พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และ โฆษกกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) กล่าวว่า ในปัจจุบันที่ยังอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 พบว่ามีการกระทำความผิดในลักษณะของการหลอกลวงให้ลงทุน ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง รูปแบบก็จะคล้ายๆเดิม เพียงแต่ในปัจจุบันกระแสของ Cryptocurrency กำลังเป็นที่นิยม จึงมีการล่อลวงให้ผู้เสียหายลงทุน Cryptocurrency
ดังเช่นกรณีที่เพิ่งเกิดขึ้น เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2564 ได้มีผู้เสียหายมาร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน สภ.เมืองจันทบุรี จ.จันทบุรี ว่าเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ผู้เสียหายได้พูดคุยกับหญิงชาวจีนคนหนึ่งผ่านแอปพลิเคชั่น Line จนสนิทสนมกัน ต่อมาหญิงดังกล่าวได้ชวนให้ลงทุน Cryptocurrency ด้วยการซื้อเหรียญสกุลหนึ่ง และโอนไปให้ผู้ต้องหายอดเงินรวม 1.9 ล้านบาท ผ่านเว็บไซต์ขายเหรียญ Crypto อีกสกุลหนึ่ง ซึ่งผู้ต้องหาอ้างว่าการลงทุนซื้อเหรียญดังกล่าวมีผลตอบแทนสูง จากนั้นเมื่อผู้เสียหายต้องการถอนเงิน ผู้ต้องหาก็บ่ายเบี่ยงมาตลอด ผู้เสียหายก็จึงตัดสินใจเข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวว่า การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายเป็นความผิดฐาน นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหาย ตาม พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องโดยดูจากพฤติการณ์แต่ละกรณี ซึ่งในฐานความผิดดังกล่าวเป็นความผิดต่อส่วนตัว ผู้เสียหายจะต้องมาร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดต่อไป
ดังนั้น จึงขอฝากเตือนภัยและประชาสัมพันธ์แนวทางการป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อดังนี้ ขอให้ตรวจสอบข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุนให้ดี ว่าการลงทุนสมเหตุสมผลหรือไม่ มีความน่าเชื่อถือมากเพียงใด หลีกเลี่ยงการลงทุนหรือข้อเสนอที่ฟังดูดีเกินกว่าจะเป็นไปได้ พึงระลึกไว้เสมอว่า “ไม่มีสิ่งใดได้มาโดยง่าย โดยเฉพาะเรื่องเงิน”
สำหรับแนวทางแนวทางการป้องกันเพื่อหลีกเลี่ยงเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อดังนี้
- ควรศึกษาทำความเข้าใจกับสิ่งที่จะนำเงินไปลงทุนด้วยทุกครั้ง โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ ควรมีความเข้าใจในระบบ ว่ามีกลไกการทำงานอย่างไร หรือหากมีความรู้ความเข้าใจควรจะเข้าไปศึกษาตัวโค้ด smart contract ของระบบเพิ่มเติมว่ายังมีจุดบกพร่องใดอยู่ และถ้าระบบนั้นได้รับการตรวจสอบ (audit) จากผู้ให้บริการ audit ควรไปศึกษาผลการ audit เพื่อลดความเสี่ยงในการลงทุน
- หากเลือกที่จะลงทุนในโลกออนไลน์แล้ว ควรติดตามข่าวสารของบริษัทที่ลงทุนอยู่เสมอ เพราะหากบริษัทใดมีความเสียหายเนื่องจากตัวบริษัทเอง หรือโดนhackระบบข้อมูล ก็อาจส่งผลกระทบต่อนักลงทุน
- ผู้ที่สนใจลงทุนใน Crypto ควรศึกษาข้อมูลบริษัทที่ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ เช่น www.sec.or.th ซึ่งเป็นเว็ปไซต์ของทาง ก.ล.ต. เป็นต้น และขอฝากประชาสัมพันธ์เพิ่มเติม ให้ผู้เสียหายรายอื่นๆ ในคดีลักษณะเดียวกันนี้ ไปร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนในท้องที่ที่เกิดเหตุ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายในทุกมิติต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 มิ.ย. 64)
Tags: Crypto, Cryptocurrency, ก.ล.ต., กฤษณะ พัฒนเจริญ, คริปโตเคอร์เรนซี, คริปโทเคอร์เรนซี, ฉ้อโกง, บช.สอท., พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, สินทรัพย์ดิจิทัล