หุ้นกลุ่มแบงก์บวก 3.34% ดีดขึ้นยกแผงนำโดย KBANK โบรกฯแนะรับธีมเปิดประเทศ

ดัชนีกลุ่มแบงก์บวก 3.34% มาอยู่ที่ 341.74 จุด เพิ่มขึ้น 11.06 จุด เมื่อเวลา 10.29 น.หุ้นในกลุ่มแบงก์ขยับขึ้นยกแผง นำโดยหุ้น KBANK บวก 5.53% มาอยู่ที่ 114.50 บาท เพิ่มขึ้น 6.00 บาท มูลค่าซื้อขาย 1,965.50 ล้านบาท

หุ้น BBL บวก 4.81% มาอยู่ที่ 109.00 บาท เพิ่มขึ้น 5.00 บาท มูลค่าซื้อขาย 1,295.15 ล้านบาท

หุ้น SCB บวก 3.29% มาอยู่ที่ 102.00 บาท เพิ่มขึ้น 3.25 บาท มูลค่าซื้อขาย 882.11 ล้านบาท

หุ้น TTB บวก 3.03% มาอยู่ที่ 1.02 บาท เพิ่มขึ้น 0.03 บาท มูลค่าซื้อขาย 220.66 ล้านบาท

หุ้น KKP บวก 2.31% มาอยู่ที่ 55.25 บาท เพิ่มขึ้น 1.25 บาท มูลค่าซื้อขาย 91.71 ล้านบาท

บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง(ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ฯมีมุมมองบวกต่อมาตรการใหม่ และคาดว่าธนาคารจะได้รับประโยชน์จากการก่อตัวของ NPL และต้นทุนสินเชื่อทรงตัว แต่ต้องแลกกับ NIM ที่ลดลง โดยมองเป็นโอกาสสะสมหุ้นที่ราคาอ่อนตัว กลุ่มธนาคารถือเป็นกลุ่มที่น่าลงทุนในธีมเปิดประเทศ เนื่องจากราคาน่าดึงดูดและความคาดหวังที่ต่ำในขณะนี้

หุ้นเด่น ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) และบมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) โดยราคาหุ้น KBANK ลดลง 25% ตั้งแต่ปลายไตรมาส 1/64 และซื้อขายต่ำกว่า 2SD สำหรับ PER และ P/BV ส่วน TISCO แนวโน้มกำไรดีกว่าเมื่อเทียบกับแบงก์อื่นที่มี NPL coverage และ ROE สูง

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ประกาศมาตรการใหม่เพื่ออัดฉีดสภาพคล่องสำหรับ SME และสินเชื่อรายย่อย จากการระบาดของโควิดที่ยืดเยื้อ โดยจะให้ธนาคารเสนอการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว (LTDR) ให้สอดคล้องกับกระแสเงินสดของลูกค้าและลดความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ โดยธนาคารสามารถใช้การระงับระยะเงินกู้ได้จนถึงสิ้นปี 66 หากเสนอ LTDR และการผ่อนปรนอื่น ๆ (เช่น แฮร์คัตบางส่วน) ให้กับลูกค้า สำหรับการปรับโครงสร้างหนี้ที่มีอยู่ ธนาคารสามารถคงการจัดชั้นลูกค้าได้จนถึงสิ้นไตรมาส 1/65

ธปท.ได้ขยายเวลาชำระบัตรเครดิตขั้นต่ำ 5% (จาก 10%) และให้ผู้ประกอบการเพิ่มวงเงินสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลเป็น 2 เท่าของรายได้ (จาก 1.5 เท่า) สำหรับผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท/เดือนจนถึงสิ้นปี 65 นอกจากนี้ ธปท.จะไม่จำกัดจำนวนผู้ประกอบการส่วนบุคคล เราเชื่อว่า ธปท. ต้องการแก้ปัญหาการหันไปใช้บริการหนี้นอกระบบ เนื่องจากอัตราการปฏิเสธที่เพิ่มขึ้นจากทั้งธนาคารและที่ไม่ใช่ธนาคารภายหลังการลดอัตราดอกเบี้ย

นอกจากนี้ ธปท.ยังเพิ่มวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ SME soft Loan เป็น 50 ล้านบาท จาก 20 ล้านบาทต่อบัญชี สำหรับลูกค้าทุกราย และผ่อนคลายเงื่อนไขการรับประกันสินเชื่อ (เช่น ยกเว้นค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับการค้ำประกันสินเชื่อ) สำหรับลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูง นอกจากนี้ ธปท.ยังขยายเวลาการตัดค่าธรรมเนียม FIDF 23bp ในปี 65 ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อธนาคารในการคงต้นทุนทางการเงินไว้ที่ระดับต่ำ

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ส.ค. 64)

Tags: , , , , ,
Back to Top