เอเซีย พลัส ลุ้น SET สิ้นปี 64 แตะ 1,626 จุดรับกำไรบจ.โต-Fund Flow หนุน

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส (ASPS) ประเมินเป้าหมายดัชนีตลาดหุ้นไทยสิ้นปี 64 อยู่ที่ 1,550 จุด และมีโอกาสขยับไปถึง 1,626 จุด บน P/E ระดับ 23.8 เท่า และ 25 เท่าตามลำดับ ตามการเติบโตของอัตราส่วนกำไรต่อหุ้น (EPS) ที่ 65.04 บาท หรือมีกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) รวม 7.19 แสนล้านบาท เติบโตจากปี 62 38.1% โดยมี Market Earning Yield Gap ซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งที่นิยมใช้วัดความน่าสนใจของตลาดหุ้นเมื่อเทียบกับอัตราผลตอบแทนในตลาดพันธบัตร พบว่าอยู่ในระดับ 3.5-3.7%

ทั้งนี้ ตลาดหุ้นไทยปีนี้ได้รับปัจจัยหนุน จากการกลับมาฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เติบโต 4.1% จากฐานที่ต่ำในปีที่แล้ว และทุกปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบใหม่อย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีความรุนแรงกว่ารอบแรกที่เกิดขึ้นช่วงต้นปี 63 ทำให้รัฐบาลต้องใช้มาตรการควบคุมที่เข้มงวด ซึ่งหากมีระยะเวลายาวนานอาจจะมีผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 1/64 ให้หดตัวอีกครั้ง และกระทบกับกำไรบริษัทจดทะเบียนในปี 64 ด้วย

ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจที่ยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ก็ทำให้มีโอกาสที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% ก็จะทำให้เป็นปัจจัยหนุนดัชนีตลาดหุ้นไทยให้ปรับขึ้นมากกว่าเป้าหมายดังกล่าว ประกอบกับรัฐบาลน่าจะยังคงมีมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจออกมาต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่ต้องเพิ่มน้ำหนักและวงเงินให้สูงขึ้น แต่ก็มีข้อจำกัดเรื่องการก่อหนี้ซึ่งถูกกำหนดเป็นวินัยการคลังไว้ที่ 60% ของผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP) คิดเป็นมูลค่าเงินกู้ที่คงเหลือกู้ได้อีก 1.7 ล้านล้านบาท นับจากสิ้นเดือน ต.ค. 63

นายเทิดศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับภาพรวมในระยะกลางและระยะยาวจะได้รับปัจจัยหนุนจากเงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาในหลายช่องทาง ทั้งในทางตรงและทางอ้อม อาทิ เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) แรงหนุนจากนโยบายของนายโจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่ผลักดันการขึ้นภาษีนิติบุคคล และค่าจ้างขั้นต่ำในสหรัฐฯ

ส่วนการลงทุนทางอ้อม (การลงทุนผ่านสินทรัพย์ทางการเงิน) ในภาวะอัตราดอกเบี้ยทรงตัวในระดับต่ำ ช่วยให้เกิดการเคลื่อนย้ายเม็ดเงินจากพันธบัตรมาสู่ตลาดหุ้นมากขึ้นในระยะถัดไป รวมถึงค่าเงินบาทที่ยังแข็งค่า หนุนให้เกิดกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้น และสภาพคล่องล้นระบบ (เงินฝากสูงกว่า Market Cap ตลาดหุ้น) ก็รอที่จะเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น ถือเป็นตัวช่วยเพิ่มน้ำหนักในตลาดหุ้นอีกแรง

“ที่ผ่านมาต่างชาติขายหุ้นไทยมาตลอดระยะเวลา 8-9 ปี มูลค่าเงินที่ออกไปสูงถึง 9 แสนล้านบาท แต่ที่ผ่านมาซื้อหุ้นไทยกลับมาแค่ 3 หมื่นล้าน จึงมีโอกาสที่เงินทุนต่างประเทศจะไหลเข้ามาอีก ซึ่งในช่วงระยะเวลาที่ต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยจะช่วยหนุนให้ดัชนีปรับตัวขึ้นได้ค่อนข้างดี พร้อมกันนี้ยังได้รับแรงหนุนจากนักลงทุนรายย่อยเพิ่มเติม เพราะมีการเปิดบัญชีใหม่กว่า 6.6 แสนบัญชี มากกว่าช่วงระยะเวลาปกติที่ 3 แสนบัญชีต่อปี และยังมีจำนวนการเคลื่อนไหวของบัญชีเพิ่มขึ้นด้วย”

นายเทิดศักดิ์ กล่าว

นายเทิดศักดิ์ แนะนำลงทุนหุ้นขนาดใหญ่พื้นฐานแข็งแกร่ง และได้แรงหนุนจากเงินทุนไหลเข้า คือ PTT, KBANK, ADVANC, GULF และหุ้นปันผลสูง AP, DCC ในทางตรงกันข้ามหุ้นที่ขยับขึ้นมาแรงจนเกินมูลค่าทางพื้นฐาน อย่าง MAJOR, DELTA ต้องระมัดระวังในการซื้อขาย หรือเก็งกำไร

ด้านนายภาดร สุขสวัสดิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์การลงทุนและผลิตภัณฑ์ บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า ปี 63 ถือเป็นปีที่ท้าทายความสามารถของนักลงทุน ขณะที่ทิศทางการลงทุนในปี 64 เองก็อาจยังดูไม่ชัดเจนนัก แม้จะเปิดปีมาพร้อมกับความหวังเรื่องวัคซีนต้านโควิด-19 ที่คืบหน้า แต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อรอบสอง หรือสามในบางประเทศก็ยังคงสูงขึ้นต่อเนื่องตามไปด้วย

“จากการระบาดของโควิดรอบแรก เห็นได้ว่าหุ้นต่างประเทศที่ได้อานิสงส์ อย่างหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีเติบโตดีมาก การกระจายการลงทุนไปยังต่างประเทศครึ่งหนึ่ง ยังเป็นการจัดพอร์ตลงทุนที่เราแนะนำ และใช้กลยุทธ์ Barbell Approach สร้างผลตอบแทนจากกลุ่มเทคโนโลยี ซึ่งถือเป็น Long-term winner ได้แก่ หุ้นกลุ่ม Cloud และ Cybersecurity ที่โตไปตามเทรนด์ Work From Home รวมถึงเทรนด์ Digitalization เช่น ETF ที่ลงทุนล้อไปกับบริษัทที่ประกอบธุรกิจ Cloud อย่าง First Trust Cloud Computing ETF ที่สร้างผลตอบแทนได้กว่า 49% ในช่วงปีที่ผ่านมานอกจากนี้ เรายังแนะนำให้แบ่งสัดส่วนลงทุนในหุ้นกลุ่ม Cyclical เช่น กลุ่มผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์หรือชิพประมวลผล อย่าง VanEck Vectors Semiconductor ETF รวมทั้งกลุ่มท่องเที่ยว ที่จะได้ประโยชน์เมื่อสถานการณ์กลับสู่ปกติ”

นายภาดร กล่าว

นายภาดร กล่าวอีกว่า ยังให้น้ำหนักการลงทุนต่างประเทศส่วนใหญ่อยู่ที่ประเทศสหรัฐและประเทศจีน แต่อย่างไรก็ตามให้คงสภาพคล่องในพอร์ตราว 10-20% เพื่อเตรียมรับมือกับความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นภายหน้า หลังราคาปรับตัวขึ้นร้อนแรง ปีนี้อาจเป็นอีกปีที่ท้าทาย แต่ภายใต้วิกฤติก็จะสร้างโอกาสลงทุนใหม่ ๆ ให้กับนักลงทุนได้เสมอ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ม.ค. 64)

Tags: , , , , ,
Back to Top