รมว.คลัง เสนอสภาพิจารณาพ.ร.ก.ซอฟท์โลน ช่วยเสริมสภาพคล่องจากผลกระทบโควิด

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง นำเสนอพ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2654 (พ.ร.ก.ซอฟท์โลน) ฉบับใหม่ วงเงินรวม 350,000 ล้านบาทว่า สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างและยาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่งผลให้ความเสี่ยงด้านเครดิตในระบบการเงินของประเทศปรับสูงขึ้นมาก ถึงแม้ภาครัฐได้ช่วยเหลือต่อเนื่อง แต่ผู้ประกอบธุรกิจจำนวนมากใช้เวลาฟื้นตัวและต้องการได้รับความช่วยเหลือเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถประกอบธุรกิจได้ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการทางการเงิน เพื่อสร้างสภาพคล่องเพิ่มเติมแก่ผู้ประกอบธุรกิจและแหล่งทุนในอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม รวมถึงมีมาตรการลดภาระหนี้ของผู้ประกอบธุรกิจ

สำหรับพ.ร.ก.ซอฟท์โลนฉบับใหม่ 350,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 2 มาตรการ ดังนี้

1. มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อ วงเงิน 250,000 ล้านบาท กำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สามารถปล่อยสินเชื่อให้สถาบันการเงินในอัตรา 0.01% ต่อปี ระยะเวลากู้ยืม 5 ปี และธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถขยายระยะเวลาสินเชื่อได้

ทั้งนี้ สถาบันการเงินต้องนำเงินไปปล่อยสินเชื่อกับผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงิน หรือมีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินที่จะให้กู้ยืมไม่เกิน 500 ล้านบาท ณ วันที่ 28 ก.พ.64 ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด

  • ในการให้กู้ยืมแก่ผู้ประกอบธุรกิจ สถาบันการเงินต้องคิดอัตราดอกเบี้ยในช่วง 2 ปีแรกของสัญญาไม่เกิน 2% ต่อปี และโดยเฉลี่ยตลอดอายุสัญญาตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด แต่ไม่เกิน 5%ต่อปี
  • สถาบันการเงินต้องยื่นคำขอต่อธนาคารแห่งประเทศไทยภายใน 2 ปี นับตั้งแต่พ.ร.ก.ฉบับนี้มีผลบังคับ แต่กรณีมีวงเงินเหลืออยู่และจำเป็นต้องช่วยเหลือต่อไป หรือจะยุติการดำเนินมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู ธนาคารแห่งประเทศไทยโดยความเห็นชอบของครม. จะขยายเวลายื่นคำขอกู้ยืมเงินดังกล่าวไปอีกไม่เกิน 1 ปี หรือจะยุติการดำเนินมาตรการนี้ก่อนกำหนดก็ได้
  • รัฐบาลรับภาระดอกเบี้ยแทนผู้ประกอบธุรกิจในช่วง 6 เดือนแรกของสัญญา เพื่อลดภาระของผู้ประกอบธุรกิจ
  • ให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) มีวัตถุประสงค์หน้าที่และอำนาจในการค้ำประกันสินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับสินเชื่อจากสถาบันการเงินตามพ.ร.ก.นี้ โดยให้บสย.รับภาระไม่เกิน 40 % ของวงเงินสินเชื่อของสถาบันการเงินแต่ละแห่ง โดยกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และบสย. มีหน้าที่ร่วมกันกำหนดหลักเกณฑ์การค้ำประกัน
    • ทั้งนี้ ให้บสย.เรียกเก็บค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อได้ไม่เกิน 1.75% ต่อปีของวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ และให้กระทรวงการคลังจ่ายเงินชดเชยค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อแทนผู้ประกอบธุรกิจไม่เกิน 3.5% ของวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ
  • ให้กระทรวงการคลังมีอำนาจช่วยเหลือ บสย. ในกรณีบสย.ขาดสภาพคล่องจากการดำเนินการตามพ.ร.ก.นี้

2. มาตรการ “พักทรัพย์ พักหนี้” ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจกู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงินในอัตรา 0.01% ต่อปี วงเงิน 100,000 ล้านบาท ระยะเวลากู้ยืม 5 ปี

  • สถาบันการเงินสามารถกู้เงินจากธนาคารแห่งประเทศไทยได้ ก็ต่อเมื่อสถาบันการเงินได้รับโอนทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันการชำระหนี้ของผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นลูกหนี้กับสถาบันการเงินแห่งนั้นก่อนวันที่ 1 มี.ค. 64 ในราคาที่สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจตกลงกัน และมีเงื่อนไขซื้อทรัพย์สินคืนได้ในระยะที่ตกลงกัน ซึ่งไม่เกิน 5 ปีนับตั้งแต่โอนทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน
  • ราคาทรัพย์สินที่สถาบันการเงินจะขายคืนให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ ต้องไม่สูงกว่า ราคาที่รับโอนไว้รวมกับค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา และกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจเช่าทรัพย์สินระหว่างมาตรการ ให้นำค่าเช่ามาหักออกจากราคาดังกล่าว
  • เมื่อสถาบันการเงินทำสัญญารับโอนทรัพย์ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดแล้ว สถาบันการเงินมีสิทธิกู้ยืมเงินจากธนาคารแห่งประเทศไทยได้ไม่เกินจำนวนเงินที่เป็นราคารับโอนทรัพย์สินตามมาตรการนี้ภายใน 2 ปีนับตั้งแต่พ.ร.ก.ใช้บังคับ

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 พ.ค. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top