In Focus: ย้อนรอยสงคราม 20 ปีในอัฟกานิสถาน กับคำสัญญาพาทหารสหรัฐกลับบ้าน

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐประกาศให้คำมั่นเมื่อช่วงกลางเดือนเมษายนว่า สหรัฐจะเริ่มถอนกำลังทหารสหรัฐออกจากอัฟกานิสถานตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.นี้ และจะถอนทหารระลอกสุดท้ายก่อนถึงวันที่ 11 ก.ย.ปีนี้ซึ่งเป็นวันครบรอบ 20 ปีเหตุการณ์ 9/11 เพื่อยุติสงครามครั้งยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐ โดยระบุว่า “สงครามในอัฟกานิสถานไม่ควรถูกส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น … ถึงเวลาแล้วที่เราจะยุติสงครามไม่รู้จบนี้”

รัฐบาลตุรกีขานรับด้วยการจัดการประชุมสุดยอด โดยเตรียมเชิญตัวแทนจากกว่า 20 ประเทศพร้อมด้วยสหประชาชาติ (UN) เข้าร่วม หวังเปิดเวทีเจรจาเพื่อหาทางออกของสงครามในอัฟกานิสถานอย่างสันติ แต่สุดท้ายก็ต้องเลื่อนไปเสียก่อน หลังกลุ่มตาลีบันยืนกรานว่าจะไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วมการประชุม หากกองกำลังต่างชาติยังไม่ออกจากพื้นที่

เนื่องจากเส้นตายกำหนดการเริ่มถอนกำลังทหารกำลังใกล้เข้ามาทุกที In Focus ในสัปดาห์นี้จะพาผู้อ่านย้อนรอยถึงเหตุแห่งสงครามในอัฟกานิสถาน ความพยายามของผู้นำสหรัฐที่ผ่านมาในการยุติความขัดแย้ง รวมถึงเสียงสะท้อนเกี่ยวกับการตัดสินใจของปธน.ไบเดนในการปิดฉาก “สงครามไม่รู้จบ” นี้

จากภารกิจตามล่า “บิน ลาเดน” สู่สงครามสองทศวรรษ

เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 สมาชิกเครือข่ายอัล-กอดิอะห์จี้บังคับเครื่องบินโดยสาร 4 ลำพุ่งเข้าชนอาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ในนิวยอร์ก และอาคารเพนตากอนในกรุงวอชิงตันดีซี ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 3 พันราย หลังจากนั้นเพียงไม่ถึงสัปดาห์ รัฐบาลสหรัฐก็ได้เปิดเผยผลการสืบสวนว่า นายโอซามา บิน ลาเดน ผู้นำเครือข่ายอัลกอดิอะห์เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการก่อเหตุวินาศกรรมดังกล่าว และเริ่มปฏิบัติการไล่ล่าบิน ลาเดนเพื่อนำมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม (ตามแบบฉบับสหรัฐ) โดยทันที

ทว่าภารกิจไล่ล่าของสหรัฐกลับต้องหยุดชะงัก เมื่อกลุ่มตาลีบันซึ่งควบคุมพื้นที่ส่วนใหญ่ในอัฟกานิสถานในยุคนั้นกลับให้การคุ้มครองนายบิน ลาเดน โดยปฏิเสธที่จะส่งตัวผู้นำเครือข่ายอัลกอดิอะห์รายนี้ให้สหรัฐ พร้อมกับเรียกร้องให้สหรัฐนำหลักฐานมาแสดงว่านายบิน ลาเดนเป็นผู้บงการเหตุวินาศกรรมดังกล่าว

เมื่อเจอกับทางตัน จอร์จ ดับเบิลยู บุช ผู้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐในขณะนั้น ไม่เพียงแต่ปฏิเสธข้อเรียกร้องของกลุ่มตาลีบันอย่างไม่มีการประนีประนอม แต่ยังเดินหน้าส่งกองกำลังทหารสหรัฐเปิดฉากสู้รบเพื่อขับไล่กลุ่มตาลีบันและเครือข่ายอัล-กอดิอะห์จากอัฟกานิสถาน ภายใต้ชื่อปฏิบัติการเสรีภาพยั่งยืน (Operation Enduring Freedom) ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหารของชาติพันธมิตรอื่นๆ ในนาโต้ จนลุกลามเป็นสงครามที่มีอัฟกานิสถาน ปากีสถาน และพื้นที่ใกล้เคียงเป็นสมรภูมิ ซึ่งยังคงมีการสู้รบยืดเยื้อเรื่อยมา

สูญเงินนับล้านล้านดอลลาร์ ยังเทียบไม่ได้กับชีวิตที่สูญเสียไป

จากข้อมูลที่สำนักข่าวบีบีซีรวบรวมมา งบประมาณของรัฐบาลสหรัฐในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสงครามในอัฟกานิสถานระหว่างปี 2544-2562 อยู่ที่ระดับ 8.22 แสนล้านดอลลาร์ แต่เงินจำนวนนี้มิได้ครอบคลุมถึงปฏิบัติการทางทหารในปากีสถาน ซึ่งกองทัพสหรัฐได้ใช้เป็นฐานที่มั่น ขณะที่สำนักข่าววอยซ์ ออฟ อเมริการายงานโดยอ้างข้อมูลจากโครงการวิจัยของมหาวิทยาลัยบราวน์และมหาวิทยาลัยบอสตันว่า งบประมาณส่วนนี้อาจสูงถึง 2.261 ล้านล้านดอลลาร์

แต่งบประมาณที่ทุ่มลงไปมหาศาลนั้น ก็เทียบไม่ได้เลยกับชีวิตมนุษย์ที่สูญเสียไประหว่างที่มีการสู้รบ โดยปธน.ไบเดนเปิดเผยในแถลงการณ์ว่า มีเจ้าหน้าที่ทหารของสหรัฐเสียชีวิต 2,448 นาย และได้รับบาดเจ็บอีก 20,722 นายในสงครามครั้งนี้ นอกจากนี้เมื่อปี 2562 ประธานาธิบดีอัชราฟ กานี ของอัฟกานิสถานยังระบุว่า ระหว่างช่วง 5 ปีนับตั้งแต่เขาเข้ามาทำหน้าที่ประธานาธิบดี มีเจ้าหน้าที่รักษาความสงบของอัฟกานิสถานเสียชีวิตไปแล้วกว่า 4.5 หมื่นนาย

เช่นเดียวกันกับสงครามส่วนใหญ่ ผู้เคราะห์ร้ายที่สุดย่อมหนีไม่พ้นประชาชน โดยโครงการวิจัยของมหาวิทยาลัยบราวน์และมหาวิทยาลัยบอสตันข้างต้นประมาณการว่า ระหว่างปี 2544-2564 มีประชาชนในอัฟกานิสถานและปากีสถานเสียชีวิต 71,344 ราย ขณะที่ข้อมูลจากคณะทำงานให้การช่วยเหลืออัฟกานิสถานของสหประชาชาติ (UNAMA) ระบุว่า ในปี 2552-2563 มีประชาชนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตเกิน 1 แสนราย

ไบเดนไม่ใช่ปธน.คนแรกที่ประกาศจะยุติสงคราม แต่จะเป็นคนสุดท้ายหรือไม่

จากตัวเลขงบประมาณและยอดผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมหาศาล ก็ย่อมเข้าใจได้ไม่ยากว่า เหตุใดการยุติสงครามในอัฟกานิสถานจึงเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของประธานาธิบดีสหรัฐยุคหลังอดีตปธน.บุช ถึงกระนั้นก็ยังไม่มีผู้นำประเทศมหาอำนาจนี้รายใดทำได้สำเร็จ

อดีตปธน.บารัค โอบามาก็เคยให้คำมั่นในลักษณะเดียวกัน หลังเจ้าหน้าที่ทหารสหรัฐบุกสังหารนายโอซามา บิน ลาเดนถึงบ้านพักในวันที่ 1 พ.ค. 2554 จนเกิดกระแสกดดันให้สหรัฐเร่งถอนกำลังทหารออกจากอัฟกานิสถาน แต่สุดท้ายแล้ว ในปี 2560 ที่โอบามาลงจากตำแหน่ง ก็ยังคงมีเจ้าหน้าที่ทหารสหรัฐกว่า 1 หมื่นนายประจำการอยู่ในพื้นที่

ในสมัยของอดีตปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ หลังจากเข้ารับตำแหน่งได้ไม่นาน เขาก็ได้ออกคำสั่งทิ้งระเบิดลูกใหญ่ลงยังฐานที่มั่นของกลุ่ม IS ในอัฟกานิสถานเมื่อเดือนเม.ย. 2560 ทำให้ความพยายามของรัฐบาลสหรัฐในการเจรจาขอสงบศึกหลังจากนั้นเป็นไปอย่างทุลักทุเล แต่ในที่สุดสหรัฐก็สามารถกำหนดวันถอนทหารได้ภายในวันที่ 1 พ.ค.นี้

เมื่อมาถึงยุคของปธน.ไบเดน เขาก็ออกมายอมรับตรงๆ เมื่อเดือนมี.ค.ว่า ไม่สามารถดำเนินการถอนกำลังทหารได้ภายในกำหนดเดิม จากนั้นจึงกำหนดวันที่ใหม่เป็น 11 ก.ย. และแม้ในการแถลงข่าวเขาจะยืนกรานอย่างหนักแน่นว่า “จะไม่ส่งต่อความรับผิดชอบนี้ให้กับประธานาธิบดีคนที่ 5” แต่เมื่อดูจากประวัติที่ผ่านมาแล้ว คำสัญญาของปธน.ไบเดนในครั้งนี้ก็คงเป็นเรื่องที่จะต้องรอดูกันต่อไป

เสียงสะท้อนเกี่ยวกับการถอนทหาร และความกังวลถึงผลที่อาจตามมา

การประกาศถอนกำลังทหารออกจากอัฟกานิสถานและการเดินหน้าเจรจาเพื่อสันติภาพนั้น ดูเผินๆ แล้วก็น่าจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสียเพิ่มเติมได้ แต่หลายฝ่ายกลับมองว่าการตัดสินใจของปธน.ไบเดนอาจไม่เป็นผลดีกับสหรัฐ หรือแม้แต่กับอัฟกานิสถานเองก็ตาม

ตัวอย่างเช่น นายมิทช์ แมคคอนเนลล์ ผู้นำฝั่งพรรคริพับลิกันในวุฒิสภาสหรัฐที่กล่าวว่า การตัดสินใจครั้งนี้ของปธน.ไบเดนเป็นความผิดพลาดอย่างมหันต์ พร้อมเตือนว่า “ผู้ก่อการร้ายต่างชาติจะไม่หยุดโจมตีสหรัฐเพียงเพราะว่านักการเมืองของเราเกิดความเบื่อหน่ายกับการทำสงครามแล้ว” ซึ่งตรงกับความคิดเห็นของสว.พรรคริพับลิกันหลายคนที่มองว่า การถอนกำลังทหารจะส่งผลเสียต่อสถานการณ์โดยรวม

ในขณะเดียวกัน ประชาชนชาวอัฟกันบางส่วนก็เกิดความหวาดกลัวว่า หากไม่มีกองกำลังต่างชาติแล้ว กลุ่มตาลีบันก็อาจกลับมาปกครองประเทศเหมือนเมื่อ 20 ปีก่อน และความเจริญก้าวหน้าที่เกิดขึ้นหลังต่างชาติเข้ามาแทรกแซงก็จะถดถอยลงไป เช่น สิทธิเสรีภาพของสตรีซึ่งเคยถูกจำกัดรอบด้าน โดยสำนักข่าวเดอะ การ์เดียนรายงานถึงกลุ่มนักศึกษาสตรีชาวอัฟกันที่แสดงความกังวลว่า หากสถานการณ์กลับไปเป็นเหมือนยุคกลุ่มตาลีบันเรืองอำนาจ พวกเธอก็อาจไม่สามารถเข้าถึงการศึกษา หรือแม้แต่ออกจากบ้านของตนเองได้

ทั้งวันที่ 11 ก.ย. และวันที่ 1 พ.ค.ในการกำหนดกรอบเวลาสำหรับการถอนกำลังทหารของสหรัฐออกจากอัฟกานิสถานในปีนี้นั้น ต่างก็มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ โดยวันที่ 11 ก.ย.เป็นวันครบรอบ 20 ปีของเหตุวินาศกรรม 9/11 ซึ่งนำไปสู่สงครามที่ยาวนานที่สุดครั้งหนึ่งของสหรัฐ และวันที่ 1 พ.ค.เป็นวันครบรอบ 10 ปีของการสังหารนายโอซามา บิน ลาเดนซึ่งเป็นภารกิจที่ลุล่วง แต่ก็ไม่อาจเรียกได้ว่าประสบผลสำเร็จ เพราะสงครามไม่ได้สิ้นสุดลงด้วยความตายของนายบิน ลาเดน แต่กลับยังคงยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน

คำถามที่ว่าปธน.ไบเดนจะยุติสงครามที่ดำเนินมาสองทศวรรษได้หรือไม่ และหากทำสำเร็จจะมีผลตามมาอย่างไร ต่างเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยากยิ่ง แต่สิ่งหนึ่งที่แน่นอนก็คือการตัดสินใจครั้งนี้จะส่งผลต่อชีวิตผู้คนนับล้าน ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ทหารสหรัฐ เจ้าหน้าที่นานาชาติ ไปจนถึงประชาชนในพื้นที่ เรื่องนี้จึงเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ควรจับตาดูอย่างใกล้ชิดว่าจะเป็นไปในทิศทางใด

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 เม.ย. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top