สธ.ระบุเด็ก 12 ปีเสียชีวิตไม่เกี่ยวฉีดวัคซีนไฟเซอร์ พบภาวะแทรกซ้อน, ย้ำเฝ้าระวังอาการ

นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยกรณีที่มีเด็กชายอายุ 12 ปี เสียชีวิตหลังจากการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ว่า ไม่ได้เป็นการเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีน โดยหลังการตรวจชิ้นเนื้อไม่พบการอักเสบที่กล้ามเนื้อหัวใจ แต่พบระดับน้ำตาลในสารน้ำในลูกตาสูง จึงสันนิษฐานว่าเป็นการเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานเรื้อรัง

สำหรับการฉีดวัคซีนในเด็กนักเรียนจากเดิมมีการตั้งเป้าไว้ที่ 4,600,000 คน แต่จากการรวบรวมจำนวนนักเรียนทั่วประเทศใหม่อยู่ที่ 5,048,000 คน โดยมีความประสงค์จากผู้ปกครองอยู่ที่ประมาณ 3,618,000 คน หรือคิดเป็น 71% โดยวัคซีนที่ใช้ฉีดตั้งแต่วันที่ 4 ต.ค. นี้เป็นต้นไป ยังมีเพียงวัคซีนไฟเซอร์ชนิดเดียวที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การอาหารและยา (อย.) โดยจะฉีดให้นักเรียนคนละ 2 โดส ระยะเวลาห่างกัน 3-4 สัปดาห์ ทั้งนี้ยังไม่มีการลดจำนวนเข็ม และยังไม่มีการแยกความเสี่ยงระหว่างเพศชาย และเพศหญิง โดยสธ. อยู่ระหว่างการติดตามข้อมูลทางวิชาการเรื่องดังกล่าวเพิ่มเติม

นักเรียนที่ได้รับวัคซีนแล้ว หลังการฉีดวัคซีนต้องเข้าระบบเฝ้าระวังอาการผ่านแอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ อย่างไรก็ดีเพื่อให้เกิดความมั่นใจ และความปลอดภัยมากขึ้น สธ. และเครือข่ายโรงพยาบาลต่างๆ จะมีหนังสือชี้แจงเพิ่มเติม ย้ำความสำคัญแก่โรงพยาบาลเรื่องอาการหลังฉีดวัคซีน เพื่อให้เกิดการรักษาที่ถูกต้อง และไม่คลาดเคลื่อน

ส่วนอาการที่ต้องเฝ้าระวังหลังจากฉีดวัคซีนชนิด mRNA คือ ภาวะกล้ามเนื้ออักเสบ และเยื้อหุ้มหัวใจอักเสบ โดยในช่วง 30 วันหลังจากฉีดวัคซีนให้สังเกตอาการ ดังนี้ แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก หอบ เหนื่อยง่าย ใจสั่น เป็นลมหมดสติ โดยหากมีอาการดังกล่าวให้ไปโรงพยาบาลทันที อย่างไรก็ดีอาการนี้สามารถเกิดได้ในอัตราที่ต่ำ แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด รวมถึงหลังฉีดวัคซีน 7 วันแนะนำว่าไม่ควรออกกำลังกายหนัก เนื่องจากหลังออกกำลังอาจแยกอาการดังกล่าวได้ยากขึ้น

สำหรับภาพรวมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศ นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า ขณะนี้รายงานการติดเชื้อต่อวันอยู่ที่ประมาณ 1 หมื่นราย และมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ทั้งนี้ในบางพื้นที่ผู้ติดเชื้อลดลงไม่มาก เนื่องจากพบการแพร่ระบาดในสถานที่ที่คนมารวมตัวกัน เช่นในงานศพ โรงรับซื้อผลไม้ (ล้ง) และหมู่บ้านประมง เป็นต้น ดังนั้นสธ. จึงอยู่ระหว่างการเร่งฉีดวัคซีน เพื่อลดอาการป่วยรุนแรง และลดอัตราการเสียชีวิต ซึ่งประเทศไทยสามารถฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ครอบคลุมแล้ว 45.2% และในเข็มที่ 2 ครอบคลุมแล้ว 27.5%

โดยที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 15/64 วันที่ 27 ก.ย. 64 ระบุเป้าหมายการฉีดวัคซีนว่า

เดือนต.ค. 64 คือ ฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรทั้งหมด (ไทยและแรงงานต่างชาติ) อย่างน้อย 50% ทุกจังหวัด และอย่างน้อย 1 อำเภอ ให้มีความครอบคลุม 70% และมีต้นแบบ COVID free Area หรือพื้นที่ที่ปลอดโควิดอย่างน้อย 1 พื้นที่ซึ่งมีความครอบคลุม 80% นอกจากนี้ต้องเพิ่มความครอบคลุมอย่างน้อย 80% ในกลุ่มสูงอายุ ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค และหญิงมีครรภ์ รวมถึงตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมเข็มที่ 1 อย่างน้อย 70% ในกลุ่มนักเรียน หรือนักศึกษาขั้นมัธยมหรือเทียบเท่า และจะมีการฉีดเข็มกระตุ้นในผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนชนิดเชื้อตายครบ 2 เข็มในช่วงเดือนมี.ค.-พ.ค. 64

ส่วนเป้าหมายเดือนพ.ย. 64 คือฉีดวัคซีนครอบคลุมเข็มที่ 1 อย่างน้อย 70% และเพิ่มความครอบคลุมอย่างน้อย 80% ในกลุ่มสูงอายุ ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค และหญิงมีครรภ์ รวมทั้งตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้มีความครอบคลุมเข็มที่ 1 อย่างน้อย 70% ในกลุ่มอายุ 12-17 ปี นอกจากนี้จะมีการฉีดเข็มกระตุ้นในผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนชนิดเชื้อตายครบ 2 เข็มในช่วงเดือนมิ.ย. 64 และจะมีการฉีดเข็มกระตุ้นในผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 จากช่วงเดือนธ.ค. 62-เม.ย. 64

ในส่วนของเป้าหมายเดือนธ.ค. 64 คือฉีดวัคซีนครอบคลุมเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 อย่างน้อย 80% และ 70% ตามลำดับ นอกจากนี้จะมีการฉีดเข็มกระตุ้นในผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนชนิดเชื้อตายครบ 2 เข็มทุกราย และฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 ทุกราย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 ต.ค. 64)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top