KKP ปรับลดคาดการณ์ GDP ไทยปีนี้มาที่ 2.2% จากผลกระทบโควิด-19 ระลอกใหม่

กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP Research) ปรับลดประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจลงอีกครั้งมาที่ 2.2% จากเดิมคาดไว้ที่ 2.7% เป็นผลจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในเดือน เม.ย.64 ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการบริโภคภาคเอกชนในช่วงไตรมาส 2/64 โดยเฉพาะจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของภาครัฐ และความวิตกกังวลของผู้บริโภค

ทั้งนี้ KKP Research มองว่าสถานการณ์การระบาดในรอบนี้รุนแรงกว่ารอบที่ผ่านมาในเดือน ม.ค.64 จากจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันที่สูงกว่าในรอบก่อนมาก ในครั้งนี้คาดการณ์ว่าจะต้องใช้เวลาประมาณ 2 เดือนในการควบคุมการแพร่ระบาด

ดังนั้น ประเมินว่าการประมาณการเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยมีความเสี่ยงที่จะลดต่ำลงได้มากกว่านี้ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการควบคุมสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และมาตรการที่จะนำมาใช้เพื่อควบคุมการติดเชื้อ โดยภาคธุรกิจยังน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงเป็นกลุ่มธุรกิจที่น่ากังวลมากที่สุด เนื่องจากได้รับผลกระทบโดยตรงจากการระบาดและการเปิดรับนักท่องเที่ยวที่ล่าช้า

KKP Research ปรับการคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวจาก 1 ล้านคนเหลือเพียง 5 แสนคนในปี 64 เนื่องจากการฉีดวัคซีนค่อนข้างช้า การระบาดรอบใหม่ของประเทศไทย และการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส อาจทำให้นักท่องเที่ยวขาดความมั่นใจในการเดินทางระหว่างประเทศ คาดว่าธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวจะยังคงได้รับผลกระทบอย่างหนักในปีนี้ และจะมีโรงแรมจำนวนมากโดยเฉพาะโรงแรมขนาดเล็กที่จะไม่สามารถเปิดกิจการต่อไปได้

ส่วนการฉีดวัคซีนในหลายประเทศทำได้เร็ว และหลายประเทศจะสามารถกลับมาเปิดเศรษฐกิจได้เต็มที่ภายในปีนี้ ในปัจจุบันประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาสามารถฉีดวัคซีนได้มากถึงวันละกว่า 3 ล้านโดส ทำให้คาดการณ์ได้ว่าสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) ภายในไตรมาสที่ 2-3 ของปีนี้ ในขณะที่ฝั่งยุโรปคาดว่าจะเข้าสู่ภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ในช่วงไตรมาส 3-4 หมายความว่าประเทศเศรษฐกิจหลักหลายแห่งจะสามารถกลับมาเปิดประเทศได้เต็มที่อีกครั้งภายในปีนี้ และจะเป็นแรงหนุนสำคัญต่อการส่งออกของไทย

ขณะที่ KKP Research ประเมินว่าแผนการฉีดวัคซีนของประเทศไทยที่ทำได้อย่างล้าช้า จะส่งผลให้เศรษฐกิจยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนและยังเสี่ยงหดตัวเพิ่มได้อีก จากหลายปัจจัย เช่น การระบาดระลอกใหม่ยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้อีก ซึ่งจะส่งผลสำคัญต่อทั้งกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศ และแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวของไทย, ความสามารถในการรองรับด้านสาธารณสุขอาจถึงขีดจำกัด, วัคซีนของรัฐบาลไทยยังคงฝากความหวังไว้กับ AstraZeneca เกือบทั้งหมดและยังพึ่งพาการผลิตจากแหล่งเดียว และประสบการณ์ในต่างประเทศ แม้เริ่มมีการฉีดวัคซีนแล้ว การติดเชื้ออาจจะไม่ได้ลดลงในทันที

ด้านนโยบายการเงินและการคลัง KKP Research คาดว่าในระยะสั้น นโยบายการคลังจะยังคงเน้นการใช้มาตรการเยียวยาประเภทเงินโอนต่อไปอีก โดยจะใช้งบประมาณจากวงเงิน พ.ร.ก.เงินกู้ฉุกเฉิน 1 ล้านล้านบาท ที่ยังคงเหลือประมาณ 2.5 แสนล้านบาทภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจ และคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.5% ไปตลอดปีนี้ ถึงแม้จะมีการระบาดระลอกใหม่ที่กระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่มาตรการส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การใช้มาตรการด้านสินเชื่อและการปรับโครงสร้างหนี้

อย่างไรก็ดี ในสถานการณ์ที่การฉีดวัคซีนของไทยทำได้ช้ามากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ และอัตราการฉีดวัคซีนของไทยยังอยู่ที่เพียงราว 1% ของประชากรไทย นโยบายการเงินและการคลังจะเป็นเพียงการซื้อเวลาและแบ่งเบาภาระภาคธุรกิจและครัวเรือนได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น ทางออกสำคัญ ณ เวลานี้ คือความพยายามจัดหาและบริหารทรัพยากรด้านสาธารณสุขเพื่อควบคุมการระบาด พร้อมกับการเร่งจัดหาและฉีดวัคซีนให้กับคนไทยให้ได้เร็วที่สุด

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 เม.ย. 64)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top