กทม. เดินหน้าเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ประชาชนทุกกลุ่มตามแนวทาง สธ.

นายสุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงการเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มก่อนวันที่ 1 พ.ย. 64 ว่า ขอให้ประชาชนไปรับการฉีดวัคซีนบูสเตอร์เข็ม 3 ในสถานพยาบาลของกทม. โดยได้ดำเนินการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ด้วยการลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข้ารับวัคซีนให้ครบทุกคน ขณะเดียวกันได้เร่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ทุกวัน

นอกจากนี้ ยังได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ทีม Bangkok CCRT ลงพื้นที่ให้บริการฉีดวัคซีนถึงบ้าน หรือชุมชน จัดรถบริการฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ (BKK Mobile Vaccination Unit : BMV) ให้บริการในจุดต่างๆ รวมถึงเพิ่มความสะดวกในการลงทะเบียนขอรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ผ่านแอปพลิเคชัน “QueQ” เพื่อเข้ารับวัคซีนที่ศูนย์ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง หรือโรงพยาบาลในสังกัดกทม. ทั้ง 11 แห่ง

ทั้งนี้ สำนักการแพทย์ ได้ดำเนินการตามแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนด โดยผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้า ช่วงเดือน ส.ค.-ต.ค. 64 จะพิจารณาฉีดเข็มกระตุ้นด้วยแอสตร้าเซนเนก้าเป็นหลัก กรณีผู้รับแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม ในช่วงเดือน ส.ค.-ต.ค. 64 จะพิจารณาฉีดด้วยไฟเซอร์ ส่วนกรณีผู้รับเชื้อตายครบ 2 เข็ม ตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไป จะฉีดกระตุ้นด้วยแอสตร้าเซนเนก้าเป็นหลัก

ในส่วนผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 และต้องการรับวัคซีนเข็มกระตุ้น สามารถใช้แอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มกระตุ้นได้ ในผู้ที่รับวัคซีนไม่ครบเกณฑ์ หรือครบเกณฑ์น้อยกว่า 2 สัปดาห์ก่อนการติดเชื้อ โดยบริหารจัดการภายใต้วัคซีนโควิด-19 ที่จัดสรรในพื้นที่กรุงเทพฯ

ส่วนแนวทางการให้บริการวัคซีนป้องกันโควิด-19 กลุ่มพิเศษ เช่น กลุ่มภูมิต้านทานไม่ดี รับประทานยากดภูมิ หรือกลุ่มปลูกถ่ายอวัยวะ ควรได้เข็ม 3 กระตุ้นห่างจากเข็ม 2 ในเวลา 1 เดือน โดยสามารถเข้ารับวัคซีนตามแนวทางที่โรงพยาบาลที่ตนเองรักษา ซึ่งโรงพยาบาลนั้นๆ จะมีข้อมูลอยู่ให้ติดต่อดำเนินการตามแนวทางได้ทันที

ในขณะเดียวกัน ยังเร่งสร้างภูมิคุ้มกันแก่บุคลากรในสังกัด ด้วยการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็มที่ 4 ให้บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคเรื้อรัง ตามมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ซึ่งในกรณีใช้สูตรวัคซีนเข็มที่ 1-2 เป็นซิโนแวคและซิโนแวค วัคซีนเข็มที่ 3 แอสตร้าเซนเนก้า ชนิดของวัคซีนเข็มที่ 4 คือ แอสตร้าเซนเนก้า ไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา ระยะห่างระหว่างเข็มที่ 3 และเข็มที่ 4 คือ 3 เดือนขึ้นไปหลังเข็มที่ 3

ทั้งนี้ หากใช้สูตรวัคซีนเข็มที่ 1-2 เป็นซิโนแวคและซิโนแวค วัคซีนเข็มที่ 3 ไฟเซอร์ ชนิดของวัคซีนเข็มที่ 4 คือ ไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา ระยะห่างระหว่างเข็มที่ 3 และเข็มที่ 4 คือ 3 เดือนขึ้นไปหลังเข็มที่ 3 ส่วนการฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็มกระตุ้นเข็มที่ 4 แนะนำให้ฉีดอัตรามาตรฐาน หากมีผู้ประสงค์จะฉีดครึ่งโดส หรือฉีดเข้าในผิวหนังให้เป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ และความสมัครใจของผู้รับวัคซีน

ด้านนายเกรียงไกร จงเจริญ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการเตรียมฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้เด็กนักเรียนอายุ 5-11 ปี โรงเรียนในสังกัดกทม. ว่า สำนักการศึกษากทม. ได้สำรวจนักเรียนอายุระหว่าง 5-11 ปี ในโรงเรียนสังกัดที่มีความประสงค์จะฉีดวัคซีนไฟเซอร์ โดยมีกำหนดส่งจำนวนนักเรียนกลุ่มดังกล่าวให้สำนักอนามัย กทม. ภายในวันที่ 11 ม.ค. 65 เพื่อจัดเตรียมวัคซีนและเตรียมความพร้อมการฉีดวัคซีน

ส่วนเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปในพื้นที่กรุงเทพฯ กทม. ได้จัดสถานที่ให้เข้ารับการฉีดวัคซีนแบบ walk in ที่อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง ภายใต้การดำเนินการของสำนักอนามัย กทม. และอยู่ในระหว่างวางแผนการจัดฉีดวัคซีนแบบ School-base ให้นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป ในโรงเรียนสังกัดกทม. โดยคาดว่าจะดำเนินการได้โดยเร็ว หากสถานการณ์เอื้ออำนวย

นอกจากนี้ ยังร่วมกับสำนักอนามัย กทม. จัดทำและเผยแพร่คลิปวิดีโอ และเอกสารข้อมูลความรู้เกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 เพื่อสร้างความเข้าใจให้เด็กนักเรียน และผู้ปกครอง เกี่ยวกับการเตรียมตัวก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 รวมถึงติดตามอาการหลังการฉีดวัคซีน ส่งให้ผู้ปกครองทั้งในไลน์กลุ่มของโรงเรียน เผยแพร่ผ่านการฉายวิดีโอ ตลอดจนแจกแผ่นปลิวที่โรงเรียน เป็นต้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ม.ค. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top