KWM คาดบ.ย่อย สกัด-ขายสารสกัดพืชสมุนไพรได้ใน Q3/64 เล็งต่อยอดผลิตเครื่องสำอาง

นายเอกพันธ์ วนโกสุม ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เค.ดับบลิว.เม็ททัล เวิร์ค (KWM) เปิดเผยว่า บริษัท แล็บแอคทีฟ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ดำเนินธุรกิจการสกัด แปรรูปวัตถุดิบที่ได้จากพืชผลทางการเกษตร และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง โดย KWM ถือหุ้นในสัดส่วน 51% ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการสกัดพืชผลทางการเกษตรอยู่หลายชนิด เช่น มะรุม, กระท่อม ซึ่งเป็นพืชสมุนไพรที่ตลาดมีความต้องการอย่างมาก คาดว่าจะสามารถสกัดพืชสมุนไพรดังกล่าวและจำหน่ายได้ในไตรมาส 3/64 รวมถึงยังมองการต่อยอดนำเอาสารสกัดฯ ไปใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางด้วย คาดเห็นความชัดเจนได้เร็วๆ นี้

ขณะที่ภาพรวมการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ในปีนี้ ยังคงมั่นใจรายได้จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 15% จากปี 63 ที่มีรายได้อยู่ที่ 355.06 ล้านบาท เป็นไปตามการเติบโตของยอดขายสินค้าทั้ง 2 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย สินค้าการเกษตรที่ผลิตให้กับกลุ่มบริษัทการเกษตรชั้นนำ ได้แก่ บริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด ภายใต้แบรนด์ “ตราช้าง” คิดเป็นสัดส่วนรายได้ประมาณ 80% ของรายได้รวม รวมถึงสินค้าภายใต้แบรนด์ “Pegasus” ซึ่งเป็นตราสินค้าของบริษัทเองที่ผลิตอุปกรณ์การเกษตร เช่น ใบผาล ใบจักร ใบคัดท้าย โครงผาล ใบดันดิน ใบเกลียวลำเลียง คิดเป็นสัดส่วนรายได้ประมาณ 20% ของรายได้รวม

ทั้งนี้ คาดแนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/64 น่าจะเติบโตได้ต่อเนื่อง หลังได้รับอานิสงส์จากปัจจัยด้านฤดูกาลเพาะปลูกขอภาคการเกษตร ประกอบกับสถานการณ์ของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลาย ส่งผลให้ประชากรคนในเมืองส่วนใหญ่ตัดสินใจย้ายกลับเข้าไปทำอาชีพภาคการเกษตรในภูมิลำเนาตามต่างจังหวัด ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้เร่งผลักดันการเติบโตของยอดขายสินค้าเครื่องจักรและอุปกรณ์การเกษตรเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ปัจจุบันบริษัทฯ ยังมีแผนเพิ่มสินค้าอุปกรณ์การเกษตรรูปแบบใหม่ๆภายใต้แบรนด์ “Pegasus” เพื่อต้องการตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าและยังเป็นส่วนช่วยเสริมศักยภาพทำกำไรในอนาคตให้ดีขึ้น นอกจากนี้ บริษัทฯ อยู่ระหว่างการศึกษาขยายสินค้าเข้าไปสู่ตลาดต่างประเทศ โดยจะนำร่องกลุ่มประเทศกลุ่ม CLMV ซึ่งจะเป็นลักษณะการร่วมมือกับพันธมิตรที่มีเครือข่ายและช่องทางการจำหน่ายสินค้าอุปกรณ์การเกษตรในประเทศกลุ่ม CLMV เบื้องต้นคาดว่าแผนการขยายตลาดต่างประเทศน่าจะมีความชัดเจนภายในปี 65

นายเอกพันธ์ กล่าวว่า ด้านแนวโน้มราคาเหล็กที่เป็นต้นทุนวัตถุดิบการผลิตหลักที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น บริษัทฯ ไม่ได้กังวลกับประเด็นดังกล่าว เนื่องจากบริษัทฯ สามารถเจรจาขอปรับขึ้นราคาสินค้ากับคู่ค้าได้ในทุกๆ ไตรมาส ขณะเดียวกันยังได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน (BOI) ทั้ง 2 โรงงาน ประกอบด้วยโรงงานแห่งที่ 1 ได้รับการลดหย่อน 50% ไปจนถึงปี 66 และโรงงานแห่งที่ 2 ได้รับการลดหย่อนเต็มจำนวนถึงปี 69 ซึ่งภายหลังจากนี้มีแผนย้ายสายการผลิตส่วนใหญ่มายังโรงงานแห่งที่ 2 ที่ได้รับประโยชน์ทางภาษีต่อเนื่องช่วงระยะ 5 ปี ทำให้ภาพรวมตลอดทั้งปี 64 บริษัทฯ เชื่อมั่นว่าจะยังรักษาความสามารถทำกำไรได้เป็นอย่างดี และยังส่งผลบวกต่ออัตรากำไรที่ดีระยะยาวด้วย

“แม้ว่าแผนเดิมบริษัทฯ จะต้องย้ายสายการผลิตส่วนใหญ่ไปโรงงานแห่งที่ 2 ภายในครึ่งปีแรก แต่ด้วยปริมาณออดเดอร์การผลิตอุปกรณ์การเกษตรที่เข้ามาเป็นจำนวนมาก ทำให้วันนี้ยังมีความจำเป็นต้องใช้สายการผลิตเต็มที่ของโรงงานทั้ง 2 แห่งไปก่อน แต่เนื่องด้วยโรงงานแห่งที่ 2 ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเต็มจำนวนเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสนับสนุนความแข็งแกร่งด้านศักยภาพทำกำไรของบริษัทอย่างต่อเนื่อง”

ความคืบหน้าแผนขยายเข้าสู่ธุรกิจกัญชงและกัญชานั้น ปัจจุบันบริษัทฯ มีความสนใจยื่นขอใบอนุญาตจัดตั้งโรงงานสกัดกัญชงและกัญชาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยเป็นการดำเนินธุรกิจผ่านบริษัทย่อยที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่เพื่อดำเนินธุรกิจโรงงานสกัดกัญชงและกัญชงในการต่อยอดพัฒนาเพื่อวิจัยในการผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและผลิตภัณฑ์กลุ่มที่ใช้ทางการแพทย์โดยเฉพาะ ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ มีความร่วมมือกับพันธมิตรที่มีศักยภาพหลายราย อาทิ ความร่วมมือกับ บริษัท เอ็น.อี.เฮมพ์ จำกัด (N.E.Hemp) เป็นบริษัทย่อยของ บมจ.นอร์ทอีส รับเบอร์ (NER) ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการวางระบบเพาะปลูกและพัฒนาสายพันธุ์เพื่อป้อนเป็นวัตถุดิบคุณภาพที่มีสาร THC และ CBD ตามหลักเกณฑ์ของสำนักงาน อย.ที่กำหนดไว้ในข้อกฎหมาย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 พ.ค. 64)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top