TU เผยกำไร Q264 โต 36.5% ตามยอดขายสหรัฐ-ยุโรปหลังเปิดเมือง

บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) เปิดเผยว่า ยอดขายไตรมาส 2/64 อยู่ที่ 35,883 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.6%จากปีก่อนหน้า ทำสถิติมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 2,343 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36.5% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 63 และมีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ระดับ 19%

สำหรับในช่วงไตรมาส 2/64 ตลาดหลักๆ ได้แก่ ผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกาและบางประเทศในทวีปยุโรป เริ่มมีกิจกรรมนอกบ้านมากขึ้น เช่น การพบปะสังสรรค์ การจัดงาน รวมถึงการรับประทานอาหารนอกบ้าน ส่งผลให้ธุรกิจบริการด้านอาหารและค้าปลีกในสหรัฐอเมริกามีการฟื้นตัว ช่วยให้ยอดขายธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งและแช่เย็นของ TU อยู่ที่ 14,869 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 28.7%จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นช่วงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดส่งผลกระทบอย่างหนักต่อธุรกิจร้านอาหารในสหรัฐและยุโรป

นอกจากนี้บริษัทยังได้รับประโยชน์จากการที่ธุรกิจเรดล็อบเตอร์ซึ่งเป็นธุรกิจเชนร้านอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทำผลงานได้ดีขึ้นมากในไตรมาสที่ผ่านมา

TU ยังคงให้ความสำคัญต่อเนื่องกับธุรกิจที่มีความสามารถในการทำกำไรสูง ผลประกอบการที่ดีในไตรมาส 2/64 นั้นส่วนหนึ่งมาจากความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในกลุ่มของอาหารสัตว์เลี้ยง สินค้าเพิ่มมูลค่า รวมถึงธุรกิจบรรจุภัณฑ์และสินค้าอื่นๆ ของบริษัทอีกด้วย โดยเฉพาะในส่วนของอาหารสัตว์เลี้ยง ได้รับอานิสงส์จากการที่ผู้บริโภคใช้เวลาอยู่กับบ้านมากขึ้นและรับเลี้ยงสัตว์เลี้ยงมากขึ้นด้วย ส่งผลให้ยอดขายของธุรกิจส่วนนี้เพิ่มขึ้น 12.5% คิดเป็นมูลค่า 5,741 ล้านบาท

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ความต้องการอาหารทะเลบรรจุกระป๋องเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งในไตรมาส 2/64 สถานการณ์ในบางประเทศเริ่มคลี่คลายและผู้บริโภคเริ่มกลับมามีกิจกรรมต่างๆ นอกบ้านมากขึ้น ทำให้ยอดขายของธุรกิจอาหารทะเลบรรจุกระป๋องลดลง 6.8% คิดเป็นมูลค่า 15,272 ล้านบาท

สำหรับภาพรวมในครึ่งปีแรก ยอดขายเติบโตขึ้น 4.4% อยู่ที่ 67,007 ล้านบาท กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 51.7% อยู่ที่ 4,146 ล้านบาท เป็นผลจากการที่ TU ยังคงได้รับความเชื่อมั่นจากผู้บริโภคทั่วโลก

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TU กล่าวว่า ธุรกิจของไทยยูเนี่ยนมีความหลากหลายในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของตลาดที่เรามีอยู่ทั่วโลก ประเภทของผลิตภัณฑ์ และแหล่งที่มาของรายได้บริษัท และนี่คือปัจจัยที่ส่งผลให้ผลการดำเนินธุรกิจของเราในไตรมาสที่ผ่านมาทำผลงานได้ดี เรายังคงเน้นในเรื่องของความสามารถในการทำกำไร วินัยทางการเงินและธุรกิจใหม่ๆ ที่เพิ่มมูลค่า

ในขณะที่ความต้องการอาหารทะเลบรรจุกระป๋องเริ่มปรับตัวสู่ระดับปกติ ประกอบกับสถานการณ์ในประเทศที่เป็นตลาดหลักของธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งและแช่เย็นฟื้นตัว ส่งผลให้ผู้คนออกมาทำกิจกรรมต่างๆ ตามปกติมากขึ้น ผมรู้สึกภูมิใจที่สินค้าของไทยยูเนี่ยนยังคงได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภคทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องของคุณภาพและคุณค่าทางโภชนาการ และยินดีที่เราได้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คนที่ใส่ใจสุขภาพความเป็นอยู่ที่ดี ไม่ว่าจะใช้เวลาอยู่ที่บ้านหรือนอกบ้านก็ตาม

ในเดือน พ.ค.64 บริษัทได้ทำสัญญาซื้อหุ้นอีก 49%ที่เหลือของ บริษัท รูเก้น ฟิช (Rügen Fisch AG) รวมถือหุ้น 100% โดยรูเก้น ฟิช มีสำนักงานใหญ่อยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศเยอรมนี ล่าสุดมีผลประกอบการสูงกว่า 140 ล้านยูโร หรือประมาณกว่า 5,600 ล้านบาท และเป็นผู้นำตลาดอาหารทะเลกระป๋องในประเทศเยอรมนี

ในครึ่งแรกของปี 64 TU ยังคงดำเนินแผนกลยุทธ์ในการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ที่เน้นในเรื่องของนวัตกรรมรวมถึงสตาร์ทอัพอย่างต่อเนื่อง โดยมีการลงทุนใน บริษัท วิอาควา บริษัททางด้านเทคโนโลยีชีวภาพที่พัฒนาการจัดการโรคในสัตว์น้ำ บริษัท บลูนาลู ที่พัฒนาโปรตีนอาหารทะเลจากเซลล์เพาะเลี้ยง และบริษัท อเลฟ ฟาร์มส์ ที่พัฒนาเนื้อสเต็กจากการเพาะเลี้ยงเซลล์

“เราต้องการนำเสนอทางเลือกต่างๆ ให้กับลูกค้าของเราให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในการดูแลสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี และรวมไปถึงการสนับสนุนการดูแลรักษาธรรมชาติและท้องทะเล เราจะเห็นผู้บริโภครุ่นใหม่ๆ ทั่วโลกเริ่มเลือกทานอาหารโปรตีนจากพืชควบคู่ไปกับการรับประทานเนื้อปลาและเนื้อสัตว์อื่นๆ โปรตีนทางเลือกนั้นปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศในปริมาณที่น้อยกว่า และกำลังก้าวขึ้นมาเป็นส่วนสำคัญของอาหารทั่วโลก รวมถึงธุรกิจของไทยยูเนี่ยนด้วย”

นายธีรพงศ์ กล่าวว่า บริษัทมองไปยังครึ่งหลังของปี 64 ด้วยความเชื่อว่าบริษัทมีความสามารถที่สร้างความเติบโตอย่างเข้มแข็ง แต่อย่างไรก็ดี เรายังคงจับตาดูปัจจัยต่างๆ อย่างใกล้ชิด เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดนั้นยังมีความไม่แน่นอนรวมถึงความท้าทายต่างๆ

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท อนุมัติการขายที่ดินของบริษัท เอเซียนแปซิฟิคแคน จำกัด บริษัทย่อยของ TU ให้แก่ บริษัท ซิเรนิตี้แคปปิตอล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่เกี่ยวโยงกัน พื้นที่ 69 ไร่ 54.4 ตารางวา ตั้งอยู่ที่ ต.นาดี อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร มูลค่า 379,971,456 บาท (ตารางวาละ 13,740 บาท) ไม่รวมค่าธรรมเนียมการโอน 1% (แบ่งจ่ายฝ่ายละครึ่งจากอัตรา 2%) ทั้งนี้ ราคาขายเป็นราคาต้นทุนที่ซื้อที่ดินมา 348,860,256 บาท บวกเพิ่ม 8.92% โดยมีราคาขายเปรียบเทียบกับที่ดินประกาศขายใกล้เคียงอยู่ระหว่างตารางวาละ 13,000 บาท ถึง 15,000 บาท

บริษัทคาดว่าจะนำเงินที่ได้รับจากการจำหน่ายดังกล่าวไปลงทุนซื้อที่ดินบริเวณที่ใกล้โรงงานเดิมยิ่งขึ้น เพื่อความสะดวกในการขยายโรงงานและรองรับกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นในอนาคตของบริษัท เอเซียนแปซิฟิคแคน จำกัด

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ส.ค. 64)

Tags: , , , , ,
Back to Top