สัมภาษณ์พิเศษ: PROS ส่องรับเหมาฯไซส์เล็กกับโอกาสบิ๊กโปรเจ็คต์ ตีโจทย์ IPO 2 บ. “ถูก หรือ แพง”

บมจ.พรอสเพอร์ เอ็นจิเนียริ่ง (PROS) ปิดการจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 19-21 เม.ย.ที่ผ่านมา ก่อนจะดีเดย์เดินหน้าเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) วันแรกในวันที่ 27 เม.ย.นี้ โดยการเสนอขายหุ้น IPO ครั้งนี้มีจำนวน 140 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท กำหนดราคาเสนอขายหุ้นละ 2 บาท

สำหรับธุรกิจหลักของ PROS เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านงานรับเหมาติดตั้งงานระบบวิศวกรรมประกอบอาคารที่มีประสบการณ์มากกว่า 24 ปี และมีบริษัทย่อย PROS ถือหุ้น 71.8% ในบริษัท พรอสเพอร์ ไทธรรม์ จำกัด เป็นผู้ให้บริการงานก่อสร้างโครงสร้างและสถาปัตยกรรมครบวงจร มีฐานลูกค้าหลักอยู่ในโครงการพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นหลัก

ส่องราคา IPO 2 บาท “ถูก หรือ แพง”

นายพงศ์เทพ รัตนแสงสรวง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PROS เปิดเผยกับ”อินโฟเควสท์”ว่า ที่มาของการตั้งราคา IPO ที่ 2 บาท มุมมองคิดว่าเป็นราคาเหมาะสม แม้ว่าจะมีกระแสมองว่าตั้งราคาบน P/E ที่ 22 เท่า แต่หากลงลึกรายละเอียดของราคาเป็นการเปรียบเทียบผลประกอบการช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (62-63) ซึ่งเป็นช่วงที่บริษัทมีอัตรากำไรที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติในแต่ละปี จึงคำนวณออกมาเป็น P/E เฉลี่ยอยู่ที่ 22 เท่า

อย่างไรก็ตาม อยากให้พิจารณาข้อมูลจากแนวโน้มผลประกอบการปี 64 ที่กำลังจะเติบโตตามการรับรู้รายได้ของปริมาณงานในมือ หรือ Backlog ที่มีกว่า 2 พันล้านบาทประกอบด้วย ซึ่งเป็นตัวแปรผลักดันผลประกอบการปีนี้เติบโตอย่างแน่นอน ส่งผลให้ P/E หลังจากนี้ไปจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

“ผู้บริหารทุกคนมีความตั้งใจทำงานตอบแทนกับผู้ถือหุ้นทุกคน ที่สำคัญคือการขายหุ้นไอพีโอครั้งนี้ ผู้ถือหุ้นเดิมสัดส่วน 75% จะติดไซเรนท์ พีเรียด ไม่ขายหุ้นเป็นระยะเวลา 1 ปีเป็นหนึ่งสิ่งที่สะท้อนให้กับนักลงทุนเห็นว่าผู้ถือหุ้นและผู้บริหารมีความรักบริษัทและต้องการเดินหน้าสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง”

ท้าพิสูจน์ผลงานปี 64 รายได้โตอย่างน้อย 1.4 พันลบ. อัตรากำไรสุทธิพลิกฟื้นกว่า 6-7%

นายพงศ์เทพ กล่าวต่อว่า เมื่อย้อนกลับมองงบการเงินช่วงปี 62-63 ฉายภาพรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1 พันล้านบาทและมีอัตรากำไรสุทธิเฉลี่ย 2.5-5% เท่านั้น ต่ำกว่าปี 61 ที่มีรายได้กว่า 1.3 พันล้านบาท อัตรากำไรสุทธิ 6-7% เป็นผลกระทบจากการชะลองานก่อสร้างกลุ่มลูกค้าบางราย โดยเฉพาะกลุ่มคอนโดมิเนียม และกลุ่มห้างสรรพสินค้า ประกอบกับมีผลกระทบจากการปรับมาตราฐานบัญชีใหม่

ดังนั้น หากมองโอกาสการเติบโตผลประกอบการปี 64 หลังจากปัจจัยแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป งานที่เคยชะลอในปี63 จะพลิกกลับมาเป็นงานที่รอรับรู้รายได้ในปีนี้กว่า 700 ล้านบาท เมื่อรวมกับงานใหม่ที่ชนะประมูลและรับงานตรงเข้ามาเป็น Backlog อีก 1.3 พันล้านบาท ทั้ง 2 ส่วนจะคิดเป็นมูลค่า Backlog รวมกันกว่า 2 พันล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์

บริษัทจึงเชื่อมั่นว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายรายได้ปี 64 ที่คาดว่าจะเติบโตไม่น้อยกว่า 1.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 62-63 อย่างมีนัยสำคัญ เป็นการกลับสู่ศักยภาพการทำกำไรระดับมาตรฐานตามภาวะปกติของบริษัทอีกครั้ง

สำหรับกลุ่มลูกค้าบริษัท แบ่งเป็น 6 กลุ่ม ประกอบด้วย

  1. กลุ่มห้างสรรพสินค้า ได้แก่ กลุ่มโลตัส ,โฮมโปร ,ดีแคทลอน ,เดอะมอลล์ กรุ๊ป
  2. กลุ่มโรงงาน ได้แก่ กลุ่มบุญรอดบริวเวอรี่น้ำดื่ม “ตราสิงห์” ,โรงงานนีโอแฟคทอรี่ ผลิตสินค้าอุปโภคและบริโภค
  3. กลุ่มอาคารสำนักงาน ได้แก่ อาคารสำนักงานแห่งใหม่กลุ่มอาร์เอส ,อาคารสำนักงานไทยออยล์ แหลมฉบัง , ปรับปรุงอาคารสำนักงานเอสซีจี บางซื่อ
  4. กลุ่มคอนโดมิเนียม ได้แก่ กลุ่ม AP เป็นฐานลูกค้าที่รับงานมาหลาย 10 ปีแล้ว ,กลุ่ม PS
  5. กลุ่มโรงพยาบาล เช่น โรงพยาบาลวชิระ ,โรงพยาบาลจุฬา โรงพยาบาลบำรุงเมือง ,และโรงพยาบาลสมิติเวช
  6. กลุ่มอื่นๆ เช่น Data center ,อาคาร Lab

ส่วนบริษัทบริษัท พรอสเพอร์ ไทธรรม์ เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างอยู่ในแถบมาบตาพุต รับงานกลุ่ม ปตท.เป็นหลัก

ระดมทุน mai รุกชิงโปรเจ็คต์ภาครัฐ ลุยประมูลงานปีละ 1-1.2 หมื่นลบ.

นายพงศ์เทพ กล่าวว่า ในแต่ละปีบริษัทจะเข้าประมูลงานมูลค่ารวมเฉลี่ย 1-1.2 หมื่นล้านบาท หรือเฉลี่ยเดือนละ 1 พันล้านบาท ดังนั้นโครงการที่บริษัทจะเข้าร่วมประมูลงานใหม่ในช่วงที่เหลือของปี 64 น่าจะอยู่ที่ 6-8 พันล้านบาท เป็นงานของกลุ่มลูกค้าเดิมที่บริษัทมีความสัมพันธ์ที่ดีและบริษัทมีคุณสมบัติพร้อมรับงานดังกล่าวอยู่แล้ว ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีโครงการที่อยู่ระหว่างประมูลงานกระจายอยู่ในหลากหลายอุตสาหกรรม

ภายหลังจากการระดมทุนเพื่อรับงานโครงการภาครัฐมากขึ้น จะแบ่งการใช้เงินเป็น 2 ส่วนหลัก ได้แก่ ลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในงานก่อสร้างเพิ่มเติม 30 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนผลักดันศักยภาพการเข้ารับงาน และส่วนที่เหลือประมาณ 250 ล้านบาทจะนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อขยายความสามารถในการเข้าประมูลงานโครงการภาครัฐมากขึ้นภายในปี 64-65 คาดว่าศักยภาพที่เพิ่มขึ้นจากการระดมทุนครั้งนี้ช่วยผลักดันภาพรวมรายได้ช่วง 3 ปีข้างหน้าเติบโตอย่างน้อย 10-15% ต่อปี

“อนาคตเราวางแผนว่าจะมุ่งเน้นงานก่อสร้างเติบโตอย่างน้อยปีละ 20% นอกเหนือโอกาสรับงานโครงการภาครัฐเพิ่มขึ้นแล้ว ยังมองหาโอกาสเพิ่มเติมในแถบพื้นที่อีอีซีที่เป็นโซนที่บริษัทย่อยเข้ารับงานกลุ่มลูกค้าบริษัทชั้นนำหลายราย หากมีความคืบหน้า EEC การขยายการลงทุนภาครัฐและเอกชนมากขึ้น ยิ่งสร้างโอกาสการเติบโตครั้งสำคัญให้กับบริษัทในอนาคต”

นายพงศ์เทพ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 เม.ย. 64)

Tags: , , , , , ,
Back to Top