สธ.แนะสถานประกอบการยกระดับมาตรการป้องกันควบคุมโควิด-19 อย่างเข้มข้น

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระลอกใหม่ ซึ่งการระบาดในครั้งนี้ จะพบผู้ติดเชื้อในกลุ่มวัยแรงงานที่มีอาการน้อยหรือบางรายไม่แสดงอาการ ซึ่งสามารถแพร่กระจายเชื้อได้ โดยเฉพาะในสถานประกอบการที่มีการร่วมกลุ่มกันทำงาน กรมควบคุมโรค จึงขอเน้นย้ำให้สถานประกอบการ ยกระดับมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด-9 ในองค์กร โดยพิจารณาการสุ่มตรวจพนักงาน เข้มงวดการกักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูง

สำหรับมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 ในสถานประกอบการ มีดังนี้

  1. การควบคุมทางวิศวกรรม คือการใช้หลักการทางวิศวกรรมมาช่วย ได้แก่ การตรวจสอบระบบระบายอากาศ ใช้เครื่องจักรแทนกำลังคนเพื่อเป็นการลดโอกาสการพูดคุยกันแบบต่อหน้าระหว่างพนักงาน และจัดสถานที่ทำงานให้มีฉากกั้นระหว่างบุคคล
  2. การควบคุมโดยการบริหารจัดการเปลี่ยนกระบวนการทำงานที่ต้องสัมผัสใกล้ชิดกับผู้อื่นให้ลดลง เช่น ลดการสัมผัสระหว่างพนักงานและลูกค้า โดยให้สื่อสารผ่านแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ หรือเหลื่อมเวลาพักเบรค และพักรับประทานอาหารกลางวัน งดการเดินทางไปในที่ที่ไม่จำเป็น ให้ความรู้เรื่องปัจจัยเสี่ยงและการป้องกันโรคโควิด-19 โดยเฉพาะการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และวิธีใช้หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยอย่างถูกต้อง
  3. กำหนดวิธีการปฏิบัติงานที่ปลอดภัย โดยจัดสภาพแวดล้อมของการทำงานที่ถูกสุขอนามัยส่วนบุคคล เช่น กระดาษชำระ ถังขยะที่ไม่ต้องใช้มือสัมผัส จัดให้มีสบู่เหลวล้างมือ เจลแอลกอฮอล์ที่เพียงพอ และเพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วม เช่น ลูกบิดประตู ห้องน้ำ ปุ่มกดลิฟต์ ราวบันได เป็นต้น
  4. อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล เช่น ถุงมือ แว่น อุปกรณ์ป้องกันส่วนใบหน้า หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย และในกรณีเป็นพนักงานที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ จะต้องแนะนำการใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลให้ตรงกับลักษณะการทำงาน สุดท้ายควรมีการประเมินความเสี่ยงให้ทันต่อเหตุการณ์ เพื่อป้องกันโรคโควิด-19 ด้วย

นพ.โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับพนักงานในสถานประกอบการ ขอให้สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ เว้นระยะห่าง และไม่ไปในสถานที่แออัดหรืออากาศถ่ายเทไม่สะดวก และเลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมกัน เพื่อลดความเสี่ยงในแพร่และรับเชื้อ หากกลับถึงบ้านแล้วต้องทำความสะอาดร่างกายทันที เพื่อลดโอกาสการนำเชื้อเข้ามาติดต่อสู่คนในครอบครัว โดยเฉพาะผู้อยู่ร่วมบ้านกับผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว เพราะถ้ากลุ่มดังกล่าวได้รับเชื้อจะมีอาการรุนแรงกว่ากลุ่มอื่น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ม.ค. 64)

Tags: , , ,
Back to Top