เกษตร-พาณิชย์ตั้งอนุฯ 4 ชุดขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิตให้เป็นรูปธรรม

นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต ร่วมกับ นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ว่า ที่ประชุมได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนการดำเนินงานรวม 4 ชุด ได้แก่ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการสร้างและใช้ข้อมูลจากฐานเดียวกัน (Single Big Data) คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการสร้างแพลตฟอร์มกลาง “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการสร้างความเชื่อมั่นด้านคุณภาพ มาตรฐาน ความปลอดภัยและการตรวจสอบย้อนกลับ และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาคนและผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของตลาด

โดยคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการสร้างและใช้ข้อมูลจากฐานเดียวกัน (Single Big Data) ซึ่งได้หารือเพื่อพัฒนาระบบฐานข้อมูลร่วมกันทั้ง 2 กระทรวงให้มีความเชื่อมโยงกัน พัฒนาระบบฐานข้อมูลสินค้าเกษตร ด้านฐานข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งาน เข้าถึงข้อมูลได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว และเป็นมิตรต่อผู้ใช้งาน เพื่อใช้ในการวางแผนการผลิตสินค้าเกษตรของเกษตรกรให้มีคุณภาพ มาตรฐานปลอดภัย และมีมูลค่าเพิ่ม ตรงกับความต้องการของตลาดในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้เกษตรกรสามารถขายสินค้าเกษตรได้ในราคาสูง มีรายได้เพิ่มขึ้น และสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก โดยจะดำเนินการจัดทำ Dashboard ในสินค้านำร่องคือมันสำปะหลัง และพิจารณาการจัดทำ dashboard ในสินค้าชนิดอื่นๆ ต่อไป

คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการสร้างแพลตฟอร์มกลาง “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ตั้งเป้าหมายหลักเพื่อทำให้มีการซื้อขายสินค้าเกษตรมากขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผ่านการใช้แพลตฟอร์มกลางดังกล่าว ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ได้มีการลงพื้นที่และทำการศึกษาเพื่อให้ทราบถึงความต้องการของเกษตรกร โดยมีแนวทางการจัดทำแพลตฟอร์มกลางการค้าแบบ B2B (Business-to-Business) มีแนวทางนำร่องโดยคัดเลือกกลุ่มสินค้าเกษตรที่มีความพร้อม มีศักยภาพ ได้แก่ กลุ่มสหกรณ์ กลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ และวิสาหกิจชุมชน โดยจะนำผลการศึกษาและมติที่ประชุมไปดำเนินการออกแบบจัดทำแพลตฟอร์มกลางฯ ต่อไป

คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการสร้างความเชื่อมั่นด้านคุณภาพ มาตรฐาน ความปลอดภัยและการตรวจสอบย้อนกลับ มีแนวทางการดำเนินการยกระดับสินค้าเกษตรและอาหารไทยไปสู่ระดับมาตรฐานพื้นฐานตามที่ตลาดต้องการ เช่น Food Safety GAP GMP เป็นต้น พัฒนาต่อยอดสินค้าเกษตรและอาหารที่ผ่านการรับรองมาตรฐานพื้นฐานแล้วนำไปสู่มาตรฐานระดับสูงสอดคล้องกับความต้องการของตลาด เช่น Organic, GI, Sustainable, Fair Trade เป็นต้น สร้างและพัฒนาสินค้าเกษตรและอาหารไทยเป็นสินค้านำเทรนด์ตลาด โดยเฉพาะสินค้าประเภท Functional Foods อาหารเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคเพื่อตอบโจทย์ในตลาด Niche Market และสร้างความเชื่อมโยงด้านคุณภาพมาตรฐาน ตั้งแต่ต้นน้ำการผลิตไปถึงปลายน้ำผู้บริโภค โดยยกระดับสินค้าเกษตรและอาหารไทยที่ได้มาตรฐานพื้นฐานให้เข้าสู่ระบบการตรวจสอบย้อนกลับ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพมาตรฐานสินค้าให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งมีแนวทางดำเนินงานต่อไปคืออยู่หว่างเลือกสินค้านำร่องที่ได้มาตรฐานมีคุณภาพ สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้

คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาคนและผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของตลาด มีแนวทางการขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตร รวมถึงพัฒนาหลักสูตรต่างๆ ให้แก่บุคลากร ให้ตอบโจทย์และตรงตามความต้องการของตลาด โดยได้ดำเนินการกำหนดกลุ่มสินค้า แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ เกษตรพื้นฐาน (สินค้าข้าว พืชไร่และพืชสวน ผักผลไม้ ปศุสัตว์ และประมง) เกษตรแปรรูป (สินค้าเกษตรแปรรูป เกษตรอัตลักษณ์) เกษตรบริการ (การท่องเที่ยวเชิงเกษตร เกษตรบริการอื่น) และได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการพัฒนาคนและผลิตภัณฑ์ จำนวน 4 คณะ ใน 4 กลุ่มสินค้า ได้แก่ สินค้าข้าวพืชไร่และพืชสวน สินค้าผลไม้ สินค้าปศุสัตว์ และสินค้าประมง โดยมีกำหนดรายงานความคืบหน้าให้คณะอนุกรรมการฯ ทราบเพื่อพิจารณาแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการพัฒนาคนและผลิตภัณฑ์ทั้ง 4 กลุ่มสินค้า ก่อนนำเสนอคณะกรรมการร่วมเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต พิจารณาให้ความเห็นชอบ และมอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวทางขยายผลการขับเคลื่อนการพัฒนาคนและผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของตลาดลงสู่การปฏิบัติจริงต่อไป

ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบแนวทางในการปฏิบัติให้แก่คณะอนุกรรมการทั้ง 4 ชุด เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต ขับเคลื่อนการทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 มี.ค. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top