เฟดชี้แรงกดดันต่อห่วงโซ่อุปทานอาจพ้นจุดสูงสุด คาดเริ่มบรรเทาหลังจากนี้

รายงานดัชนีฉบับใหม่จากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์กระบุว่า แรงกดดันต่อห่วงโซ่อุปทานที่สูงเป็นประวัติการณ์ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาขาดแคลนสินค้าและวัตถุดิบสำคัญตลอดจนภาวะเงินเฟ้อ อาจแตะจุดสูงสุดแล้ว

สำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่า ดัชนีแรงกดดันต่อห่วงโซ่อุปทานโลก (GSCPI) พุ่งขึ้นสูงในช่วงแรก ๆ ที่โควิด-19 แพร่ระบาด เนื่องจากจีนประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ หลังจากนั้นแรงกดดันได้ลดลงบางส่วนเมื่อภาคการผลิตกลับมาเดินหน้าได้อีกครั้ง ก่อนจะพุ่งขึ้นในช่วงฤดูหนาวปี 2563 ที่มียอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 สูงขึ้น

“เมื่อไม่นานมานี้ ดัชนีดังกล่าวบ่งชี้ว่าถึงแม้แรงกดดันต่อห่วงโซ่อุปทานจะยังคงสูงเป็นประวัติการณ์ แต่ก็ได้ผ่านพ้นจุดสูงสุดมาแล้ว และอาจเริ่มคงตัวจากนี้เป็นต้นไป” คณะผู้วิจัยเปิดเผย

ทั้งนี้ ดัชนีดังกล่าวจัดทำโดยใช้ข้อมูลตัวแปร 27 ปัจจัย ซึ่งรวมถึงอัตราค่าขนส่งทางเรือและทางอากาศระหว่างสหรัฐ, เอเชีย และยุโรป โดยคณะผู้วิจัยพบว่าอัตราค่าขนส่งทางเรือนั้นพุ่งสูงขึ้นอย่างมากหลังฟื้นตัวจากระดับต่ำสุดในช่วงเริ่มมีการแพร่ระบาด อย่างไรก็ตาม การเติบโตของค่าขนส่งนั้นเริ่มชะลอตัวลงแล้วในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

นอกจากนี้ คณะผู้วิจัยยังเปิดเผยว่า อัตราค่าขนส่งด้วยตู้คอนเทนเนอร์เพิ่มขึ้นในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัวครั้งล่าสุดมากกว่าช่วงหลังวิกฤตการเงินทั่วโลกเมื่อปี 2551 อย่างมีนัยสำคัญ แต่อัตราค่าขนส่งวัสดุ เช่น ถ่านหินและเหล็กกล้า ยังอยู่ในระดับเท่า ๆ กัน

คณะผู้วิจัยระบุว่าได้มีการปรับทวนข้อมูลตามการเปลี่ยนแปลงของอุปสงค์แล้ว แต่ก็ระบุว่า รายงานดัชนีนี้ไม่ใช่เกณฑ์วัดที่สมบูรณ์แบบ และน่าจะยังเป็นไปตามปัจจัยด้านอุปสงค์บางส่วน

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ม.ค. 65)

Tags: , ,
Back to Top