สัมภาษณ์พิเศษ: ผ่า GDP ไทยโค้งแรกปีฉลูส่อ “ติดลบ” หนักสุดในเอเชีย

นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า จากการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ในไทย ส่งผลให้ฝ่ายวิจัยฯ คาดว่าตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในไตรมาส 1/64 มีโอกาสติดลบสูง

ทั้งนี้ หากอ้างอิงผลคาดการณ์ GDP ของไทยในไตรมาส 1/64 ตลาดประเมินว่าจะติดลบประมาณ -2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) นับเป็นการติดลบมากที่สุดเมื่อเทียบกับตัวเลข GDP ของประเทศในภูมิภาคเอเชียด้วยกัน โดยประเทศที่มี GDP ติดลบรองลงมา คือ สิงคโปร์ -1.5%, มาเลเซีย -0.7% และ ฟิลิปปินส์ -0.5% เป็นต้น

แม้ว่าประเทศอื่นจะเผชิญกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 เช่นเดียวกับไทย แต่ด้วยโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพารายได้จากภาคท่องเที่ยวเป็นหลัก และยังมีข้อจำกัดในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพราะตามข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) คาดว่าการกระจายวัคซีนต้านโควิด-19 ให้กับคนทั่วโลกคงไม่ทันภายในปีนี้ ทำให้มีความเสี่ยงว่าภาพของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยอาจไม่สามารถฟื้นตัวได้ทันช่วงไฮซีซั่นในไตรมาส 4/64

ส่วนผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/64 ฝ่ายวิจัยฯ ใช้ดัชนีบ่งชี้จากข้อมูล Google Mobility เพื่อสะท้อนข้อมูลการเดินทางของประชาชนช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดรอบใหม่ เบื้องต้นพบว่าการเดินทางลดลงอย่างมีนัยสำคัญ หรือต่ำกว่าเกณฑ์ในภาวะปกติถึง 52% เป็นลักษณะคล้ายกับช่วงเดือน เม.ย.63 ที่เกิดการระบาดช่วงแรกแล้วรัฐบาลประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ทั้งประเทศ ส่งผลต่อการเดินทางของประชาชนให้ลดลงต่ำกว่าเกณฑ์ภาวะปกติกว่า 62% เป็นดัชนีบ่งชี้ว่าตัวเลขการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่จะประกาศในช่วงถัดไป มีความเสี่ยงที่จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญแน่นอน

“ส่วนตัวคิดว่าคงต้องใช้เวลาอีกสักพักใหญ่ กว่าที่เราจะเห็นแสงสว่างในปลายอุโมงค์ ซึ่งก็ยังไม่แน่ใจว่ากว่าที่เศรษฐกิจไทยจะหลุดจากอุโมงค์จะทันภายในปี 64 หรือไม่ คงต้องขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของวัคซีน ขณะที่เศรษฐกิจไทยพึ่งพาอุปสงส์ของเศรษฐกิจโลกเป็นสัดส่วนที่สูง ทำให้เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้ช้ากว่าประเทศอื่น”

นายกอบสิทธิ์ กล่าว

นายกอบสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันฝ่ายวิจัยฯ ยังไม่มีแนวทางทบทวนปรับลดประมาณการ GDP ไทยทั้งปี 64 ที่คาดว่าจะเติบโต 2.6% ซึ่งเป็นตัวเลขต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดที่คาดว่าจะเติบโตประมาณ 3.9% เพราะฝ่ายวิจัยฯ ใช้ความระมัดระวังต่อปัจจัยเสี่ยงผลกระทบเรื่องโควิด-19

และหลังจากนี้ คงต้องติดผลการแจกจ่ายวัคซีนต้านเชื้อโควิด-19 ให้กับประชากรทั่วโลกว่าจะต้องใช้เวลานานแค่ไหน และแนวโน้มตัวเลขอัตราเงินเฟ้อและยอดค้าปลีกจะมีโอกาสฟื้นตัวหรือไม่ ซึ่งหากวิเคราะห์สถานการณ์ในปัจจุบันต่อมุมมองในอนาคต ก็มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะปรับลดประมาณการได้อีกครั้งหากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น

สำหรับภาพเศรษฐกิจไทยระยะยาว หนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตในอัตราที่ชะลอลง คือการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประชากรของไทยนับเป็นข้อจำกัดอย่างมากที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับมาเร่งตัวเหมือนในอดีต และลักษณะของเศรษฐกิจไทยในอนาคตจะคล้ายประเทศญี่ปุ่น ที่แม้ว่าจะใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ก็ไม่ได้เป็นตัวเร่งให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างที่ควร เพราะจำนวนประชากรชาวญี่ปุ่นลดน้อยลงทุกวัน

นอกจากนั้น ในอีกมิติหนึ่งที่เป็นแรงกดดันต่อเงินเฟ้อคือคนไทยมีรายได้ลดลง ตามข้อมูลของธนาคารโลก พบว่าคนไทยเข้าสู่ภาวะยากจนเพิ่มขึ้นในปี 63 เป็น 5.2 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นถึง 1.5 ล้านคน หากเทียบกับปี 62 ที่มีคนยากจนในระดับ 3.7 ล้านคนเท่านั้น โดยกำหนดเส้นแบ่งความยากจนตามรายได้อยู่ที่ประมาณ 165-170 บาทต่อวัน

ส่วนภาพของการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะทบทวนอัตราดอกเบี้ยนโยบายในวันที่ 3 ก.พ.นี้ หลังจากการประชุมครั้งล่าสุดคงอัตราไว้ที่ 0.50% ต่อปี ประเด็นนี้มีมุมมองว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แม้ว่าจะช่วยผ่อนคลายผลกระทบการแข็งค่าของเงินบาทได้ตามข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ส่งออก แต่หากพิจารณาเป็นรายมิติจะพบว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยค่อนข้างต่ำแล้ว หากปรับลดลงอีกจะมีผู้ที่ได้รับประโยชน์เพียงไม่กี่กลุ่มเท่านั้น หนึ่งในนั้นคือรัฐบาล รวมถึงบริษัทเอกชนที่มีอันดับเครดิตเรตติ้ง AAA ขึ้นไป

ดังนั้น ยุคปัจจุบันที่เศรษฐกิจกำลังมีความเสี่ยง การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจไม่ใช่คำตอบที่จะเข้ามาช่วยประคองเศรษฐกิจอย่างแท้จริง แต่ควรใช้มาตรการแก้ไขปัญหาให้ตรงกับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น การลดภาระดอกเบี้ยสินเชื่อบุคคลหรือบัตรเครดิต จะเป็นช่วยบรรเทาผลกระทบการเร่งตัวของหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นได้

“ถ้านำข้อมูลหนี้ในกลุ่มต่างๆ มาเรียงลำดับ พบว่าหนี้ครัวเรือนในไตรมาส 3/63 เพิ่มมาอยู่ที่ 85% ขณะที่สินเชื่อและหนี้ของภาคเอกชนอยู่ที่ 65% ส่วนหนี้สาธารณะของรัฐบาลอยู่ที่ 49% ดังนั้น หากจัดลำดับภาระหนี้ควรเข้ามาช่วยเหลือให้ตรงจุด ภายใต้สถานการณ์เครื่องมือด้านนโยบายการเงินของแบงก์ชาติที่มีค่อนข้างจำกัด”

นายกอบสิทธิ์ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ม.ค. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top