สธ. ยังห่วงพื้นที่กรุงเทพ เหตุพบผู้ติดเชื้อโควิดเชื่อมโยงกับสมุทรสาคร

นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้ความสำคัญต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยบางพื้นที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้เป็นอย่างดี แต่ยังมีบางพื้นที่ที่มีความซับซ้อนทำให้พบผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก และไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ง่ายคือ จังหวัดสมุทรสาคร และกรุงเทพมหานคร

“พื้นที่กรุงเทพมหานครยังพบผู้ติดเชื้อที่มีความเชื่อมโยงจากจังหวัดสมุทรสาครมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้วไล่ยาวมา เนื่องจากมีความเชื่อมโยงทั้งเรื่องพื้นที่ติดต่อกันและมีประชาชนเดินทางไปมาหาสู่กัน…ยังจำเป็นต้องคงมาตรการควบคุมโรคให้เหมาะสมกับระดับสถานการณ์ระบาดในพื้นที่อีกระยะหนึ่ง”

นพ.เฉวตสรร กล่าว

กรณีการระบาดในกลุ่มโรงงาน 3 แห่งในเขตบางขุนเทียน เกิดจากชายเมียนมาอายุ 37 ปีที่ไปร่วมงานแต่งเพื่อนในจังหวัดสมุทรสาคร แล้วนำเชื้อกลับมาแพร่ให้กับเพื่อนร่วมงาน 74 ราย และคนงาน 17 รายในโรงงานอีก 2 แห่ง โดยความเสี่ยงที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในวงกว้างจากการพักอาศัยรวมกัน นั่งรถไปทำงานคันเดียวกัน รับประทานอาหารร่วมกัน

นอกจากนี้ยังมีประเด็นน่าเป็นห่วงกรณีพบผู้ติดเชื้อรายใหม่จากการแพร่ระบาดในครอบครัวและผู้ที่มีความใกล้ชิดกัน เพราะโอกาสติดเชื้อจากผู้ที่ไม่รู้จักกันมีน้อย ดังนั้นขอให้ทุกคนดูแลตัวเองตามหลักชีวอนามัยอย่างเข้มงวด ส่วนการติดเชื้อจากคลัสเตอร์ผับบาร์นั้นเริ่มน้อยลงจนไม่น่าเป็นห่วงแล้ว

สำหรับมาตราการปรับพื้นที่ที่ทางศูนย์ปฏิบัติการบริหารสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงสาธารณสุข (ศปก.สธ.) เตรียมเสนอต่อที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) โดยใช้รูปแบบจังหวัดแนวกันชนกับจังหวัดที่มีความเสี่ยงที่จะกระจายโรคไปยังพื้นที่อื่น จะแบ่งออกเป็น 5 ระดับ คือ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดที่จังหวัดสมุทรสาครจังหวัดเดียว, พื้นที่ควบคุมสูงสุด 4 จังหวัด, พื้นที่ควบคุม 20 จังหวัด, พื้นที่เฝ้าระวังสูง 17 จังหวัดและพื้นที่เฝ้าระวัง 35 จังหวัด ซึ่งจะพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น สถานการณ์ระบาดในจังหวัด, มีแหล่งโรค เช่น บ่อน สถานบันเทิง ที่เสี่ยงต่อการกระจายไปยังจังหวัดอื่น, เป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการลักลอบเข้าประเทศ, มาตรการเฝ้าระวังเชิงรุกในชุมชนที่พบผู้ติดเชื้อในสัดส่วนต่างๆ

โดยจังหวัดสมุทรสาครที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดจะต้องปิดสถานที่และเข้มงวดการควบคุมกำกับ ได้แก่ สถานบริการ สนามมวย สถานที่ออกกำลังกาย สนามชนไก่ ชนวัว กัดปลา บ่อน กิจการอาบน้ำ อาบอบนวด สปา นวดแผนไทย สนามเด็กเล่น ตู้เกมส์ โรงเรียน สวนสนุก การประชุม งานเลี้ยง สถานีขนส่งสาธารณะ ส่วนสถานที่ที่ให้เปิดแต่เข้มงวดมาตรการป้องกันโรค ได้แก่ ตลาด ตลาดนัด จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ, ร้านอาหารให้ซื้อกลับและเปิดไม่เกิน 21.00 น., ศูนย์การค้าเปิดไม่เกิน 21.00 น.

“มาตรการที่ออกมาจะมีความหนักเบาไปตามสถานภาพของแต่ละพื้นที่..ตอนนี้เป็นร่างที่จะนำเสนอที่ประชุม ศบค.ในวันศุกร์นี้”

นพ.เฉวตสรร กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ม.ค. 64)

Tags: , , , , , ,
Back to Top