สภาพัฒน์ เผย GDP ไตรมาส 1/64 ติดลบ -2.6% โควิดรอบใหม่ฉุดการบริโภคเอกชน

สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แถลงผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ไตรมาส 1/64 ลดลง 2.6% ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลง 4.2% ในไตรมาส 4/63 โดยการผลิตในภาคเกษตรขยายตัวต่อเนื่อง และภาคนอกเกษตรปรับตัวดีขึ้น การลงทุนในประเทศเร่งตัวขึ้น การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคขั้นสุดท้ายของรัฐบาลขยายตัวต่อเนื่อง การส่งออกสินค้าปรับตัวดีขึ้น ส่วนรายรับจากบริการต่างประเทศยังคงลดลง อย่างไรก็ตาม การระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เริ่มขึ้นในช่วงปลายปี 63 ส่งผลกระทบให้การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชนกลับมาลดลงอีกครั้ง

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒน์ ระบุว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/64 นั้น ด้านการใช้จ่าย ยังมีแรงสนับสนุนสำคัญจากการกลับมาขยายตัวของการส่งออกสินค้า ที่ขยายตัวได้ 3.2% และการลงทุนรวมที่ขยายตัวได้ 7.3% ซึ่งเป็นการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน และการขยายตัวต่อเนื่องของการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวลดลง -0.5% และภาคบริการการท่องเที่ยวที่ลดลงมากถึง -63.5%

“ในไตรมาสแรกนี้ แม้ส่งออกจะโตได้ 3.2% การลงทุนรวมโต 7.3% แต่ยังไม่พอที่จะชดเชยกับสาขาที่หดตัวลง เช่น การบริโภคภาคเอกชน และภาคบริการ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่ลดลงมากถึง -63.5%…การระบาดของไวรัสโควิดในช่วงต้นปี 64 ที่แม้จะควบคุมได้ระดับหนึ่งแล้วในปลายเดือนมี.ค. แต่ก็กลับมาระบาดอีกครั้งในเดือนเม.ย.จนถึงปัจจุบัน”

เลขาธิการสภาพัฒน์ระบุ

ขณะที่ด้านการผลิต พบว่าสาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม และสาขาการก่อสร้างกลับมาขยายตัว ในขณะที่สาขาเกษตรกรรม สาขาข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร สาขาการเงินขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนการผลิตในสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร สาขาการขนส่ง และสถานที่เก็บสินค้า สาขาไฟฟ้าและก๊าซ และสาขาการขายส่ง-ขายปลีก และการซ่อมแซมลดลงต่อเนื่อง

ด้านอัตราแลกเปลี่ยน พบว่าในไตรมาส 1/64 เงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 30.29 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าขึ้น 10.7% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/63 ซึ่งค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 30.62 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทแข็งค่าจากการอ่อนค่าลงของดอลลาร์สหรัฐ

อัตราดอกเบี้ยนโยบาย พบว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 0.50% เช่นเดียวกับธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจหลักและประเทศในภูมิภาคที่คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับเดิม ยกเว้นเพียงธนาคารกลางอินโดนีเซียที่ปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25% และธนาคารกลางรัสเซีย ที่ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย 0.25%

ส่วนอัตราเงินเฟ้อในไตรมาสแรกปีนี้ เฉลี่ยอยู่ที่ -0.50% โดยดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ปรับตัวลดลง ขณะที่หมวดที่มิใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงตามหมวดพลังงานเป็นสำคัญ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 พ.ค. 64)

Tags: , , ,
Back to Top