สัมภาษณ์พิเศษ: เปิดไทม์ไลน์ อย. แจกไลเซ่นส์กัญชงเมืองไทย

เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า สำนักงาน อย.พร้อมออกใบอนุญาตให้ทุกภาคส่วนที่ต้องการดำเนินกิจการเกี่ยวกับกัญชง-กัญชาทุกประเภท ตั้งต้นน้ำตลอดไปจนถึงปลายน้ำ เป็นการปฎิบัติตามหลักข้อกฎหมายที่กำหนดไว้

ตั้งแต่การนำเข้าเมล็ดพันธุ์, การเพาะปลูก, การนำไปใช้งานเชิงพาณิชย์, การนำไปใช้งานในครัวเรือน, การสกัดน้ำมัน, การผลิตเส้นใย ตลอดจนการส่งออก

สำนักงาน อย.มีความมุ่งมั่นอย่างมากที่ต้องการสนับสนุนพืชกัญชง-กัญชาของไทย ให้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ที่สร้างรายได้เข้าประเทศ

“การขอใบอนุญาตแต่ละฉบับ ในส่วนกลางสามารถขอใบอนุญาตได้ที่ อย. ส่วนต่างจังหวัดให้ติดต่อสาธารณสุขจังหวัดนั้นๆ แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีกระแสความล่าช้า แต่ไม่ใช่ว่า อย.จะกีดกัน แต่กฎหมายเขียนไว้อย่างนั้น การพิจารณาอนุญาตทุกเรื่องจึงต้องให้เกิดความรัดกุม หากไม่มีใบอนุญาตก็ยังต้องมีโทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติด”

เภสัชกรหญิงสุภัทรา กล่าว

สำหรับช่วงเวลาการออกใบอนุญาตแต่ละฉบับนั้น ที่ผ่านมาสำนักงาน อย. ออกใบอนุญาตการนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชงเพื่อมาเพาะปลูกแล้ว ซึ่งขณะนี้ก็มีผู้สนใจขออนุญาตปลูกกัญชงเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสานตอนบนที่มีสภาพอากาศเหมาะสม ซึ่งสำนักงาน อย. ส่งเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบพื้นที่เพื่อเสนอให้คณะกรรมการจังหวัดฯพิจารณา ก่อนจะนำเสนอคณะอนุกรรมการออกใบอนุญาต คาดว่าจะมีความชัดเจนในเดือน พ.ค.-มิ.ย.นี้ และจะได้เห็นผลผลิตล็อตแรกในช่วงปลายปีนี้

นับว่าสอดคล้องกับการออกใบอนุญาตการตั้งโรงงานสกัด ผู้ประกอบการหลายรายเข้ามาขอใบอนุญาต แต่ต้องคำนึงถึงความสำคัญของการก่อสร้างโรงสกัดที่มีมาตราฐานระดับสากล ซึ่งหากโรงสกัดได้รับมาตรฐานตามหลักเกณฑ์แล้ว สำนักงาน อย.ก็พร้อมจะออกใบอนุญาตได้ทันที และจากการสำรวจความพร้อมของผู้ประกอบการที่ยื่นขอใบอนุญาตเรื่องโรงสกัด เบื้องต้นคาดหวังว่าจะเห็นการผลิตออกเป็นผลิตภัณฑ์ภายในไตรมาส 4/64

“วันนี้ที่กฎหมายออกมาใช้แล้ว คือการนำโปรตีนจากเมล็ดกัญชงและน้ำมันจากเมล็ดกัญชงนำมาเป็นส่วนผสมของอาหาร และการนำสารสกัดและน้ำมันจากเมล็ดกัญชงมาเป็นผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องสำอางค์ และภายในเดือน เม.ย.นี้ จะมีการอนุมัติการนำสาร CBD และใบ กิ่ง ก้าน รากของกัญชามาเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางค์ที่สามารถล้างออกได้ รวมถึงนำมาเป็นส่วนผสมในอาหารก็จะอนุมัติในเดือน เม.ย.นี้เช่นกัน ส่วนผลิตภัณฑ์ที่เป็นสมุนไพรก็สามารถมาขอใบอนุญาตได้ที่กองสมุนไพรผลิตภัณฑ์ อย.ได้เลย”

เภสัชกรหญิงสุภัทรา กล่าว

รองเลขาธิการ อย.กล่าวต่อว่า ปัจจุบันกระแสการเปิดเสรีการใช้ “กัญชง-กัญชา” ส่งผลให้เกิดการตื่นตัวของธุรกิจที่เกี่ยวข้องอย่างหลากหลาย เช่น การก่อสร้างโรงเรือน การผลิตปุ๋ย การผลิตถุงเพาะชำ มองเป็นโอกาสดีของประเทศไทยที่จะก้าวไปเป็นผู้ผลิตระดับแถวหน้า เนื่องจากมีสภาพอากาศที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศจากการส่งออกเพิ่มมากขึ้น

ด้านหลักเกณฑ์ของการประกอบกิจการภายใต้ใบอนุญาตประเภทต่างๆ นั้น ตามกฎหมายห้ามซื้อขายใบอนุญาตทุกประเภทและไม่สามารถจะโอนย้ายไปให้ผู้อื่นได้ โดยกฎหมายกำหนดอายุใบอนุญาตเป็นแบบปีต่อปี และหมดอายุภายในวันที่ 31 ธ.ค.ของทุกๆ ปี ซึ่งบุคคลทั่วไปไม่มีค่าธรรมเนียม แต่หากเป็นนิติบุคคลจะคิดค่าธรรมเนียมแบบขั้นบันไดตามขนาดกิจการ เช่น จำนวนพื้นที่เพาะปลูก เป็นต้น

“การออกกฎหมาย จะอิงหลักวิชาการและหลักสากล เมื่อปี 62 เป็นการอนุญาตให้นำกัญชามาใช้เพื่อการวิจัย ปี 63 อนุญาตเพื่อเศรษฐกิจ อย.ส่งเสริมให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ หวังว่าจะเป็นพืชเศรษฐกิจสร้างรายได้กับเกษตรกรอย่างแท้จริงต่อไปในอนาคต”

เภสัชกรหญิงสุภัทรา กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 เม.ย. 64)

Tags: , , , , , ,
Back to Top