กทม.ตั้งเป้าคุมคลัสเตอร์ไม่เกิน 28 วัน/แจงจุดฉีดวัคซีนนอกรพ.ระยะทดลอง ยังไม่เปิดวอล์คอิน

พญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงการแพร่ระบาดโควิด-19 ในขณะนี้ พบว่ามีหลายคลัสเตอร์ที่อยู่ในชุมชน และชุมชนบางแห่งสามารถบริหารจัดการดูแลกันเองได้เป็นอย่างดี อาทิ ชุมชนริมคลองวัดสะพาน เขตคลองเตย ที่ได้แยกประชาชนที่ติดเชื้อออกจากครอบครัวมาดูแลพักคอยก่อนนำส่งสถานพยาบาล อันเป็นการลดการแพร่ระบาดให้แก่คนในครอบครัวและชุมชน ซึ่งถือเป็นชุมชนต้นแบบ Community Isolation ซึ่งชุมชนอื่นสามารถนำแนวทางนี้ไปปรับใช้ หรือจัดเตรียมสถานที่รองรับไว้หากพบการระบาดในพื้นที่ต่อไป

ทั้งนี้ สำนักอนามัย เร่งการควบคุมโรคโควิด-19 ให้อยู่ในช่วงระยะเวลาที่กำหนด คือ ควบคุมการระบาดในแต่ละคลัสเตอร์ให้ได้ภายใน 28 วัน ซึ่งการควบคุมที่ดีคือการตรวจเชิงรุกควบคู่ไปกับการฉีดวัคซีนป้องกันการแพร่ระบาด และการนำผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาที่รวดเร็ว จึงจะทำให้เกิดการควบคุมโรคที่ดี มีประสิทธิภาพ

สำนักอนามัยได้มีการวางแผนเพื่อควบคุมโรคเชิงรุกโดยปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์รายวันและรายสัปดาห์ โดยกรุงเทพมหานคร บูรณาการการทำงานร่วมกับกระทรวงแรงงาน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ขยายเวลาตรวจโควิด-19 เชิงรุก แก่ผู้ประกันตน แรงงานนอกระบบ และกลุ่มพนักงานส่งอาหาร Delivery โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ที่อาคารกีฬาเวสน์ 1 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 31 พ.ค.64 โดยให้บริการตั้งแต่เวลา 08.00 -16.00 น. ซึ่งในแต่ละวันตรวจได้ไม่เกิน 3,000 คน รอบเช้า 1,500 คน และรอบบ่าย 1,500 คน เมื่อพบผู้ติดเชื้อกระทรวงแรงงานจะส่งต่อเข้าสู่ระบบการรักษา นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครจะร่วมกับกองทัพไทยในการให้บริการตรวจโควิด-19 เชิงรุกกระจายไปตาม 6 กลุ่มโซน ซึ่งประชาชนกลุ่มเสี่ยงสูงจะสามารถไปใช้บริการได้

ในส่วนของวัคซีน ขณะนี้กรุงเทพมหานครได้ขอจัดสรรจากรัฐบาล 500,000 โดส โดยรัฐบาลจะส่งมอบให้กรุงเทพมหานครจำนวน 1 ล้านโด้ส หลังจากวันที่ 17 พ.ค.นี้ เพื่อเร่งฉีดให้บุคลากรด่านหน้าและผู้ที่มาช่วยในหน่วยบริการ สำหรับการฉีดวัคซีนให้แก่ชาวต่างชาติที่พำนักในประเทศไทยนั้น สำนักอนามัยยังยึดถือแนวทางการให้วัคซีนของรัฐบาลที่กำหนดให้วัคซีนแก่ทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมา ได้มีการฉีดวัคซีนให้แก่แรงงานต่างชาติที่ทำงานในจังหวัดสมุทรสาครมาแล้ว ในส่วนของกรุงเทพมหานครเมื่อเปิดให้ประชาชนได้ลงทะเบียนรับวัคซีนแล้ว จึงจะเปิดให้แก่กลุ่มชาวต่างชาติต่อไป

ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษก กทม. เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้ป่วยโควิด-19 ในกทม.มีหลายกลุ่มก้อน (cluster) ที่สำคัญ อาทิ ชุมชนแออัดในเขตคลองเตย ตลาดห้วยขวาง แฟลตดินแดง เขตดินแดง ปากคลองตลาด เขตพระนคร สี่แยกมหานาค เขตดุสิต สำเพ็ง เขตสัมพันธวงศ์ บริษัทขายตรงตึกเอมไพร์ เขตสาทร ชุมชนวัดโสมนัส เขตป้อมปราบฯ ชุมชนบ่อนไก่ เขตปทุมวัน ชุมชนบ้านขิง/The mall บางแค เขตบางแค เป็นต้น

ทั้งนี้ มีหลาย cluster ที่มีแนวโน้มที่จะสามารถควบคุมการระบาดได้ ได้แก่ บริษัทขายตรงตึกเอมไพร์ เขตสาทร ชุมชนวัดโสมนัส เขตป้อมปราบฯ ชุมชนบ่อนไก่ เขตปทุมวัน ชุมชนบ้านขิง/The mall บางแค เขตบางแค ทั้งนี้กรุงเทพมหานครร่วมกับสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) กระทรวงสาธารณสุข กองทัพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดใน Cluster ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะชุมชนแออัดคลองเตยปัจจุบันได้เร่งตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก (Swab) ในตลาดคลองเตย เพื่อแยกผู้ติดเชื้อนำเข้าสู่ระบบรักษาพยาบาล

สำหรับแนวทางการให้วัคซีนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เนื่องจากวัคซีนที่ กทม.ได้รับจัดสรรในช่วงนี้มีปริมาณจำกัด จึงมีการจัดลำดับในการวัคซีนแก่ผู้มีความเสี่ยง ได้แก่ บุคลากรด่านหน้าที่มีหน้าที่ในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคและกลุ่มอาชีพเสี่ยงก่อน จากนั้นจะเป็นการให้วัคซีนในระยะต่อไปสำหรับกลุ่มผู้ป่วย 7 กลุ่มโรค และผู้สูงอายุที่ได้ลงทะเบียนผ่านช่องทางต่างๆ อาทิ หมอพร้อม หรือลงทะเบียนผ่านโรงพยาบาล แล้วจึงจะให้บริการสำหรับประชาชนทั่วไป

นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครยังได้พิจารณาให้วัคซีนเร่งด่วน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดในพื้นที่ที่พบคลัสเตอร์การระบาดหลายชุมชน อาทิ ชุมชนคลองเตย และบ่อนไก่ ซึ่งเป็นมาตรการเชิงรุกตามแผนที่กรุงเทพมหานครแจ้งกับกระทรวงสาธารณสุขไปก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม หากได้รับการการจัดสรรวัคซีนจากกระทรวงสาธารณสุขเพิ่มเติม กรุงเทพมหานครจะเร่งฉีดให้แก่ประชาชนในกลุ่มที่มีความต้องการต่อไป

โฆษก กทม. ยังกล่าวถึงการฉีดวัคซีนนอก รพ.ระหว่างวันที่ 12-14 พ.ค.ว่า เป็นระยะทดลองระบบที่ กทม. ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ให้บริการวัคซีนกลุ่มเป้าหมายที่ทาง กทม.มีรายชื่อแล้ว ตามที่ได้รับจากองค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย บุคลากรทางการแพทย์ที่ยังตกค้างบางส่วน ครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อเตรียมพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด่านหน้า เช่น อาสาสมัครสาธารณสุข เจ้าหน้าที่สอบสวนโรค ทีมที่ต้องเข้าไปดูแลประชาชนในชุมชน พนักงานเก็บขนขยะ และประชาชนกลุ่มอาชีพเสี่ยง ในเบื้องต้นจะเน้นไปที่บุคคลที่ต้องทำงานบริการประชาชนและมีความเสี่ยงสูง เช่น พนักงานขับรถโดยสารสาธารณะ รถประจำทาง แท็กซี่ วินมอเตอร์ไซต์ รวมถึงคนขับเรือโดยสาร ผู้มีอาชีพผู้ดูแลผู้สูงอายุ และเจ้าหน้าที่ศูนย์รับเลี้ยงเด็กเล็ก เป็นต้น

โดยทั้งหมด กทม.ประสานนำรายชื่อจากองค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดูแลกลุ่มอาชีพต่าง ๆ เพื่อเข้ารับการฉีดในจุดฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาลทั้ง 14 จุดที่ดำเนินการร่วมกับหอการค้าไทย ไม่ได้เป็นการเปิดรับประชาชนทั่วไปที่ walk in เข้ามาที่จุดบริการฉีดวัคซีนฯ ส่วนกลุ่มอาชีพเสี่ยงอื่น ๆ จะได้รับการพิจารณาให้ได้รับวัคซีนในลำดับถัดมา ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปริมาณวัคซีนที่ได้รับจัดสรร หากมีปริมาณมากจะสามารถให้บริการวัคซีนกับกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ได้มากและรวดเร็วยิ่งขึ้น โดย กทม.จะประชาสัมพันธ์แจ้งให้ทราบเป็นระยะ ตามปริมาณวัคซีนที่ได้รับ

ด้าน นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. กล่าวว่า สำหรับศักยภาพการรองรับผู้ป่วยในขณะนี้ กรุงเทพมหานครยังเดินหน้าบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนในการควบคุมโรค และยังคงมาตรการต่างๆ อย่างเข้มข้นเพื่อเร่งคลี่คลายปัญหา โดยสถานการณ์การรองรับผู้ป่วยสีเขียวหรือผู้ป่วยที่ไม่มีอาการเป็นไปด้วยดี ในส่วนของผู้ป่วยสีเหลืองและแดง ได้ขยายขีดความสามารถโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานครเพื่อรองรับผู้ป่วยอย่างเต็มที่ รวมทั้งขณะนี้สำนักการแพทย์ได้รับเต้นท์ความดันลบมาเพิ่มเติม จึงสามารถรับผู้ป่วยสีแดงได้อีกจำนวนหนึ่ง โดยจะปรับแผนเป็นระยะเพื่อรองรับสถานการณ์ในขณะนี้

ในส่วนของประชาชนประชาชนที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ที่ประสงค์รับบริการวัคซีน ตั้งแต่ 7 มิ.ย. 64 เป็นต้นไป ให้ลงทะเบียนผ่าน Line OA “หมอพร้อม” หากไม่สามารถลงทะเบียนได้ สามารถลงทะเบียนได้ที่ศูนย์ BFC ณ โรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ทั้ง 11 แห่ง หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนสำนักการแพทย์ 1646

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 พ.ค. 64)

Tags: , , , , , , , , , , , , , ,
Back to Top