เวิลด์แบงก์ คาด GDP ไทยปี 65 ฟื้นโต 3.9% จาก 1% ในปี 64 ก่อนโตเพิ่ม 4.3% ปี 66

ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ประจำประเทศไทย ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการเติบโตของศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 65 เป็น 3.9% จากเดิมที่คาดไว้ 3.6% ซึ่งเป็นการฟื้นตัวจากปี 64 ที่คาดว่าจะเติบโตได้ราว 1% ก่อนที่ปี 66 จะเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 4.3% ขณะที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้

เศรษฐกิจไทยในปี 65 และ 66 ได้แรงขับเคลื่อนจากการฟื้นตัวของกิจกรรมภาคบริการ การบริโภคภาคเอกชน และการท่องเที่ยวที่กลับมาเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 7 ล้านคนในปี 65 โดยจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงครึ่งหลังของปีและเพิ่มขึ้นอีกในปี 66 เป็นประมาณ 20 ล้านคนหรือประมาณครึ่งหนึ่งของระดับนักท่องเที่ยวในปี 62 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด

ทั้งนี้ คาดว่าการท่องเที่ยวจะมีผลต่ออัตราการเติบโตของ GDP ได้ราว 2% ในปี 65 และราว 4% ในปี 66

นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจของไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วหลังเผชิญผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตโควิด-19 และเริ่มฟื้นตัวได้ในช่วงไตรมาส 4/64 ทั้งนี้ คาดว่าภาวะเศรษฐกิจของไทยจะกลับสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 ได้ในปลายปี 65 โดยเป็นการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากการส่งออกและมาตรการภาครัฐ หลังสามารถกระจายการให้บริการวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรได้ทั่วถึงมากขึ้นใกล้เคียง 70% ของประชากรทั้งหมดภายในปีนี้ ซึ่งทำให้อัตราการเสียชีวิตมีแนวโน้มลดลง แต่ระบบเศรษฐกิจยังมีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ การกระจายตัวของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่, การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และการขาดแคลนชิ้นส่วนในระบบห่วงโซ่การผลิต

ขณะที่ตลาดแรงงานยังมีความเปราะบาง มีการย้ายฐานจากแรงงานภาคอุตสาหกรรมไปสู่ภาคเกษตรกรรม แต่มาตรการภาครัฐที่ออกมาก่อนหน้านี้สามารถช่วยประคับประคองไว้ได้

สำหรับภาวะหนี้สาธารณะของประเทศมีสัดส่วน 58.1% ของจีดีพีในปี 63 จะขยับเพิ่มเป็น 62.2% ของจีดีพีในปี 64 และ 61.6% ของจีดีพีในปี 65 ซึ่งอยู่ในภาวะที่สามารถควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ไม่เกิน 70% ของจีดีพีได้ โดยธนาคารโลกเห็นว่ายังมีพื้นที่ทางการคลังที่เพียงพอในการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือแบบเจาะจงเฉพาะกลุ่ม

ส่วนมาตรการการให้เงินเยียวยา การริเริ่มด้านสาธารณสุข โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และมาตรการสนับสนุนด้านการคลังในรูปแบบอื่นๆ ได้ช่วยหนุนอุปสงค์ของภาคเอกชน ขณะเดียวกันก็สนับสนุนการบริโภคในกลุ่มครัวเรือนเปราะบาง และช่วยลดผลกระทบของวิกฤตความยากจนด้วย

นายเกียรติพงศ์ ระบุว่า การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการสนับสนุนการฟื้นตัวของประเทศไทยหลังวิกฤตโควิด-19 พร้อมกับการส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว โดยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและการใช้บริการดิจิทัลมีเพิ่มมากขึ้นในช่วงเกิดการแพร่ระบาดเป็นผลมาจากมาตรการควบคุมการเดินทาง มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในธุรกิจต่างๆ ช่วยส่งเสริมการค้าขายและผลผลิตที่เพิ่มขึ้น มีการค้าดิจิทัลเป็นช่องทางที่สำคัญสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) ในประเทศไทย ที่ช่วยลดต้นทุนการทำธุรกรรมและช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถเข้าถึงตลาดใหม่ได้

ขณะที่รัฐบาลไทยได้แสดงเจตจำนงค์อย่างแรงกล้าที่จะผลักดันวาระดิจิทัลภายใต้นโยบายอุตสาหกรรม 4.0 แต่ยังมีอีกหลายสิ่งที่สามารถดำเนินการได้เพื่อพัฒนาบริการดิจิทัลและธุรกิจดิจิทัล ได้แก่

  • ความพยายามส่งเสริมการแข่งขันและสร้างสภาวะแวดล้อมในการประกอบธุรกิจที่เป็นธรรมนั้นมีความจำเป็นเพื่อส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของตลาดและเพิ่มความสามารถในการทำงานร่วมกันของระบบดิจิทัล
  • ความพร้อมของทักษะดิจิทัล พร้อมกับทักษะที่จะช่วยส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัล เช่น การจัดการและบริหารองค์กร
  • การขยายการเข้าถึงนวัตกรรมของแหล่งเงินทุนจะช่วยเพิ่มความสามารถของบริษัทต่างๆ โดยเฉพาะ SMEs ในการใช้รูปแบบธุรกิจใหม่ๆ และเทคโนโลยีดิจิทัล

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ธ.ค. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top