SCC เร่งผลักดัน BIM Solution ในงานก่อสร้างหวังต่อยอดขายผลิตภัณฑ์ CPAC

นายชนะ ภูมี Vice President Cement and Construction Solution Business และกรรมการบริหาร บริษัทผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด (CPAC) ในธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) เปิดเผยว่า แผนกลยุทธ์การดำเนินงานของบริษัทในปี 64 จะเน้นไปที่การผลักดันกลยุทธ์ “Green Construction” ที่สอดคล้องกับการยึดหลัก ESG เช่นเดียวกับธุรกิจในเครือ SCC ที่จะช่วยยกระดับมาตรฐานงานก่อสร้างของประเทศไทยให้เป็นมิตรแก่สิ่งแวดล้อมในทุกกระบวนการก่อสร้าง และใช้ทรัพยากรและวัสดุก่อสร้างที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้มาตรฐานสุขภาพ และมีการไช้ทรัพยากรที่หมุนเวียน ลดควาสูญเสีย ซึ่งจะเป็นแนวทางที่บริษัทมุ่งเน้นให้กลุ่มลูกค้าของบริษัทหันมาเลือกใช้มากขึ้น

โดยเฉพาะการสนับสนุนการนำเทคโนโลยีจำลองสารสนเทศสำหรับอาคาร (Building Information Modeling :BIM) ในรูปแบบดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ ซึ่ง BIM เป็นเทคโนโลยีที่สามารถจำลองอาคารเสมือนจริงให้แม่นยำในรูปแบบดิจิทัล เพื่อวิเคราะห์และควบคุมงานก่อสร้างให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งบริษัทมีความตั้งใจอยากให้งานโครงการก่อสร้างของภาครัฐและเอกชนต่างๆใช้ BIM แบบครบวงจรในทุกโครงการ เพื่อทำให้การใช้ BIM ได้รับความแพร่หลายมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันสัดส่วนการนำ BIM มาประยุกต์ใช้ในโครงการในไทยยังมีน้อยกว่า 10% ซึ่งมองว่ายังเป็นสิ่งใหม่ที่ยังคงต้องใช้ระยะเวลากว่าที่จะนำมาใช้อย่างแพร่หลาย

“ตอนนี้การไช้ BIM ในไทยยังน้อยอยู่ไม่ถึง 10% แต่เราอยากเห็นภายใน 5 ปีนี้มีการใช้ BIM มากขึ้น และเราก็จะใช้กลยุทธ์นี้ที่เป็นแบบ Quick win โดยการนำ Solution BIM แบบครบวงจรเข้าไปเสริมให้กับลูกค้า และเราก็สามารถต่อยอดในการขายผลิตภัณฑ์เราได้ ซึ่งตอนนี้ก็จะเน้นไปที่งานของภาครัฐก่อน เพราะหากภาครัฐเริ่ม คนอื่นๆก็จะเริ่มตาม ส่วนภาคเอกชนตอนนี้ก็องค์กรใหญ่ก็ใช้ BIM แบบครบวงจร และกลุ่มที่เป็น Early Adoption ก็มีใช้แต่ยังน้อยอยู่ เรามีความตั้งใจที่จผลักดันใน 5 ปี ให้มีการใช้มากขึ้น”นายชนะ กล่าว

อย่างไรก็ตาม บริษัทจะนำการใช้ BIM แบบครบวงจรในการเป็นกลยุทธ์แบบ Quick Win ในการมอบ Solution ให้กับลูกค้า ในสภาวะที่ภาคก่อสร้างในประเทศไทยปัจจุบันยังมีการชะลอตัวอยู่บ้าง จากผลกระทบของโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสที่บริษัทจะหันมาใช้กลยุทธ์การสร้าง Solution ให้กับลูกค้า เพื่อต่อยอดไปถึงการนำเสนอผลิตภัณฑ์ก่อสร้างและวัสดุก่อสร้างของ CPAC เพิ่มเติม

ด้านภาพรวมของภาคการก่อสร้างไทยในปี 64 ยังมองว่าชะลอตัวต่อเนื่องจากปี 63 จากผลกระทบของโควิด-19 รอบใหม่ที่กระทบมาต่อเนื่อง ทำให้เศรษฐกิจยังคงชะลอตัว แม้ว่าจะมีการเริ่มนำวัคซีนโควิด-19 มาฉีดแล้วในประเทศไทย แต่ยังเป็นจำนวนที่น้อย ทำให้ความมั่นใจในการลงทุนยังไม่กลับมา โดยเฉพาะในภาคเอกชนที่ยังชะลอตัว จะเห็นได้จากงานภาคเอกชนที่ชะลอตัวลงไปบ้าง จะเห็นได้ชัดเจนจากการก่อสร้างที่อยู่อาศัยที่เป็นคอนโดมิเนียมที่ลดลงไปมาก จากตลาดคอนโดมิเนียมที่ชะลอตัวมาต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการในตลาดชะลอแผนการพัฒนาคอนโดมิเนียม อีกทั้งการลงทุนก่อสร้างโรงแรมใหม่ๆก็ชะลอลงไปมาก หลังโควิด-19 เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่องานก่อสร้างที่ลดลง และทำให้ความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างลดลงตามไปด้วย ซึ่งคาดว่าตลาดวัสดุก่อสร้างในปีนี้มีโอกาสหดตัวได้ราว 7% จากปีก่อนที่หดตัว 1% เนื่องจากงานใหม่ๆของภาคเอกชนชะลอตัวลงค่อนข้างมาก

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของงานภาครัฐยังคงเข้ามาต่อเนื่อง จากการเริ่มก่อสร้างโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น โครงการรถไฟฟ้า และโครงการสาธารณูปโภคต่างๆ ทำให้แนวโน้มสัดส่วนยอดขายที่มาจากงานภาครัฐในปีนี้มีโอกาสเพิ่มขึ้นไปที่ 50% จากปัจจุบันอยู่ที่ 30% และสัดส่วนยอดขายที่มาจากงานภาคเอกชนจะลดลงมาที่ 50% จากปัจจุบันอยู่ที่ 70% ซึ่งมีปัจจัยที่ทำให้ยอดขายจากงานภาคเอกชนลดลงที่มาจากการก่อสร้างโครงการที่อยู่อาศัยและโรงแรมที่ชะลอตัวลงไปค่อนข้างมาก

“ตอนนี้ก็ต้องดูความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจจะเป็นอย่างไร แม้ว่าจะมีวัคซีนเข้ามาแล้ว แต่ยังไม่กระจายได้ทั่วถึงยังไม่ได้กลับมาเปิดประเทศ และเศรษฐกิจก็ยังไม่ฟื้นชัดเจน ก็ต้องติดตามดูสถานการณ์ว่าจะเริ่มหลับมาดีขึ้นเมื่อไหร่ถ้าทุกอย่างเริ่มกลับมา ความมั้นใจก็เริ่มกลับมา มีการลงทุนใหม่ๆเกิดขึ้น ก็ทำให้ดีมานด์กลับมาดีขึ้น”นายชนะ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 มี.ค. 64)

Tags: , ,
Back to Top