็น 3,532 ล้านบาท จากการที่หนี้สินเพิ่มขึ้นจาก Bridging loan ที่ใช้ในการซื้อโลตัส อีกทั้งการรีไฟแนนซ์ Bridging loan ดังกล่าวเป็นหุ้นกู้ซึ่งทำให้มีค่าใช้จ่ายพิเศษในไตรมาส 2/64 ขณะที่ส่วนแบ่งกำไรจากโลตัสยังน้อยเนื่องจากยอดขายชะลอลง อีกทั้งมีค่าใช้จ่ายการ Rebranding และการปรับระบบบริหาร จึงคาดกำไร CPALL ในไตรมาส 2/64 ลดลง 17% QoQ และ 27% YoY เป็น 2,117 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี ผลประกอบการในช่วงครึ่งปีหลัง (H2/64) จะฟื้นตัวขึ้นจากครึ่งปีแรก (H1/64) หลังจากการฉีดวัคซีนได้มากขึ้น ประกอบกับมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยและเพิ่มกำลังซื้อ การลดลงของลูกค้าเข้าร้านถูกชดเชยส่วนหนึ่งจากการขาย Delivery ของร้านเซเว่นฯ ซึ่งเพิ่มจาก 1% เป็น 10% ของยอดขาย นอกจากนั้น การรีไฟแนนซ์คาดว่าจะประหยัดดอกเบี้ยจ่ายเกือบ 300 ล้านบาท/ไตรมาส ตั้งแต่ไตรมาส 3/64 เป็นต้นไป ขณะที่ส่วนแบ่งกำไรจากโลตัสคาดว่าจะค่อยๆ เร่งตัวดีขึ้นเช่นกันเมื่อการระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ส.ค. 64)

Tags: , , , , ,
Back to Top