บิ๊กป้อม สั่งแก้น้ำหลากเมืองจันท์ จับตา 20 เขื่อนใหญ่น้ำมาก คาดฝนลงอ่างฯ เพิ่ม

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ติดตาม เฝ้าระวัง และประเมินปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่คาดว่าจะได้รับอิทธิพลจากพายุโซนร้อน “คมปาซุ” ซึ่งจะทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนตกหนักถึงหนักมากในบางแห่ง โดยพบว่าในช่วงวันที่ 14-17 ต.ค. 64 มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 20 แห่ง ที่ต้องเฝ้าระวังเสี่ยงน้ำล้น ดังนี้

  • ภาคเหนือ ได้แก่ อ่างฯแม่มอก, อ่างฯแควน้อยบำรุงแดน และอ่างฯทับเสลา
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ อ่างฯอุบลรัตน์, อ่างฯจุฬาภรณ์, อ่างฯลำตะคอง, อ่างฯลำพระเพลิง, อ่างฯมูลบน, อ่างฯลำแชะ, อ่างฯลำนางรอง และอ่างฯสิรินธร
  • ภาคกลาง ได้แก่ อ่างฯป่าสักชลสิทธิ์ และอ่างฯกระเสียว
  • ภาคตะวันออก ได้แก่ อ่างฯขุนด่านปราการชล, อ่างฯหนองปลาไหล และอ่างฯนฤบดินทรจินดา
  • ภาคตะวันตก ได้แก่ อ่างฯศรีนครินทร์, อ่างฯวชิราลงกรณ, อ่างฯแก่งกระจาน และอ่างฯปราณบุรี

ดังนั้น กอนช. จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาวางแผนบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำ และในลำน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อลดผลกระทบจากน้ำล้นอ่างเก็บน้ำท่วมพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำให้น้อยที่สุด รวมทั้งประชาสัมพันธ์แจ้งประชาชนบริเวณพื้นที่เสี่ยงให้ทราบ และเตรียมความพร้อมรับมือ

ด้านนายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะเลขานุการ กอนช. เปิดเผยว่า กอนช. ได้ติดตามคาดการณ์สภาพอากาศแนวโน้มของพายุ รวมถึงประเมินสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยข้อมูลการคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่าพายุโซนร้อน “คมปาซุ” จะเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนในวันนี้ และจะอ่อนกำลังลง

อย่างไรก็ตาม จะยังส่งผลให้พื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดมุกดาหาร นครพนม สกลนคร และบึงกาฬ มีฝนเล็กน้อยถึงปานกลาง ในระหว่างวันที่ 14-16 ต.ค. 64 ประกอบกับร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย จึงทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนตกหนักถึงหนักมากในบางแห่ง

ทั้งนี้ ตามประกาศ กอนช. ฉบับที่ 23/2564 เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 64 ที่ผ่านมา ซึ่งได้แจ้งเตือนเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากในภาคตะวันออก และภาคใต้ กอนช. ได้มีการเฝ้าระวังสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด โดยปัจจุบันมีสถานการณ์น้ำหลากในหลายพื้นที่ของจังหวัดจันทบุรี เกิดจากฝนตกหนักในช่วงที่ผ่านมา และจากการติดตามภาพรวมในปัจจุบัน ระดับน้ำเริ่มลดลงเนื่องจากการลดระดับของน้ำทะเล แต่ยังคงมีระดับน้ำท่วมขัง 10-20 ซม. ในขณะที่ระดับน้ำในแม่น้ำจันทบุรี ที่สะพานวัดจันทนารามต่ำกว่าจุดวิกฤติ โดยโครงการชลประทานจันทบุรี ได้บริหารจัดการโดยผลักดันน้ำผ่านคลองภักดีรำไพอย่างเต็มศักยภาพ เพื่อเร่งลดผลกระทบแก่พื้นที่

พร้อมกันนี้ กอนช. คาดการณ์ว่าในวันนี้มวลน้ำจากตอนบนของลุ่มน้ำ จะเคลื่อนผ่านอำเภอเมืองจันทบุรี แต่จะไม่ส่งผลกระทบให้ระดับน้ำสูงขึ้นหรือล้นตลิ่ง โดยปัจจุบันสถานการณ์น้ำในพื้นที่อำเภอเมืองจันทบุรีต่ำกว่าระดับตลิ่ง 30 ซม. ทั้งนี้ กอนช. จะยังคงติดตามปริมาณฝนในช่วง 1-2 วันนี้ต่อไป

นอกจากนี้ อิทธิพลพายุโซนร้อน “คมปาซุ” ยังส่งผลให้ฝนตกในพื้นที่เหนือเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ทำให้ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จึงมีการเพิ่มการระบายเพื่อเป็นการควบคุมระดับน้ำและปริมาณน้ำ ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำป่าสักเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 2-2.5 ม. แต่ยังคงไม่ล้นตลิ่ง อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

“สถานการณ์น้ำหลากที่จังหวัดจันทบุรี ในขณะนี้ กอนช. จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งบริหารจัดการน้ำให้ประชาชนพ้นจากความเดือดร้อนโดยเร็ว ตามข้อสั่งการของท่านรองนายกรัฐมนตรีอย่างเคร่งครัด ซึ่งปัจจุบันปริมาณน้ำได้เริ่มลดระดับลงแล้ว เช่นเดียวกับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำต่างๆ ณ ปัจจุบัน ซึ่งมีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ”

นายชยันต์กล่าว

พร้อมระบุว่า สถานการณ์บริเวณลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำมูล ยังคงมีสถานีวัดน้ำที่ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่งหลายแห่ง จึงได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลางและพื้นที่ ให้มีการเฝ้าระวังจุดเสี่ยงและเร่งคลี่คลายสถานการณ์ ให้ประชาชนพ้นจากความเดือดร้อน ตามข้อสั่งการของรองนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ปริมาณฝนจะเริ่มลดลงตั้งแต่วันที่ 17 ต.ค. นี้ จากอิทธิพลของมวลอากาศเย็นจากประเทศจีน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ต.ค. 64)

Tags: , , , , , , , , , ,
Back to Top