ทริสฯ จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ชุดใหม่ 4 พันลบ.ของ MTC ที่ BBB+ แนวโน้มคงที่

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด คงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บมจ. เมืองไทย แคปปิตอล (MTC) ที่ระดับ “BBB+” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 4 พันล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “BBB+” ด้วยเช่นกัน โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้ชำระคืนหนี้และขยายพอร์ตสินเชื่อ

อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะความเป็นผู้นำในธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน (Auto Title Loan) และฐานเงินทุนที่แข็งแกร่งของบริษัท อีกทั้งยังสะท้อนถึงกำไรที่ดี คุณภาพสินทรัพย์ที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพ ตลอดจนแหล่งเงินทุนที่หลากหลายและสภาพคล่องที่เพียงพอของบริษัทด้วย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็มีข้อจำกัดจากภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอและการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงในธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน

ทริสเรทติ้ง คาดว่าบริษัทจะยังคงดำรงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันต่อไปได้ในช่วงระยะเวลา 2-3 ปีข้างหน้า โดยทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะสามารถต่อยอดความชำนาญในธุรกิจดังกล่าวรวมทั้งขยายเครือข่ายสาขาและฐานลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 บริษัทมียอดสินเชื่อคงค้างที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องถึงระดับ 20% จากสิ้นปีก่อนหน้า โดยอยู่ที่จำนวน 8.5 หมื่นล้านบาท ทริสเรทติ้งคาดว่ายอดสินเชื่อใหม่ของบริษัทจะเติบโตที่ระดับ 10%-20% ต่อปีในช่วงระหว่างระยะเวลา 2-3 ปีข้างหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันซึ่งยังคงมีอุปสงค์ที่ดีจากผลของภาวะสภาพคล่องที่ตึงตัวอันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย ทริสเรทติ้งยังคาดหวังด้วยว่าการขยายสู่ธุรกิจใหม่คือการให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่จะช่วยสนับสนุนการเติบโตของยอดสินเชื่อและอัตราดอกเบี้ยรับของบริษัทได้ในระยะยาวท่ามกลางการแข่งขันที่ทวีความรุนแรง

ทริสเรทติ้ง คาดว่าคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทอาจอ่อนตัวลงเล็กน้อยจากผลของเศรษฐกิจที่ชะลอตัว อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งก็คาดว่าคุณภาพสินทรัพย์ที่อ่อนตัวลงนั้นจะอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้และจะมีผลกระทบต่อสถานะความเสี่ยงของบริษัทในขอบเขตที่จำกัด โดยนโยบายการให้สินเชื่อที่เข้มงวดและกระบวนการจัดเก็บหนี้ที่มีประสิทธิภาพน่าจะช่วยให้บริษัทสามารถควบคุมผลขาดทุนด้านเครดิตที่อาจเกิดขึ้นได้

ดังนั้น ทริสเรทติ้ง จึงเชื่อว่าบริษัทจะสามารถรักษาเป้าหมายที่จะคงอัตราส่วนสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตหรือสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio) ที่ระดับต่ำกว่า 2% เอาไว้ได้ โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 บริษัทมีอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 1.2% ซึ่งเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 1.1% ณ สิ้นปี 2563 บริษัทมีค่าใช้จ่ายผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นที่ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีแล้วอยู่ที่ระดับ 1.2% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 และอัตราส่วนสำรองสำหรับผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Coverage Ratio) ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 อยู่ที่ระดับ 160%

ทั้งนี้ ทริสเรทติ้ง คาดว่าค่าใช้จ่ายผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของบริษัทจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 1.1%-1.2% ของสินเชื่อถัวเฉลี่ยในระหว่างปี 2564-2566 และอัตราส่วนสำรองสำหรับผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของบริษัทน่าจะคงอยู่ที่ระดับประมาณ 160%-170% ในระยะเวลา 2-3 ปีข้างหน้า

ทริสเรทติ้ง คาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาคุณภาพกำไรต่อไปได้ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 อัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ย (EBT/ARWA Ratio) เมื่อปรับให้เป็นตัวเลขเต็มปีแล้วของบริษัทยังคงอยู่ที่ระดับ 7.1% โดยบริษัทมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 3.8 พันล้านบาทซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 โดยกำไรสุทธิที่ปรับเพิ่มขึ้นนั้นมีสาเหตุหลักมาจากรายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิที่เพิ่มสูงขึ้นและการควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่ดีของบริษัท

ทั้งนี้ ทริสเรทติ้ง คาดว่าบริษัทน่าจะยังคงรักษาความสามารถในการทำกำไรเอาไว้ได้ในอีก 2-3 ปีข้างหน้าด้วยการบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินและค่าใช้จ่ายดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพถึงแม้ว่าจะมีการแข่งขันที่รุนแรงในกลุ่มสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันที่ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนลดลงก็ตาม ทริสเรทติ้งเชื่อว่าการขยายสู่ธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่จะช่วยสนับสนุนความสามารถในการทำกำไรของบริษัทได้ โดยทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตราดอกเบี้ยรับของบริษัทจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 19% ในระยะเวลา 2-3 ปีข้างหน้าจากระดับปัจจุบันที่ 19.5%

สถานะแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องที่เพียงพอของบริษัทนั้นมีปัจจัยสนับสนุนมาจากการที่บริษัทมีความสามารถในการเข้าถึงตลาดตราสารหนี้และตลาดตราสารทุนรวมถึงมีวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินหลายแห่งซึ่งแสดงถึงการมีช่องทางในการระดมทุนที่หลากหลาย โดย ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 บริษัทมีวงเงินสินเชื่อพร้อมเบิกใช้จากสถาบันการเงินต่าง ๆ จำนวนทั้งสิ้น 3.95 พันล้านบาท

ทริสเรทติ้ง คาดว่าโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะคงความแข็งแกร่งต่อไปโดยประมาณการว่าบริษัทจะมีอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยง (RAC Ratio) อยู่ในช่วง 23.6%-24.8% ในระหว่างปี 2564-2566 ทั้งนี้ ความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่งและนโยบายการจ่ายเงินปันผลในระดับต่ำน่าจะช่วยสนับสนุนการสะสมฐานทุนของบริษัทได้ อีกทั้งทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะสามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขสำคัญทางการเงินที่ให้บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E Ratio) ไว้ไม่เกิน 4.5 เท่าได้ ซึ่ง ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 บริษัทมีอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงและอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ระดับ 23.7% และ 2.9 เท่าตามลำดับ

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะทางการตลาดในธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันเอาไว้ต่อไปได้ รวมทั้งบริษัทจะมีความสามารถในการทำกำไรที่ยังคงแข็งแกร่งในขณะที่ยังคงสามารถควบคุมคุณภาพสินเชื่อและรักษาอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้อีกด้วย

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากผลการประกอบการทางการเงินของบริษัทยังคงแข็งแกร่งโดยมีอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ยอยู่ในระดับสูงกว่า 8% และอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงอยู่ในระดับที่สูงกว่า 25% อย่างต่อเนื่อง ในทางกลับกัน อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทเสื่อมถอยลงอย่างมีนัยสำคัญหรือส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยลดลงมากกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ม.ค. 65)

Tags: , , ,
Back to Top