“ศักดิ์สยาม” ปัดรุกที่เขากระโดง-โต้ข้อหาเที่ยวผับติดโควิดยันดื่มนมเย็น

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ชี้แจงการอภิปรายไม่ไว้วางใจของนายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ ว่าบุกรุกครอบครองที่ดินเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ 5,083 ไร่ ซึ่งอยู่ภายใต้พ.ร.บ.การจัดวางรางรถไฟและทางหลวง พ.ศ. 2462 ตามมาตรา 3 (2) โดยปัจจุบันมีประชาชน รวมถึง รมว.คมนาคมและเครือญาติอยู่ในที่ดินแปลงนี้ด้วย

รมว.คมนาคม กล่าวว่า ไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าว เป็นเพียงผู้อาศัย โดยที่ดินดังกล่าวมีประชาชนเข้าไปจับจองตั้งแต่ปี 2502 และมีเอกสารของหน่วยงานราชการออกให้ ซึ่งขณะนั้นตนเองยังไม่เกิด และเป็นคดีความเมื่อปี 2515

อย่างไรก็ตาม นโยบายที่มอบหมายให้ รฟท.ดำเนินการนั้นขอให้ยึดตามกรอบของกฎหมาย และหลักธรรมาภิบาล และมีการตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาบุกรุกที่ดินที่เกี่ยวกับที่ดินทำกิน กรณีดังกล่าวจึงไม่ได้เป็นเรื่องขัดต่อจริยธรรม

ส่วนกรณีที่นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.พรรคไทยศรีวิไลย์ อภิปรายไม่ไว้วางใจตนเองว่าเป็นต้นตอของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกเดือนเมษายน เป็นการบิดเบือนข้อมูล โดยใช้หลักฐานเท็จ ซึ่งไม่น่าจะเป็นบรรทัดฐานของรัฐสภา เพราะภาพที่นำมาแสดงเป็นงานเลี้ยงสละโสดของเพื่อนเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.63

“ผมไปร่วมงานเลี้ยงสละโสดเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2563 เกี่ยวอะไรกับคลัสเตอร์เดือนมีนาคม ผมดื่มนมเย็น อย่างนี้เรียกว่าเสเพลก็ไม่รู้จะว่ายังไง”

นายศักดิ์สยาม กล่าว

นายศักดิ์สยาม ยอมรับว่า การไปเที่ยวเป็นเรื่องปกติของชายโสดที่จะไปพักผ่อนหลังเวลางาน แต่สาเหตุที่ติดเชื้อโควิดมาจากผู้ร่วมงานที่ไปเที่ยวสถานบันเทิง โดยตรวจพบติดเชื้อเมื่อวันที่ 7 เม.ย.64 แต่ในวันที่ 6 เม.ย.64 ที่จัดงานเลี้ยงวันเกิดพรรค ไม่พบผู้ที่ไปร่วมงานติดเชื้อย อีกทั้งในไทม์ไลน์ที่ได้แจ้งให้กับกรมควบคุมโรคยืนยันว่าในช่วง 14 วันไม่ได้เดินทางไปสถานบันเทิงย่านทองหล่อ และในที่ทำงานก็ไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม

ด้านนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการ รฟท.กล่าวว่า ปัญหาที่ดินเขากระโดง แบ่งออกเป็น 2 กรณี ดังนี้ ปัญหาการบุกรุกที่ดินที่มีปัญหามาอย่างยาวนานจากผู้บุกรุก 83 ราย ที่ผ่านมา รฟท.ได้แก้ปัญหาตามขั้นตอนภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด และปัญหาการออกเอกสารสิทธิ์ทับซ้อนกับที่ดิน รฟท.ที่เป็นปัญหายาวนานและมีความซับซ้อน เกิดขึ้นจากกระบวนการสำรวจ การออกเอกสารสิทธิ์คลาดเคลื่อน ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา รฟท. ได้เสาะหาข้อเท็จจริง และดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายมาโดยตลอดเช่นกัน

ล่าสุดเมื่อต้นปี 64 รฟท.ได้ดำเนินการสำรวจที่ดินบริเวณเขากระโดงโดยรวม พบว่ามีผู้ถือครองเอกสารสิทธิ์ 900 ราย แบ่งเป็น โฉนดที่ดิน จำนวน 700 ราย ที่มีการครอบครอง (ท.ค.) จำนวน 19 ราย น.ส.3 ก.จำนวน 7 ราย หนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) จำนวน 1 ราย ทางสาธารณประโยชน์ จำนวน 53 แปลง และอื่นๆ ที่ไม่ปรากฏเลขที่ดินในระวางแผนที่อีก จำนวน 129 แปลง

รฟท.ดำเนินการแก้ปัญหาที่ดินที่มีข้อพิพาทที่มีการออกเอกสารสิทธิ์ โดยยึดหลักการ “ประชาชนถือเอกสารสิทธิ์ในที่ดินที่ออกโดยทางราชการ และอาศัยอยู่ในที่ดินตามเอกสารสิทธิ์ดังกล่าว เป็นผู้อาศัยในที่ดินโดยสุจริต” ดังนี้ การที่ประชาชนฟ้อง รฟท.โดยอ้างสิทธิ์ตาม ส.ค.1 และ นส.3 ก. ศาลฎีกาเชื่อข้อเท็จจริงตามแผนที่ที่ รฟท.นำเสนอว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟท.ซึ่งได้ดำเนินบังคับคดีตามคำพิพากษาที่ถึงที่สุดในแต่ละคดีแล้ว แต่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นจะผูกพันเฉพาะคู่ความในคดี โดยไม่ผูกพันบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่คู่ความ

การรถไฟฯ ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายเพื่อหาข้อยุติในกรณีที่เกี่ยวข้องกับสิทธิบนที่ดินบริเวณเขากระโดง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องขอให้กรมที่ดิน ซึ่งเป็นหน่วยราชการที่มีอำนาจหน้าที่ในการออกหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้ราษฎรและให้บริการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ เพื่อพิจารณาทบทวนการใช้อำนาจดังกล่าว โดยเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2564 การรถไฟฯ ได้มีหนังสือถึงอธิบดีกรมที่ดิน ขอให้กรมที่ดินดำเนินการให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ก.ย. 64)

Tags: , ,
Back to Top