ศบค.ปรับเป็นพื้นที่สีแดง 18 จ.-สีส้ม 59 จ.พร้อมกำหนดมาตรการคุมเข้มรอบใหม่

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงว่า ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในวันนี้ มีมติเห็นชอบตามการเสนอของกระทรวงสาธารณสุข ให้ปรับโซนสีในการดูแลสถานการณ์การแพร่ระบาดให้เหลือเพียงพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) 18 จังหวัด และพื้นที่ควบคุม (สีส้ม) 59 จังหวัด พร้อมทั้งกำหนดมาตรการคุมเข้ม แต่ไม่มีคำสั่งห้ามออกนอกเคหะสถาน (เคอร์ฟิว) หรือการสั่งล็อกดาวน์แต่อย่างใด

“ไม่มีการประกาศเคอร์ฟิวที่จะส่งผลกระทบในวงกว้าง จึงมีการออกข้อกำหนดที่จะควบคุมสถานที่เสี่ยงและไม่ให้เกิดการเคลื่อนย้าย…หากมีผู้ติดเชื้อวันละ 1,500 ราย สิบวันก็ 15,000 ราย แม้จะมีทรัพยากรเพียงพอ แต่ก็เกิดปัญหากระจุกตัวในกรุงเทพฯ”

นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

โฆษก ศบค. กล่าวว่า เป็นการยกระดับมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 ในการระบาดระลอกเดือน เม.ย.64 หลังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทวีคูณและการกระจายไปทุกจังหวัดอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับสถานบันเทิง กิจกรรมรวมกลุ่ม งานเลี้ยงสังสรรค์ และแพร่กระจายไปในครอบครัว เพื่อน และที่ทำงาน ประกอบกับหลังเทศกาลสงกรานต์จะมีผู้เดินทางเพิ่มสูงขึ้น เป็นเหตุให้การแพร่ระบาดอาจมีมากขึ้น จนเกินศักยภาพของระบบบริการสาธารณสุขจะรองรับได้

โดย ศบค.ให้ปรับพื้นที่จังหวัดเป็น 2 สี คือ

  • พื้นที่ควบคุมสูงสุด จังหวัดสีแดง 18 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ชลบุรี สมุทรปราการ ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสาคร ปทุมธานี นครปฐม ภูเก็ต นครราชสีมา นนทบุรี สงขลา ตาก อุดรธานี สุพรรณบุรี สระแก้ว ระยอง และขอนแก่น
  • พื้นที่ควบคุม จังหวัดสีส้ม อีก 59 จังหวัดที่เหลือ

พร้อมออกข้อกำหนดที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย.64 หรือหลังเที่ยงคืนของวันเสาร์ที่ 17 เม.ย. ดังนี้

  • ข้อ 1 ห้ามการดำเนินการหรือจัดกิจกรรมหรือที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค
    • (1) ห้ามการใช้อาคารหรือสถานที่ของโรงเรียนและสถาบันการศึกษาทุกประเภทเพื่อการจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือการทำกิจกรรมใดๆ ที่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมากทำให้เสี่ยงต่อการแพรโรค เว้นแต่การใช้เป็นที่เอกเทศตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ หรือการใช้เป็นสถานที่เพื่อให้ความช่วยเหลืออุปการะ หรือการใช้สถานที่ตามข้อยกเว้นที่กำหนดไว้ในข้อ 1 ของข้อกำหนด (ฉบับที่ 16) ลงวันที่ 3 ม.ค.64
      • “กรณีของโรงเรียนนานาชาติที่จะต้องจัดสอบพร้อมกันกับประเทศอื่น ผู้อำนวยการ ศบค.ให้ทำหนังสือแจ้งขออนุญาตเข้ามาได้” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
    • (2) ห้ามการจัดกิจกรรม ซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าห้าสิบคน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมที่ดำเนินการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือจัดกิจกรรมในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นสถานที่กักกันโรค โดยให้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัด โดยคำแนะนำของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตของพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่จัดกิจกรรมและสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่รับผิดชอบ
  • ข้อ 2 การปิดสถานบริการหรือสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคทั่วราชอาณาจักร ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อพิจารณาสั่งปิดสถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานประกอบกิจการอาบน้ำ สถานประกอบกิจการ อาบอบนวด หรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน โดยให้สั่งปิดสถานที่ดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราวอย่างน้อยสิบสี่วัน
    • กรณีที่ผู้มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อได้มีคำสั่งปิดสถานที่ดังกล่าวไว้ เป็นการชั่วคราวอย่างน้อยสิบสี่วันแล้วตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 19) ลงวันที่ 9 เม.ย.64 ให้คำสั่งดังกล่าวคงมีผลใช้บังคับต่อไป โดยให้ประเมินสถานการณ์และดำเนินการ ตามมาตรการหรือแนวปฏิบัติที่นายกรัฐมนตรีกำหนด
  • ข้อ 3 กำหนดพื้นที่สถานการณ์ กำหนดเขตพื้นที่สถานการณ์ เพื่อการบังคับใช้มาตรการควบคุมแบบบูรณาการ จำแนกตามเขตพื้นที่ ดังนี้
    • (1) พื้นที่ควบคุมสูงสุดให้พื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดขอนแก่น จังหวัดชลบุรี จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดตาก จังหวัดนครปฐม จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดภูเก็ต จังหวัดระยอง จังหวัดสงขลา จังหวัดสมุทรปราการ
      จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสระแก้ว จังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดอุดรธานี รวม 18 จังหวัด เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด
    • (2) พื้นที่ควบคุม ให้พื้นที่จังหวัดอื่นนอกจากที่กำหนดใน (1) รวม 59 จังหวัด เป็นพื้นที่ควบคุม
  • ข้อ 4 มาตรการควบคุมแบบบูรณาการจำแนกตามพื้นที่สถานการณ์ กำหนดมาตรการควบคุมที่จำเป็นอย่างเร่งด่วน สำหรับสถานที่ กิจการ หรือกิจกรรม เพื่อให้สามารถเปิดดำเนินการได้ภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบและระเบียบ รวมทั้งมาตรการป้องกันโรค ที่ทางราชการกำหนด เป็นระยะเวลาอย่างน้อยสิบสี่วัน
    • (1) พื้นที่ควบคุมสูงสุด
      • ก.การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้การบริโภคอาหารและเครื่องดื่มในร้าน ได้ไม่เกินเวลา 21.00 น. และให้จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ได้จนถึงเวลา 23.00 น. ในลักษณะของการนำไปบริโภคที่อื่น
      • ข.การจำหน่ายสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สำหรับร้านอาหารหรือสถานที่จำหน่ายสุรา ห้ามการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน
      • ค.ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้น จนถึงเวลา 21.00 น. โดยให้จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการและงดเว้นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ยกเว้นส่วนที่เป็นตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกมและสวนสนุกที่งดการให้บริการ
      • ง.ร้านสะดวกซื้อ ชูเปอร์มาร์เกต ตลาคนัดกลางคืน ตลาคโต้รุ่ง ถนนคนเดิน ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้นๆ แต่ไม่เกินเวลา 23.00 น. สำหรับร้าน หรือสถานที่ซึ่งตามปกติเปิดให้บริการตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง ให้เริ่มเปิดดำเนินการได้ในเวลา 04.00 น.
      • จ.สนามกีฬาหรือสถานที่เพื่อการออกกำลังกาย ยิม ฟิตเนส สามารถเปิดให้บริการได้ไม่เกินเวลา 21.00 น. และสามารถจัดการจัดการแข่งขันกีฬาได้โดยจำกัดจำนวนผู้ชมในสนาม
    • (2) พื้นที่ควบคุม
      • ก.การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้การบริการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มและการบริโภคในร้านได้ ไม่เกินเวลา 23.00 น.
      • ข.การจำหน่ายสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สำหรับร้านอาหารหรือสถานที่จำหน่ายสุรา ห้ามการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน
      • ค.ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้น จนถึงเวลา 21.00 น. โดยให้จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการและงดเว้นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการยาย ยกเว้นส่วนที่เป็นตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกมและสวนสนุกที่งดการให้บริการ
  • ข้อ 5 การงดหรือหลีกเลี่ยงการเดินทาง รัฐขอความร่วมมือให้ประชาชนงดหรือชะลอการเดินทางในช่วงเวลานี้โดยไม่มีเหตุจำเป็น โดยเฉพาะหลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าไปในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดซึ่งมีการแพร่ระบาดของโรคที่อาจทำให้เลี่ยงหรือมีโอกาสติดโรค

การตั้งจุดสกัดหรือจุดคัดกรอง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการเท่าที่จำเป็นและเหมาะสมแต่ละพื้นที่ตามมาตรการที่ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณืโควิด-19 (ศปก.ศบค.) กำหนด และต้องไม่เป็นการก่อความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ

ให้กระทรวงคมนาคมหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบตรวจสอบและกำกับดูแลการให้บริการขนส่งผู้โดยสารที่เป็นการขนส่งสาธารณะทุกประเภท ดดยต้องมีการจัดการระบบและระเบียบต่างๆ เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคและแนวปฏิบัติตามพื้นที่สถานการณ์ที่ ศปก.ศบค.กำหนด

  • ข้อ 6 การจัดกิจกรรมงานเลี้ยงสังสรรค์ ขอความร่วมมือให้ประชาชนเลื่อนหรืองดการจัดกิจกรรมสังสรรค์ งานเลี้ยงหรืองานนเริงในช่วงเวลานี้ก่อน
  • ข้อ 7 การดำเนินรูปแบบการปฏิบัติงานที่เหมาะสม ขอความร่วมมือให้เจ้าของกิจการ ผู้ประกอบการภาคเอกชนพิจารณาและดำเนินรูปแบบการปฏิบัติงานของบุคลากร ในความรับผิดชอบในช่วงเวลานี้ โดยอาจเป็นการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง การสลับวันทำงาน หรือวิธีการอื่นใดที่เหมาะสม เพื่อลดโอกาสเสี่ยงจากการติดเชื้อ
  • ข้อ 8 มาตรการเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อ ให้ “ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด-19” ร่วมกับ “ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงมหาดไทย” และ “ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง” เร่งดำเนินการจัดหาสถานที่เพื่อใช้เป็นสถานที่รองรับ ดูแลรักษา และ แยกกัก กักกันตัวผู้ติดเชื้อหรือผู้มีเหตุอันควรสงสัยว่าติดเชื้อโดยด่วน โดยขอความร่วมมือจากสถานศึกษา มหาวิทยาลัย โรงแรม หอประชุม สถานที่ของเอกชน หรือสถานที่อื่นใดที่มีความเหมาะสม รวมทั้งเตรียมความพร้อมในการสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์เพื่อการตรวจและรักษาโรค และอุปกรณ์อื่น ที่จำเป็นให้เพียงพอตามมาตรฐานทางสาธารณสุข
  • ข้อ 9 การประเมินสถานการณ์ ให้ ศปก.ศบค. พิจารณาและประเมินสถานการณ์ เพื่อการปรับเปลี่ยนระดับพื้นที่สถานการณ์และมาตรการควบคุมแบบบูรณาการรวมทั้งแนวปฏิบัติตามพื้นที่สถานการณ์ได้ตามความเหมาะสมและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ในห้วงเวลาต่างๆ และเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุญาต

เพื่อความเหมาะสมกับสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัดอาจพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อในการสั่งปิด จำกัด หรือห้ามการดำเนินการของพื้นที่ สถานที่ หรือพาหนะ หรือสั่งให้งดการทำกิจกรรมงมีความเสียงต่อการระบาดของโรค ในเขตพื้นที่รับผิดชอบเพิ่มเติมจากที่กำหนดไว้ โดยให้ดำเนินการสอดคล้องกับมาตรการหรือแนวปฏิบัติที่นายกรัฐมนตรีกำหนด

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า มาตรการต่างๆ จะทดลองบังคับใช้เบื้องต้นอย่างน้อย 14 วัน จากนั้นจะมีการประเมินสถานการณ์เพื่อนำเสนอนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.เพื่อพิจารณาผ่อนคลายมาตรการหากสถานการณ์ดีขึ้น แต่หากสถานการณ์ยังแย่ลงก็อาจจะเพิ่มเติมมาตรการอื่น ๆ รวมถึงให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดประเมินสถานการณ์ในจังหวัดนั้นๆ หากมีความจำเป็นสามารถออกมาตรการเพิ่มเติมได้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 เม.ย. 64)

Tags: , , , , , ,
Back to Top