กรุงเทพโพลล์ เผยคนมองปลดล็อกให้ปลูกกัญชา 6 ต้น/ครัวเรือนไม่พอสร้างรายได้

กรุงเทพโพลล์ โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพสำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่อง “ปลดล็อกกัญชา…สู่พืชเศรษฐกิจใหม่ของไทย” จากประชาชนทั่วประเทศจำนวน 1,171 คน พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ทราบข่าวการปลดล็อกกัญชา โดยให้ปลูกอย่างถูกกฎหมายได้ครัวเรือนละ 6 ต้น ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่คิดว่าจำนวนดังกล่าวยังไม่เพียงพอต่อการสร้างรายได้ให้เกษตรกรและนำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้

โดยประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 71.3 ระบุว่าหากภาครัฐต้องการผลักดันกัญชาให้เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ควรให้ความรู้กับผู้ที่ต้องการปลูกและหาตลาดรองรับ ร้อยละ 44.7 กังวลว่าหากควบคุมการปลูกกัญชาไม่ดีอาจมีการลักลอบนำไปเสพ จำหน่ายเป็นสารเสพติดได้ และร้อยละ 50.8 ตอบรับอาหารและเครื่องดื่มเมนูกัญชาโดยให้เหตุผลว่า มีสรรพคุณเป็นยา และอยากลองกินดู

ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 64.5 ระบุว่าข่าวเรื่องที่กระทรวงสาธารณสุขปลดล็อกให้ปลูกกัญชาอย่างถูกกฎหมายได้บ้านละ 6 ต้น แต่ยังไม่ทราบรายละเอียดเรื่องการปลูก รองลงมาร้อยละ 30.4 ระบุว่าต้องมีการรวมตัวเป็นวิสาหกิจชุมชนก่อนจึงขออนุญาตปลูกได้ และร้อยละ 17.3 เข้าใจว่าสามารถปลูกได้เลยอย่างเสรีบ้านละ 6 ต้น ขณะที่ร้อยละ 35.5ระบุว่ายังไม่ทราบข่าว

ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 53.3 ระบุว่าการอนุญาตให้ปลูกกัญชาได้ครัวเรือนละ 6 ต้นนั้นไม่เพียงต่อการสร้างรายได้ให้เกษตรกรและนำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจนั้นไม่เหมาะสมเพียงพอ ขณะที่ร้อยละ 46.7 ระบุว่าเหมาะสมเพียงพอแล้ว

ทั้งนี้หากภาครัฐต้องการผลักดันกัญชาให้เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 71.3 ระบุว่าควรให้ความรู้กับผู้ที่ต้องการปลูกและหาตลาดรองรับ รองลงมาร้อยละ 47.5 ระบุว่าควรปรับเกณฑ์/เงื่อนไขต่างๆ ให้ผู้ที่สนใจเข้าถึงได้ง่ายขึ้น และร้อยละ 44.7 ระบุว่า ควรสนับสนุนผู้ประกอบการที่สนใจผลิตสินค้าแปรรูปจากกัญชา

สำหรับสิ่งที่ประชาชนกังวลมากที่สุดจากการอนุญาตให้ทุกครัวเรือนมีสิทธิปลูกได้บ้านละ 6 ต้นคือ หากควบคุมไม่ดีอาจมีการลักลอบนำไปเสพ จำหน่ายเป็นสารเสพติด ร้อยละ 44.7 รองลงมาคือ ผู้ที่ไม่รู้หลักเกณฑ์ในการปลูกอาจทำผิดกฎหมายโดยไม่รู้ตัว ร้อยละ 17.2 และอาจทำให้มีคนหันมาเสพกัญชามากขึ้น ร้อยละ 16.2

เมื่อถามว่าจะกินอาหารและเครื่องดื่ม เมนูกัญชาหรือไม่ ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 50.8 ระบุว่าจะกิน เพราะเป็นสมุนไพรมีสรรพคุณเป็นยา ร้อยละ 52.5 รองลงมาคือ อยากลอง ร้อยละ 21.1 และเคยกินมาแล้วทำให้อาหารอร่อยขึ้น ร้อยละ 18.0 ขณะที่ร้อยละ 49.2 ระบุว่า จะไม่กิน เพราะเป็นยาเสพติด ร้อยละ 54.9 รองลงมาคือ ไม่ชอบลองของใหม่/ของแปลก ร้อยละ 30.1 และมีโรคประจำตัว ร้อยละ 10.0

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 มี.ค. 64)

Tags: , ,
Back to Top