กบง. คงราคาขายปลีก LPG ที่ 318 บาท/ถัง 15 กก. อีก 1 เดือน ถึง 31 ม.ค. 65

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติให้ขยายระยะเวลา คงราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น LPG ซึ่งไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มที่ 14.3758 บาท/กิโลกรัม (กก.) โดยมีกรอบเป้าหมายเพื่อให้ราคาขายปลีก LPG อยู่ที่ประมาณ 318 บาท/ถัง 15 กก. ต่อไปอีก 1 เดือน (ตั้งแต่วันที่ 1 – 31 มกราคม 2565) โดยมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการ ติดตามสถานการณ์ราคา และประสานคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เพื่อพิจารณาบริหารจัดการเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้สอดคล้องกับการทบทวนการกำหนดราคาก๊าซ LPG ต่อไป แล้วนำเสนอแนวทางการบริหารจัดการราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น LPG ต่อ กบง. พิจารณาอีกครั้ง

นอกจากนี้ ยังมีมติเห็นชอบแผนการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดของประเทศไทย ระยะปานกลาง พ.ศ. 2565-2574 (แผนการขับเคลื่อนฯ ระยะปานกลาง) ซึ่งเป็นแผนเพื่อขับเคลื่อนด้านสมาร์ทกริดตามกรอบแผนแม่บทการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะของประเทศไทย พ.ศ. 2558-2579 โดยมีวิสัยทัศน์ (Vision) คือ ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ และการจัดการทรัพยากรในระบบจำหน่ายไฟฟ้าที่จำเป็น รองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้ายุคใหม่ อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

โดยการขับเคลื่อนการดำเนินงานจะประกอบด้วยเสาหลักที่ 1. การตอบสนองด้านโหลดและระบบบริหารจัดการพลังงาน (DR & EMS) เสาหลักที่ 2. การพยากรณ์ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานหมุนเวียน (RE Forecast) เสาหลักที่ 3. ระบบไมโครกริดและโปรซูเมอร์ (Microgrid & Prosumer) เสาหลักที่ 4. ระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) เสาหลักที่ 5. การบูรณาการยานยนต์ไฟฟ้า (EV Integration) และแผนอำนวยการสนับสนุน

แผนการขับเคลื่อนฯ ระยะปานกลาง จะมีความสำคัญและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบไฟฟ้าในอนาคต ซึ่งจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับระบบโครงข่ายไฟฟ้าของประเทศให้สามารถรองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียน รวมถึงการใช้ประโยชน์จากแหล่งพลังงานแบบกระจายศูนย์ (DERs) ประเภทต่างๆ ที่จะเติบโตตามแนวโน้มของโลก เพื่อช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถมุ่งไปสู่พลังงานสะอาดและลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) ภายในปี 93 ตามที่นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศเจตจำนงในการประชุม COP26 และเกิดประโยชน์ในมิติของความสมดุลด้านพลังงาน (Energy Trilemma) มีความสอดคล้องกับหลักการเสริมสร้างความยั่งยืนตามยุทธศาสตร์ของด้านความมั่นคง ด้านความมั่งคั่ง และด้านความยั่งยืน อีกด้วย

พร้อมกันนี้ที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) ไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ตามแผนการขับเคลื่อนฯ ระยะปานกลาง และให้นำกิจกรรม/โครงการ รวมถึงงบประมาณของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งภายใต้แผนการขับเคลื่อนฯ ระยะปานกลาง เสนอคณะกรรมการจัดทำแผนบูรณาการการลงทุนและการดำเนินงาน เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้า (คณะกรรมการจัดทำแผนบูรณาการฯ) พิจารณาต่อไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ธ.ค. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top